สมัชชาการศึกษาเพื่อความเสมอภาคจังหวัดขอนแก่น ผนึก 65 เครือข่ายสร้างเมืองแห่งโอกาส

สมัชชาการศึกษาเพื่อความเสมอภาคจังหวัดขอนแก่น ผนึก 65  เครือข่ายกระบวนการมีส่วนร่วม ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและอาชีพ (City of Hope)

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โครงการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จังหวัดขอนแก่น Area Based Education (ABE) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดให้มีการประชุม สมัชชาการศึกษาเพื่อความเสมอภาคจังหวัดขอนแก่น ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและอาชีพ (City of Hope)ครั้งที่ 1 ขึ้น “ภายใต้แนวคิด สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาควิชาการ และ ภาคประชาชน (ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน) ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด เทศบาลนครขอนแก่น สมาคมไทสิขา ขอนแก่นพัฒนาเมือง และหน่วยงานอื่น ๆ  รวม 65 หน่วยงาน เพื่อหารือและพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ระเบียบวาระ คือ 1. การพัฒนาเด็กปฐมวัยเติบโตอย่างมีคุณภาพ 2. การสร้างโอกาสการเรียนและการมีงานของเด็กนอกระบบ 3. การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อป้องกันเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา และ 4. ขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เมืองแห่งโอกาส เพื่อหาฉันทนามติและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความเสมอภาคและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของจังหวัดขอนแก่น

นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวต้อนรับตัวแทนจาก 65 หน่วยงานภาคีเครือข่าย ที่มาร่วมกันระดมความคิดเพื่อพัฒนาการศึกษาให้เด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ยังได้ชูนโยบายส่วนหนึ่งจากนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ฝากถึงหน่วยงานด้านการศึกษาขอนแก่น ว่าเด็กต้องเรียนดี มีความสุข รวมถึงภาครัฐต้องสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถไม่ขังคนเก่งไว้ในห้องเรียน และระหว่างเรียนมีงานทำเป็นการศึกษาเพื่ออาชีพ เป็นต้น

นายพันธ์เทพ กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมสมัชชาในครั้งนี้ นับว่าเป็นทิศทางที่ดีที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาและบูรณาการงานร่วมกันเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นร่วมกัน

รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสมัชชาจังหวัดขอนแก่นกล่าวเปิดประชุมว่า กระบวนการสมัชชาที่นำมาใช้ครั้งนี้เป็นกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สู่การสร้างการความเป็นเจ้าของร่วมกันตั้งแต่ร่วมสะท้อนปัญหา ร่วมกำหนดเป้าหมายและทิศทาง ร่วมพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ตลอดจนสานพลังขับเคลื่อนหนุนเสริมซึ่งกันและกัน

รศ.ดร.กิตติชัย ยังกล่าวถึงกรอบแนวคิดสมัชชาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามี 4 ประการ คือ 1. แนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สานพลัง 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการและวิชาชีพ ภาคเอกชนและประชาสังคม รวมถึงแนวคิดปวงชนเพื่อการศึกษา (Education for All) 2. พัฒนาและยกระดับเวทีสานเสวนาขอนแก่น สู่การจัดทำสมัชชาซึ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3. มุ่งเน้นการพัฒนา และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของพื้นที่ไปพร้อมกัน โดยมีหน่วยงานหลักเป็นเจ้าของประเด็นเป็นแกนหลักขับเคลื่อน และ 4. กระบวนการสมัชชาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจังผวัดขอนแก่นทำหน้าที่หนุนเสริมสมัชชาการศึกษา ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของภาครัฐเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565

ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ การขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่สามารถสร้างพลังในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นโอกาสของทั้งจังหวัดรวมถึงเด็กและเยาวชน นำแนวทาง Learning City ภายใต้แนวคิด ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและอาชีพ (City of Hope)เป็นคำสั้น ๆ แต่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ ความหวังและสอดคล้องไปกับบริบทพื้นที่การทำงาน ซึ่งขอนแก่นเป็นจังหวัดที่เห็นความชัดเจนในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ และสิ่งที่เป็นจุดแข็งของจังหวัดขอนแก่นคือ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำให้เห็นกลไกการทำงานของระบบราชการที่เข้มแข็งสามารถเชื่อมโยง บูรณาการ และส่งต่อ

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)กล่าวถึงข้อมูลของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า จังหวัดขอนแก่นมีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา 19,000 คน นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องดูแลและแก้ไขปัญหานี้ไปได้อย่างลุล่วงด้วยตัวจังหวัดเอง และในวันนี้จังหวัดขอนแก่น มีสมัชชาการศึกษาเพื่อความเสมอภาคจังหวัดขอนแก่นจะสามารถขับเคลื่อนงานเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และยังเป็นประโยชน์ให้กับอีก 76 จังหวัดต่อไปได้

สำหรับการพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แบ่งออกเป็น 4 ห้องย่อย คือ ห้อง1 การพัฒนาเด็กปฐมวัยเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ห้อง2 การสร้างโอกาสการเรียนและการมีงานของเด็กนอกระบบ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ห้อง3 การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อฤป้องกันเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา สพป.ขอนแก่นเขต2 และคณะสพป.ขอนแก่น เขต1-5 สพม.ขอนแก่น และ ห้อง4 ขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เมืองแห่งโอกาส เทศบาลนครขอนแก่นและขอนแก่นพัฒนาเมืองเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ซึ่งร่างมติที่ได้รับการพิจารณาในแต่ละห้องย่อยได้รวบรวมเป็นฉบับเดียวเพื่อให้ที่ประชุมได้แสดงความเห็น และรับรองมติทั้ง 4 ระเบียบวาระ เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยหลังจากนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม ทางภาคีเครือข่ายสมัชชาฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานหลักเพื่อประสานภาคีเครือข่ายเพื่อทำงานเชิงรุก เพื่อพัฒนากลไก ระบบข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีการเฝ้าระวัง ติดตาม สถานการณ์ประเมินผล สร้างการรับรู้ และเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนาต่อเนื่อง พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอและให้คำปรึกษาที่เป็นกับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง

สุดท้ายนี้ รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวสรุปสาระสำคัญกรอบทิศทางนโยบายไว้ว่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและอาชีพ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบและกลไกจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยได้รับพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงวัยที่เหมาะสม มีโภชนาการและสุขภาวะที่ดี ร่วมกันการค้นหา ดูแล และส่งต่อโอกาสทางการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยง และหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้สามารถพัฒนาตนเองบนเงื่อนไขข้อจำกัดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การมีอาชีพและรายได้ ร่วมกันสร้างระบบนิเวศ บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย บูรณาการทุนวัฒนธรรม ทุนท้องถิ่น นวัตกรรมเทคโนโลยี สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น