ชาวเมืองโคราชสุดทน ร้องผู้ว่า แก้ปัญหาถนนดวงจันทร์ คืนพื้นผิวจราจรช้า เดือดร้อนหนัก
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 พฤศจิกายน นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา พร้อมนายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน รองนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา นายทวีศักดิ์ พันธุ์วิเศษศักดิ์ ปลัด ทน.นครราชสีมา นางธนภัค เกิดโพธิ์คา ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา (กฟภ.นม.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโดยคืนพื้นผิวจราจรถนนในเขต ทน.นครราชสีมา เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการ “โคราช มหานครไร้สาย” พบปัญหา อุปสรรคทำให้การคืนพื้นผิวจราจรล่าช้ากว่ากำหนด ส่วนหนึ่งเกิดจากการบูรณาการและความพร้อมของแต่ละหน่วยงานรวมทั้งผู้รับจ้าง เช่น ถ.สุรนารี หลังนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินรวมทั้งลาดยางแอสฟัลท์หรือยางมะตอยเสร็จสิ้น แต่ กฟภ.นม.ยังไม่หักเสาหรือถอนเสาไฟฟ้าออก สี่แยกวัดม่วง ทุกอย่างดำเนินการแล้วแต่สายไฟจราจรยังไม่นำลงดิน สี่แยกไนท์สวนหมาก ความสูงของฝาท่อสื่อสารและท่อสายไฟฟ้าไม่เท่ากัน ขูดผิวจราจรทิ้งไว้นานเกิดกำหนด เปิดผิวถนนและนำสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงดินแล้วแต่รอการจัดสรรงบจัดซื้อจัดจ้างการส่งมอบคืนพื้นจราจร บางเส้นยังไม่ได้ตีเส้นจราจร ฯ ทำให้พื้นผิวถนนไม่ราบเรียบเป็นหลุมเป็นบ่อ ขรุขระ ฝุ่นละอองจากการขูดผิวจราจรทิ้งไว้ บางจุดมีสิ่งกีดขวางวางไว้โดยไม่มีป้ายเตือนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
นายสยาม ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยและร้านค้ารวมทั้งผู้ใช้เส้นทางสัญจรได้รับผลกระทบจากก่อสร้างล่าช้า จึงได้ประสานความร่วมมือให้แต่ละหน่วยงาน คืบหน้าอยู่ระหว่างเร่งรัดให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งทุกขั้นตอนยังอยู่ในสัญญา ระเบียบข้อบังคับ ขณะนี้ได้ดำเนินการคืนพื้นผิวถนนเสร็จสมบูรณ์แล้วกว่า 16 กิโลเมตร เฉลี่ยรุดหน้าไปกว่า 40 % การดำเนินการระยะต่อไปอยู่ระหว่างหาผู้รับจ้างและแผนซ่อมแซมให้ระดับฝาปิดท่อสารสื่อสารให้เท่ากับผิวจราจร ซ่อมแซมผิวทางที่ทรุดตัวและเป็นโพรงจากการก่อสร้างนำระบบสายสื่อสารลงใต้ดิน รวมทั้งแผนการย้ายตู้ไฟขวางฟุตบาททางเท้ารวมทั้งการประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจ คาดจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงต้นปี 2566
นายชัยชนะ ประพฤติพงษ์ นายกสมาคมค้าทองคำ จ.นครราชสีมา ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการค้าริมถนนจอมพล ซึ่งเป็นถนนหัวมังกรโคราชถือเป็นย่านการค้าที่เก่าแก่ของเมืองโคราช กล่าวว่า ขอขอบคุณกับโครงการดีๆ ที่นำมาสู้ชาวโคราช แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ค้าห้างทองคำรูปพรรณ ร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ร้านอาหาร ฯ มาจากหลังขูดผิวจราจรทิ้งไว้โดยคืนพื้นถนนล่าช้ามาก เกิดฝุ่นละออง ปัญหาการสัญจรไม่สะดวก ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข ปัญหาด้วย
ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 อนุมัติและเห็นชอบให้ กฟภ. ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงระบบไฟฟ้าติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่โครงการ เพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าลดปัญหาและอุปสรรคด้านการปฏิบัติการบำรุงรักษาและความปลอดภัย พื้นที่ดำเนินการ 4 เมือง ทน.เชียงใหม่ ทน.นครราชสีมา เมืองพัทยา ทน.หาดใหญ่ และเมืองพัทยา วงเงินลงทุน 11,668.56 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ ทน.นครราชสีมา ใช้วงเงินลงทุน 2,433 ล้านบาท วิธีการขุดเปิดผิวจราจรเพื่อนำสายไฟฟ้าลงสู่ดินด้วยการวางท่อร้อยสายเป็นแบบดันท่อลอด (HDD) ทั้งด้านระบบไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำ เพื่อลดผลกระทบการขุดเปิดผิวจราจรในพื้นที่ โดยมีแนวท่อร้อยสายระบบ แรงต่ำอยู่ด้านริมทางเดินเท้าทั้งสองฝั่งถนน เพื่อจ่ายไฟฟ้าผ่านบ่อพักสายไฟฟ้าสายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า แนวท่อร้อยสายระบบแรงสูงอยู่บริเวณกลางถนน
การก่อสร้างบ่อพักสายใช้วิธีการหล่อสำเร็จจากนอกพื้นที่แล้วนำมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ ก่อสร้าง การดำเนินการต้องขุดเปิดผิวจราจรและปิดการจราจรบางส่วนและดำเนินการ ตั้งแต่เวลา 21.00น. ถึง 04.00 น. ของทุกวัน หลังสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงสู่ใต้ดินระบบจำหน่ายจะมีความมั่นคง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ สามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเมือง ช่วยลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัย รวมทั้งอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่นรถยนต์ชนเสาไฟฟ้า รวมทั้งเสริมทัศนียภาพสวยงามบ้านเมืองสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตานักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ