ในที่สุดการเจรจาระหว่าง นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกลุ่มโฆษะ กับนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกลุ่มมิตรผลก็ได้ข้อยุติที่ชัดเจน มีการทำสัญญาโอนที่ดินและอาคารร้างความสูง 28 ชั้น ขนาดพื้นที่ 28,723 เมตร กลางเมืองขอนแก่น
ซึ่งก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานถึงกว่า 20 ปี ให้เป็นของบริษัทขอนแก่นอินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งร่วมทุนระหว่างบริษัทมิตรผลจำกัดกับบริษัทโฆษะโฮลดิ้ง นับเป็นข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับชาวจังหวัดขอนแก่น
ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะที่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศล้มลงพังทลายแบบระเนระนาดและมันไม่ใช่ฝันร้ายแต่เป็นความจริงอันโหดร้ายที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนในยุคนั้นที่ไม่อาจลืมเลือนได้ บริษัทธุรกิจปิดกิจการไปเป็นจำนวนมากที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ด้วยการปลดพนักงาน กลายเป็นคนตกงาน บ้านและรถยนต์ที่กำลังผ่อนชำระถูกยึด
ผลพวงจากวิกฤติการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นไม่แตกต่างกัน อนุสรณ์แห่งความโหดร้ายครั้งนั้นที่ไม่อาจแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอาคารสูง 10 ชั้น ของโครงการโรงแรมอีสานบุรีตั้งอยู่บนถนนประชาสโมสร และอาคารสูง 28 ชั้น โครงการโฆษะ แกรนด์ ทาวน์เวอร์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนศรีจันทร์ และถือว่าเป็นใจกลางเมืองย่านเศรษฐกิจของขอนแก่น
ทั้งสองโครงการขณะนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สถาบันการเงินได้ยุติการปล่อยเงินกู้ทำให้โครงการจำต้องยุติการก่อสร้างและถูกปล่อยทิ้งให้เป็นอาคารร้าง เป็นความเจ็บปวดที่คนขอนแก่นต้องก้มหน้ารับชะตากรรม
ผ่านมาถึงปี 2553 หรือ 14 ปีต่อมา นายโชคชัย คุณวาสี กรรมการผู้จัดการบริษัทโตโยต้าแก่นนคร ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า จังหวัดขอนแก่น ได้เข้ารับตำแหน่งคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่นและเข้าเยี่ยมคำนับนายปานชัย บวรรัตนปราณ ผวจ.ขอนแก่น ที่เดินทางมารับตำแหน่งใหม่ในขณะนั้น
นายปานชัยได้เอ่ยปากฝากฝังให้กรรมการหอการค้าขอนแก่นชุดนั้นช่วยกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาตึกร้างสองหลังที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ว่าได้ส่งผลให้ทัศนียภาพของเมืองแลดูไม่สวยงาม
นายโชคชัยซึ่งเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดของตนเองได้ตกปากรับคำกับนายปานชัย ว่าจะช่วยหาวิธีการแก้ไขเพราะเขารู้จักคุ้นเคยกับเจ้าของที่ดินโครงการโรงแรมอีสานบุรี
เขาได้เข้าไปเจรจากับเจ้าของที่ดินหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จและถูกตั้งคำถามว่า ถ้าเห็นว่าดำเนินการแล้วดีให้รับไปดำเนินการเองเลยดีกว่าจึงทำให้เขาต้องตกกระไดพลอยโจน กลายเป็นผู้รับผิดชอบในการระดมทุนปรับปรุงโครงการโรงแรมอีสานบุรีด้วยตนเอง
จากนั้นโครงการโรงแรมอีสานบุรีได้ถูกปรับปรุงให้เป็นโรงแรมหรูระดับ 4 ดาวครึ่ง โดยใช้วงเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดดำเนินกิจการใหม่ไปเมื่อ ปี 2555 โดยมีบริษัทขอนแก่นบุรีเป็นเจ้าของกิจการ และนายโชคชัย เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมอบให้เซ็นทาราเป็นเชนบริหาร ภายใต้ชื่อ โรงแรมเซ็นทารา โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นตอร์ ขอนแก่น
ปี 2556 นายโชคชัยได้ขายหุ้นในสัดส่วนของตนเองในบริษัทขอนแก่นบุรีให้กับบริษัทเนเชอรัล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็นปาร์ค” ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
จากนั้นเดือนเมษายน 2559 กลุ่ม บีทีเอส โฮลดิ้งคอมปานี จำกัด (มหาชน) ของ นายคีรี กาญจนพาส ซึ่งดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้า บีทีเอส ได้เข้าไปซื้อหุ้นของ “เอ็นปาร์ค” และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทขอนแก่นบุรีในปัจจุบัน
เดือนกรกฎาคม 2559 บริษัทขอนแก่นบุรี ได้เปลี่ยนเชนบริหารโรงแรมจาก “เซ็นทารา” ไปเป็น “อวานี” ซึ่งเป็นแบรนด์ บริหารโรงแรมของกลุ่มไมเนอร์ กรุ๊ป และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมอวานี โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น ขอนแก่น และบริหารงานมาจนถึงปัจจุบัน
นั่นเป็นอาคารร้างหลังแรกที่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาชีวิตในทางธุรกิจใหม่อีกครั้งที่ต้องยกให้เป็นเคดิตของ “โชคชัย คุณวาสี” กรรมการผู้จัดการบริษัทโตโยต้าขอนแก่น ที่กล้าหาญเข้าไปเป็นแกนหลักในการดำเนินการจนทำให้อาคารร้างกลายเป็นโรงแรมชั้นนำของจังหวัดขอนแก่น
จากนั้นดูเหมือนว่า แรงกดดันทั้งหมดจึงต้องตกมาอยู่ที่อาคารโฆษะ แกรนด์ทาวน์เวอร์ ภายใต้การบริหารงานของ นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานบริษัทโฆษะ กรุ๊ป โดยโครงการเดิมมีรายละเอียดประกอบด้วย ศูนย์การค้าขนาด 5 ชั้น ออฟฟิศให้เช่าและโรงแรมที่มีความสูง 28 ชั้น ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2537 แต่ได้ประสบปัญหาและยุติการก่อสร้างในปี 2540 เป็นปัญหาที่หนักอึ้งและน่าเห็นใจอย่างยิ่ง
มีกระแสข่าวว่าโฆษะได้ทำการเจรจากับกลุ่มธุรกิจต่างๆ หลุดออกมาเหมือนกับจะเป็นข่าวดีหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติสักที กลุ่มโฆษะได้ตัดแบ่งพื้นที่ศูนย์การค้าขนาด 5 ชั้นไปให้กับ “ตึกคอม” เช่าไปปรับปรุงไปเน้นตลาดด้านไอที จากนั้นปี 2559 มีการใช้พื้นที่ด้านข้างของอาคารฝั่งทิศตะวันตกเป็นป้ายโฆษณาของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ
กระทั่งล่าสุด กลางเดือนสิงหาคม 2560 มีกระแสข่าวลือในกลุ่มนักธุรกิจจังหวัดขอนแก่นออกมาระบุว่า การเจรจาของโฆษะกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในจังหวัดขอนแก่นได้ข้อยุติแล้ว โดยมีการระบุว่ากลุ่มทุนที่เข้ามาเจรจากับโฆษะได้แก่กลุ่มมิตรผล
แหล่งข่าวในหอการค้าจังหวัดขอนแก่นระบุว่า ได้มีการสอบถามไปยังผู้บริหารกลุ่มมิตรผลแล้วได้รับคำยืนยันว่า มีการเจรจาและได้ข้อยุติเบื้องต้นแล้วจริงแต่ยังไม่ได้มีการลงนามเพราะยังมีข้อติดขัดในบางประเด็นแต่คาดว่าน่าจะมีข่าวดีในช่วงต้นปี 2561
และจากการสอบถามไปยังนายชาติชาย โฆษะวิสุทธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโฆษะกรุ๊ป ได้ระบุว่ายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดใดออกมาได้เพราะการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด
แหล่งข่าวระบุว่า สำหรับ อาคารโฆษะ แกรนด์ ทาวน์เวอร์ มีความสูงขนาด 28 ชั้น ที่จะดำเนินการก่อสร้างใหม่นั้น ทุกอย่างที่วางไว้จะกลับมาเดินหน้าต่อไป โดยคาดว่ากลุ่มมิตรผลจะใช้เป็นสำนักงานใหญ่จำนวน 10 ชั้น ส่วนที่เหลือตั้งแต่ชั้น 11 ขึ้นไปจะจัดทำเป็นห้องพักของโรงแรมโฆษะและในส่วนของศูนย์การค้า 5 ชั้น ขณะนี้ตึกคอมได้ทำสัญญาเช่าดำเนินการอยู่แต่จะปรับปรุงอย่างไรคงต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ในการสัมมนาวิชาการ ARGO Industrial Revolution เรื่อง“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมการเกษตร” นายกฤษดา มณเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล ได้อภิปรายมีเนื้อหาบางช่วงสรุปว่า กลุ่มมิตรผลจะใช้จังหวัดขอนแก่น เป็นฐานของธุรกิจโรงงานน้ำตาลในภูมิภาคอีสาน และขอนแก่นจะกลายเป็นเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมแบบครบวงจรหรือ “ไบโอโพลิส” (Biopolis)
สอดคล้องกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้มีการแถลงรายละเอียดออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จากการตรวจสอบไปยังแหล่งข่าวต่างยืนยันตรงกันว่า อาคารร้างโฆษะที่ทิ้งไว้กว่า 20 ปี จะกลับมาทำการก่อสร้างใหม่อีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถแถลงรายละเอียดต่างๆ และเริ่มดำเนินการปรับปรุงได้ในช่วงปลายปี 2560 – ต้นปี 2561
นั่นหมายความว่า อาคารร้างขนาดใหญ่ที่เคยเป็นภาพแห่งความเจ็บปวดของคนขอนแก่น จะถูกปลุกให้ฟื้นกับมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ขอนแก่นก้าวสู่ความเป็น “สมาร์ทซิตี้” ในอนาคตอันใกล้นี้ ได้อย่างสง่างามและภาคภูมิใจอย่างแน่นอน
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
______________
หนังสือพิมพ์อีสานบิซ ฉบับที่ 221 ปักษ์หลัง เดือนมีนาคม 2561