กลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุข มข. จัดประชุม รับมือ PM 2.5

กลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดประชุมการนำเสนอแนวทางและรูปแบบการรับมือและการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เวลา 08.30 – 13.30 น. ณ ห้องนภาลัย โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเปิดงานประชุมการนำเสนอแนวทางและรูปแบบการรับมือและการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และแถลงข่าว การขับเคลื่อนการเฝ้าระวัง การป้องกันและการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของจังหวัดขอนแก่น สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี อาจารย์ ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก หัวหน้าชุดโครงการการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวต้อนรับ และศาสตราจารย์ ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง  หัวหน้ากลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม

โดยมีผู้เข้าร่วมจากเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบลในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทีมนักวิจัยโครงการ สื่อมวลชน
บุคลากรของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้แก่
-สำนักงานสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษที่ 10
-สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น
-สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น
-สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (สสจ.ขอนแก่น)
-สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 6 (สคร. 6)
-โรงพยาบาลขอนแก่น ศูนย์อนามัยที่ 7
-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน และสถานศึกษา
ตัวแทนนำเสนอแนวทางและรูปแบบนวัตกรรมจากชุมชนพื้นที่ต้นแบบ 5 พื้นที่ในจังหวัด ได้แก่
-เทศบาลตำบลบ้านค้อ นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค้อ
-ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง นายปรีชา หงอกสิมมา
-โรงเรียนน้ำพองศึกษา อาจารย์ณรงค์ศิลป์ ทองโคตร 
-เทศบาลนครขอนแก่น นายทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุข
-เทศบาลเมืองศิลา นางสว่างใจ ธนะนาวานุกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

การประชุมช่วงแรกเป็นการนำเสนอแนวทางและรูปแบบนวัตกรรม การรับมือและการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของพื้นที่ต้นแบบ 5 กรณีศึกษา ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรพรรณ สกุลคู 

ผู้นำเสนอแนวทางและนวัตกรรมท่านแรก จากเทศบาลนครขอนแก่น นายทัศนัย ประจวบมอญ กล่าวว่าปัญหาฝุ่นควันที่พบในตัวเมืองขอนแก่นส่วนใหญ่มาจากรถยนต์เป็นหลัก รองลงมาเป็นปัญหาจากการเผาในที่โล่ง ตามมาด้วยฝุ่นควันจากโรงงานและการก่อสร้างตามลำดับ ทาง ทน.มีมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นโดยการจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยร่วมมือกับขนส่งเพื่อตรวจวัดฝุ่นจากรถยนต์ สำหรับด้านที่ร่วมมือกับมข.เพื่อปรับตัวและรับมือกกับปัญหาโลกร้อนและปัญหาฝุ่นนั้น ทางทน.จะอบรมให้ความรู้กับประชาชนและสร้างคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวที่มีความรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาของฝุ่นละอองต่อสุขภาพ ส่วนแนวทางในอนาคต ทางทน.เน้นการปลูกต้นไม้ในเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และนำขยะอินทรีย์มาแปรรูปเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ เพื่อลดการเผาซึ่งเป็นต้นตอของฝุ่นละออง พัฒนาหลักสูตรในโรงเรียนเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว ส่วนสุดท้ายคือการติดตั้งมอนิเตอร์สำหรับตรวจวัดฝุ่น เพื่อการแจ้งเตือนให้กับกลุ่มเปราะบางได้ทันท่วงที

นางสว่างใจ ธนะนาวานุกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จากเทศบาลเมืองศิลา เกริ่นว่าในพื้นที่เทสบาลเมืองศิลา นั้นส่วนใหญ่เป็นชุมชนเกษตรกร ซึ่งมีการเผาในพื้นที่โล่งเป็นหลัก จากรายงานล่าสุด มีการเผาไหม้สูงถึง 66 ครั้ง ทางเมืองศิลาจึงมีแนวทางในการลดการเผาด้วยการจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ตัวจุลินทรีย์หรือพด.เป็นสูตรจากกรมพัฒนาที่ดิน ในอนาคตหวังต่อยอดการใช้จุลินทรีย์ในพื้นที่ 1000 ไร่จาก 9000 ไร่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอินทรีย์จากการเกษตร ผลักดันให้เมืองศิลาเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์และทำการเกษตรผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งปัญหาน้ำเสีย ขยะอินทรีย์และปัญหาฝุ่นควัน

 

อาจารย์ณรงค์ศิลป์ ทองโคตร ตัวแทนจากโรงเรียนน้ำพองศึกษา พูดถึงปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่น้ำพองส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และการเผาไร่อ้อยและนาข้าวหลังช่วงเก็บเกี่ยว ทางโรงงานเองมีวิธีการรับมือกับเกษตรที่เผาไร่อ้อยโดยการรับซื้ออ้อยสดในราคาที่สูงกว่าอ้อยที่ผ่านการเผาแต่ทางเกษตรกรยังไม่มีความตระหนักในเรื่องนี้ ทางโรงเรียนจึงมีโครงการ NPS Junior นักสำรวจน้อยสู้ฝุ่น PM 2.5 โดยเป็นการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่น PM 2.5 แก่นักเรียนในโครงการ เพื่อให้นักเรียนนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพูดคุยกับผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ

ธนาคารธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกง ส่งสมาชิก นายปรีชา หงอกสิมมา มาพูดถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาของทางธนาคารต้นไม้ โดยทางธนาคารดำเนินงานมานานก่อนที่ปัญหาฝุ่นจะเป็นที่พูดถึง ทางพื้นที่ตำบลบ้านกงไม่มีปัญหาฝุ่นในพื้นที่ ทั้งจากการตรวจวัดเทียบและการตรวจวัดด้วยตนเอง โดยต้นไม้ที่ใช้เป็นหลักต้องเป็นไม้ไม่ผลัดใบ เนื่องจากในฤดูที่มีการเผาเป็นส่วนมากคือช่วงฤดูหนาวที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ของทางภาคอิสานจะผลัดใบ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการช่วยลดฝุ่น ส่วนโครงการชุมชนคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อนและป้องกันฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืนนั่น เป็นเหมือนตัวเร่งให้คนตระหนักรู้ในการปลูกต้นไม้เพื่อลดฝุ่น โดยหวังทำเคสตัวอย่างให้สำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนได้รับรู้

ตัวแทนคนสุดท้าย นายจักรพงศ์ เพ็ชรแสน จากเทศบาลตำบลบ้านค้อ ใช้แนวทางธรรมนูญสิ่งแวดล้อมด้านคุณภาพอากาศ เนื่องด้วยตัวตำบลบ้านค้อเป็นเขตชานเมือง ที่ต้องรองรับการพัฒนาและการขยายตัวของเมืองขอนแก่น จึงทำให้พบกับปัญหาฝุ่นละอองจากความถี่ในการขนส่งดิน ซึ่งมีรถวิ่งผ่านเขตชุมชนในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 200 เที่ยวต่อวันและรถทุกชนิดไม่ต่ำกว่า 10,000 เที่ยว นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเผาขยะและการเผาทางการเกษตร ทางเทศบาลตำบลบ้านค้อจึงเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจในท้องถิ่น โดยใช้ธรรมนูญท้องถิ่นในการควบคุมต้นตอของฝุ่น ว่าด้วยเรื่องการเผาในพื้นที่และข้อตกลงเกี่ยวกับรถบรรทุกขนดิน เพื่อเป็นหลักปฏิบัติให้มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน

นอกจากการนำเสนอแนวทางและรูปแบบนวัตกรรม การรับมือและการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 บนเวทีแล้ว ยังมีการนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการให้ได้รับชมอีกด้วย

แสดงความคิดเห็น