โคราชสานฝันรถไฟฟ้าสายสีเขียว 11.15 กม. แก้รถติด รับการขยายตัวของเมือง
เมื่อเวลา 09.30 วันที่ 27 ตุลาคม ที่โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อม นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายณัฐ นาคธรณินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นขอประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน- สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)
โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ผู้แทนส่วนราชการ ภาเอกชน และประชาชนร่วม 200 คน รับฟังการนำเสนอพื้นที่ดำเนินศึกษาโครงการ ฯ กำหนดจุดเริ่มต้นบริเวณตลาดเซฟวันและสิ้นสุดบริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทางประมาณ 11.15 กิโลเมตร ซึ่งมีสถานี 21 แห่ง และข้อเสนอทางเลือกเทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้า 3 รูปแบบ ดังนี้
1.ระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก ( steel wheel tram) ระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองใช้ระบบล้อเลื่อนบนรางเหล็ก 2.ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง ( tire tram) เทคโนโลยีของระบบขนส่งทางรางแบบเบาเกิดจากการผสมผสานระหว่างถนนและเทคโนโลยีของระบบขนส่งทางรางให้กลายมาเป็นรถรางมีทั้งแบบติดตั้งอุปกรณ์รางประคองตลอดกึ่งกลางทางวิ่ง และแบบใช้รางเสมือน ( trackless)
และ 3.ระบบรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ (electric but rapid transit) เทคโนโลยีรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนแทนการใช้พลังงานจากเครื่องยนต์โดยไม่ต้องมีราง มีปัจจัยในการพิจารณา 3 ด้านหลักประกอบด้วยด้านวิศวกรรมและจราจรด้านการลงทุนและผลตอบแทนและด้านสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาและเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากชาวโคราช ปรากฏระบบรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ เป็นระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาสายสีเขียว เนื่องจากมีระยะเวลาการก่อสร้างค่าลงทุนงานก่อสร้างและเครื่องจักรค่าบำรุงรักษาและการดำเนินการค่าเวนคืนที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างและมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการในระยะก่อสร้างน้อยกว่าระบบอื่น รวมทั้งการนำเสนอรูปแบบความเหมาะสมการจัดเก็บค่าโดยสารราคาเสนอเริ่มต้น 12 บาท และการคิดแบบอัตราเดียว 18 บาทตลอดสาย
นายณัฐ ฯ เปิดเผยว่า สภาพการจราจรในตัวเมืองนครราชสีมาแออัดคับคั่ง โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งมักเป็นปัญหาคล้ายๆ กันในเมืองใหญ่ๆ ที่มีจำนวนประชากรมาก และหนาแน่น แต่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพรองรับอย่างเพียงพอ การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่เมืองนครราชสีมาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รฟม.ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา รวมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญที่สุดตามผลการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทของ สนข.
เพื่อให้ผลการศึกษาและพัฒนาโครงการมีความครบถ้วนสมบูรณ์ และได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่าย จึงจำเป็นต้องจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวโคราช เพื่อรับฟังผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด จากนั้น รฟม. จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับไปประมวลผลข้อมูลและนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการโครงการฯ ให้สอดคล้องตามต้องการของประชาชน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและลดปัญหาด้านการจราจรให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้โคราชเป็นเมืองแห่งการเดินทางในอนาคต ประชาชน มีความสะดวกสบาย นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป