หน่วยงานเกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนาแนวทางป้องกันและแก้ไข PM 2.5

บุคลากรของหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนา แนวทางการดำเนินงานเรื่องการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5

ณ ห้องนภาลัย โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล วันที่ 11 กันยายน 2566 เวลา 08.30 – 13.30 น. นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น นางสาวณัฐมน ปวรปรัชมงคล หัวหน้าฝ่ายแผนและอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น นายวิรุฬห์ ฤกษ์ธนะขจร ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 นางสาววาทินี จันทร์เจริญ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 7 จังหวัดขอนแก่น นางสาวนิศากร ดอนกระสินธุ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เข้าร่วมเสวนาแนวทางการดำเนินงานเรื่องการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ในงานประชุมการนำเสนอแนวทางและรูปแบบการรับมือและการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ กล่าวถึงตัวเลขความรุนแรงของปัญหา ในปีนี้อาจรุนแรงกว่าเดิมจากการจัดค่ามาตรฐานใหม่ของฝุ่น PM 2.5 และการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่สำเร็จลุล่วงด้วยดีทั้งหมด จึงอยากทราบถึงความความสำเร็จ ความท้าทาย นวัตกรรมและการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆที่มาในวันนี้

บุคลากรจาก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการ กล่าวว่าทางสำนักงานเป็นตัวแทนในการขับเคลื่อนแผนงานและมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการตรวจวัดโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และผลักดันการทำให้เกษตรกรเห็นว่าการเผาเป็นการทำลายมูลค่าของขยะอินทรีย์ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ร่วมไปถึงการหาเครื่องจักรทดแทนแรงงานคนในการเก็บเกี่ยวอ้อยโดยไม่ต้องทำการเผา ซึ่งในอนาคตวางแผนทำยกระดับแผนการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ไปให้ถึงเกษตรกรให้ได้

นายวิรุฬห์ ฤกษ์ธนะขจร ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 กล่าวว่า ทางกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ปรับค่ามาตรฐานใหม่ของฝุ่นจากเดิมไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เป็นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐานในประเทศเราไม่สามารถนำไปเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้เนื่องจากบริบทในการพัฒนาที่ต่างกัน ค่ามาตรฐานใหม่นี้ทำให้เห็นว่าเราประสบปัญหาฝุ่นมากขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งภารกิจหลักของสำนักงานในตอนนี้คือการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ จากการตรวจวัดทำให้พบว่า ร้อยละ 20 ของรถยนต์ที่ทำการตรวจนั้นเกินค่ามาตรฐาน และในอนาคตเราวางแผนจะตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อลดฝุ่นข้ามแดนให้สำเร็จ

ทางศูนย์อนามัยที่ 7 จังหวัดขอนแก่น หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม นางสาววาทินี จันทร์เจริญ อธิบายถึงมาตรการ 3 มาตรการที่ทางศูนย์ได้ทำคือ 1.การป้องกันและผลกระทบต่อสุขภาพ 2.การจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุข 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยทางศูนย์เน้นไปที่มาตรการที่ 1 เป็นหลัก เนื่องจากกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นเป็นอันดับต้นๆ จึงต้องผลักดันให้มีห้องปลอดฝุ่นภายในพื้นที่การดูแลของทางศูนย์ จากการผลักดันทำให้ได้ห้องปลอดฝุ่นมาจำนวนหนึ่งจากศูนย์เด็กเล็ก และโรงพยาบาล นอกจากนี้ทางศูนย์ยังมีการแจ้งเตือนระดับฝุ่นตามความรุนแรงด้วย หากระดับฝุ่นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะทำการแจ้งเตือน 2 เวลาคือช่วงเช้า และช่วงบ่าย แต่ถ้าระดับฝุ่นอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ จะทำการแจ้งเตือน 3 เวลาคือ ช่วงเช้า ช่วงเที่ยง และช่วงบ่าย ในอนาคตทางศุนย์หวังว่าจะสามารถผลักดันให้มีห้องปลอดฝุ่นในทุกศุนย์อนามัย โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก

ด้านนางสาวนิศากร ดอนกระสินธุ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการทำฝายในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับต้นไม้ซึ่งเป็นตัวช่วยลดฝุ่น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยใช้พืชเศรษฐกิจ เน้นไปที่ทางโรงเรียนและชุมชนต้นแบบก่อน และยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะโดยการสนับสนุนงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่ต้องการ โดยในอนาคตหวังว่าจะสามารถสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงภัยสุขภาพของฝุ่นแก่ประชาชนโดยผ่านทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

หน่วยงานสุดท้าย คือสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น ส่ง นางสาวณัฐมน ปวรปรัชมงคล หัวหน้าฝ่ายแผนและอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขึ้นพูดเกี่ยวกับการทำงานของทางสำนักงานว่าตอนนี้เน้นการบูรณาการในภาพรวม ขับเคลื่อนแผนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นและยังมีสายด่วนสาธารณภัย 1784 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เมื่อทางเราได้รับแจ้งเหตุแล้วจะส่งเรื่องต่อไปยัง อปท.เพื่อทำการระงับเหตุต่อไป ในอนาคตกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะสร้างแนวทางและเครือข่ายเพื่อประสานงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศาสตราจารย์ ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง ได้พูดฝากทั้งภาคราชการในการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนไม่ให้อาศัยแต่เพียงระเบียบวิธีการในการดำเนินงานและภาคประชาสังคมในการให้มีส่วนร่วมและความรับผิดชอบมากขึ้น ก่อนปิดการประชุมพร้อมขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

แสดงความคิดเห็น