คักขนาด!!! เพื่อไทย, ก้าวไกลโคราช ดักคอรูปแบบเขตเลือกตั้ง 16 เขต พิสดาร จี้ กกต. ไม่เข้าหลักเกณฑ์

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 บรรยากาศวันสุดท้ายในการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาการจัดแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส 16 เขต จ.นครราชสีมา ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (สนง.กกต.จ.) นครราชสีมา นายวีรวิทย์ เชื้อจันอัด หรือครูโอ๊ต ผู้ประสานงานกลุ่มคนเสื้อแดงโคราชในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส เขต จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางมายื่นเอกสารซึ่งเป็นรายชื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนพื้นที่ อ.คง อ.ขามสะแกแสง อ.ชุมพวง ฯ กว่า 500 คน สนับสนุนการแบ่งเขตรูปแบบที่ 2 เพื่อประกอบการพิจารณาตามกระบวนการ ต่อมาคณะทำงานพรรคก้าวไกลโคราชพร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส เขต ประกอบด้วยนายฉัตร สุภัทรวณิชย์, นายศุทธสิทธิ์ พจน์ฐศักดิ์, นายชรินทร์ ทำดีและนายวุฒิศักดิ์ พิมพ์พิสาร ได้มายื่นเอกสารสนับสนุนการแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 โดยมี พ.ต.ท ระพีพงษ์ จิรพัฒนาลักษณ์ ผู้อำนวยการ สนง.กกต.จ.นครราชสีมา ได้มารับมอบและชี้แจงทำความเข้าใจ

นายวีรวิทย์ เปิดเผยว่า รูปแบบที่ 2 มีความเหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุดโดยเฉพาะการเดินทางไปมาหาสู่ค่อนข้างสะดวก ส่วนนายฉัตร กล่าวว่า กก.โคราช สนับสนุนการแบ่งเขตรูปแบบที่ 1 ซึ่งมีความเหมาะสมและลงตัวด้านลักษณะพื้นที่ภูมิศาสตร์มีความต่อเนื่องและจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน เราต้องการให้แบ่งเขตเลือกตั้งมีความชัดเจนโดยเร็วเพื่อลงพื้นที่หาเสียงได้อย่างถูกต้อง

นายโกศล ปัทมะ ส.ส เขต 5 พท.ในฐานะผู้ประสานงาน ส.ส โคราช กล่าวว่า ทั้ง 3 รูปแบบเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ จึงมีความชอบธรรมการกำหนดแบ่งเขตเลือกตั้ง ตนเชื่อว่าทุกพรรคน่าจะเห็นด้วย แต่มีบางพรรคยื่นรูปแบบที่ 4 ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น เป็นเพียงกลุ่มบุคคลต้องการเขตเลือกตั้งเอื้อประโยชน์สร้างข้อได้เปรียบทางการเมือง พท.ได้ปรึกษาหารือทั้ง 3 รูปแบบ พท.สามารถต่อสู้ได้ทุกสนาม ส่วนตนชอบรูปแบบที่ 2 และ 3
ด้าน พ.ต.ท ระพีพงษ์ ผอ.สนง.กกต.จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ล่าสุดมีพรรคการเมืองและประชาชนให้ความสนใจ รวมรายชื่อกว่า 6,000 คน สนับสนุนการแบ่งเขตทั้ง 3 รูปแบบ ไทมไลน์วันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2566 สรุปความเห็นและข้อเสนอแนะให้ กกต.กลาง ประชุมพิจารณารูปแบบเขตเลือกตั้งแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนนี้และถือเป็นข้อยุติทันที


ฝากถึงว่าที่ผู้สมัครขณะนี้อยู่ในการหาเสียงตามกรอบ 180 วัน จะมีการยุบสภาหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต ถ้าเกิดขึ้นกฎหมายการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่งช่วงนี้ขอให้ดำเนินการหาเสียงตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ รูปแบบที่ 1 ข้อดี มีดังนี้
1. พื้นที่ของเขตเลือกตั้งติดต่อกันส่วนใหญ่เคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
2. มีความสะดวกในการคมนาคม
3. ผลต่างจำนวนราษฎรไม่เกินร้อยละ 10
4. มีผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งมากที่สุดร้อยละ 3.45 และน้อยที่สุดร้อยละ -2.49
5. สรุปผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งเท่ากับ 5.94
ข้อเสีย แบ่งพื้นที่จำนวน 7 อำเภอ
รูปแบบที่ 2 ข้อดี มีดังนี้
1. พื้นที่ของเขตเลือกตั้งติดต่อกันส่วนใหญ่เคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
2. มีความสะดวกในการคมนาคม
3. คล้ายรูปแบบที่ 1 แต่ปรับเขต 5, 10, 16
4. ผลต่างจำนวนราษฎรไม่เกินร้อยละ 10
5. ผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งมากที่สุดร้อยละ 3.45 และน้อยที่สุดร้อยละ -2.49
6. สรุปผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งเท่ากับ 5.94
ข้อเสีย แบ่งพื้นที่จำนวน 8 อำเภอ
และรูปแบบที่ 3 ข้อดี มีดังนี้
1. พื้นที่ของเขตเลือกตั้งติดต่อกันส่วนใหญ่เคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
2. มีความสะดวกในการคมนาคม
3. ผลต่างจำนวนราษฎรไม่เกินร้อยละ 10
4. มีผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งมากที่สุดร้อยละ 4.14 และน้อยที่สุดร้อยละ -2.28
5. สรุปผลต่างระหว่างเขตเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากับ 6.42
ข้อเสีย แบ่งพื้นที่จำนวน 8 อำเภอ
เกษม ชนาธินาถ รายงาน/นครราชสีมา
แสดงความคิดเห็น