กรณีที่มีชายคนหนึ่งขับไล่แพทย์หญิงพรทิพย์ออกจากร้านอาหารในไอซ์แลนด์ ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่งต่อบุคคลสาธารณะซึ่งเป็น สว. ซึ่งประชาชนทั่วไปมีสิทธิแสดงออกทางการเมืองทั้งในแง่ที่ชอบคือให้การสนับสนุน หรือไม่เห็นชอบคือไม่สนับสนุนกับบุคคลสาธารณะเช่นนี้ได้
แต่การที่เขาแสดงออกมาด้วยความโกรธแค้น เนื่องจากเขาคงไม่มีทางออกอย่างอื่นในการระบายความอัดอั้นตันใจ หรือไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับบรรดา สว.ได้อย่างไร เพื่อให้รู้ถึงความต้องการของเขา เมื่อไม่มีทางออกเขาจึงได้แสดงออกมาเช่นนั้น
สาเหตุที่มาของเรื่อง ก็คงมาจากการที่ บรรดา สว.ส่วนใหญ่ไม่ยอมยกมือโหวตให้กับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง หรือได้เสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล สว.จึงถูกกล่าวหาจากประชาชนว่า เป็นทาสรับใช้เผด็จการ เป็นเรื่องการต่างตอบแทนให้กับผู้ที่แต่งตั้งตนขึ้นมา ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองอย่างที่กล่าวอ้างกัน สว.ยังถูกข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวการขัดขวางกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไทย สว.ส่วนใหญ่จึงตกเป็นจำเลยและเป็นผู้ร้ายของสังคม รวมทั้งมีภาพลักษณ์ในทางลบในสายตาประชาชนส่วนใหญ่ แต่ไม่ทราบว่า สว.ส่วนใหญ่จะรู้ตัวหรือไม่
ประเด็นจึงไม่ใช่เป็นปัญหาการขัดแย้งของคนในชาติ หรือเป็นเรื่องการคลั่งการเมืองมากเกินไปดังที่ สว.หลายคนได้ออกมาพูดและพยายามบิดเบือน แต่เป็นประเด็นในเรื่องที่ประชาชนสงสัยและไม่ยอมรับพฤติกรรมของ สว.ว่า ทำไมจึงไม่ยอมทำตามฉันทามติของประชาชนที่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย คือสว.ต้องฟังเสียงความต้องการของประชาชน ขณะที่ สว.กินเงินเดือนแสนแพงที่มาจากภาษีของประชาชน และสิ่งนี้เองที่ทำให้คนโกรธแค้นเป็นอย่างมาก
ที่จริงแล้วก็มีกรณีในประเทศประชาธิปไตย หากนักการเมืองทำอะไรที่ฝืนกระแสความต้องการของประชาชน พวกเขาเคยโดนจับใส่ถัง ถูกโดนโห่ โดนไล่ ถูกปาด้วยไข่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะนักการเมืองเหล่านี้อาสาเข้ามาเอง และพวกเขาอยู่ได้ก็เพราะการอาศัยภาษีราษฎรเป็นเงินเดือน จึงต้องสามารถถูกตรวจสอบหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และต้องพร้อมที่จะยอมรับสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น หากพวกเขาไม่ฟังเสียงเรียกร้องถึงความต้องการของประชาชน
ความจริงแล้ว การมีประชาชนที่สนใจการเมืองและมีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดี ในทางวิชาการเรียกว่ามี “ความเป็นพลเมือง” และในวิชาการสาขาสังคมวิทยาการเมืองก็พยายามสนับสนุนให้เกิดกลุ่มคนจำพวกนี้ให้มากขึ้น นั่นหมายความว่า บ้านเมืองจะมีคนคอยช่วยดูแล ดีกว่ามีประชาชนที่เฉยเมยทางการเมือง ประการสำคัญคือทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ เนื่องจากการพัฒนาประชาธิปไตยให้ได้นั้น ต้องทำให้ประชาชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองด้วย หรือที่เรียกว่า “inclusive politics”
การที่คนออกมาไล่เขาพูดว่า “เขารับไม่ได้กับคนแบบนี้ในสิ่งที่ทำกับประเทศไทย” แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เขายังมีความรักในมาตุภูมิของตนเอง และเขามีความรู้สึกหวงแหนแผ่นดินเกิดของเขา แม้ว่าเขาจะอยู่ห่างไกลในต่างประเทศก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ปัญหาคือ สว.ทั้งหลายเข้าใจกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยดีพอหรือไม่ เข้าใจหรือไม่ว่าประชาธิปไตยอำนาจอยู่ที่ประชาชน สำหรับ สว.ทั้งหลายที่ยังยึดติดอยู่กับกรอบความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่ฝังติดอยู่ในหัว ควรพร้อมที่จะเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆของประชาชนโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ อย่ามัวแต่เกรงใจผู้ที่แต่งตั้งตนขึ้นมา จนทำให้หลักการประชาธิปไตยของไทยเดินหน้าไปไม่ได้