ขอนแก่นเตรียมผุดโครงการนำร่องระบบราง 4 กม. รอบบึงแก่นนคร

          ขอนแก่นเตรียมผุดโครงการนำร่องระบบราง รอบบึงแก่นนคร และบนถนนศรีนวล ให้นักเรียนนักศึกษาใช้เป็นห้องทดลองขนาดเท่าของจริง สร้างความคุ้นชินให้กับประชาชน และดึงดูดการท่องเที่ยว

(ภาพจาก https://matcha-jp.com)

           ระบบรางเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตตามนโยบายรัฐบาลที่จะมีการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟระหว่างเมือง และรถไฟในเมืองไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมาและหาดใหญ่ ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้มีการสร้างบุคลากรระบบรางขึ้นมามากมายในมหาวิทยาลัย และสถานศึกษาต่าง ๆ ก็มีหลักสูตรระบบรางเกิดขึ้นจำนวนมากในระยะเวลาสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมา

โดยขั้นตอนการดำเนินโครงการ จะก่อสร้างระบบรางบริเวณรอบบึงแก่นนคร และบนถนนศรีนวล รับบริจาครถรางที่ใช้แล้วจากจังหวัดฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น นำมาปรับปรุงซ่อมแซม และสร้างสถานีรถไฟหรือ Depot ในลักษณะ TOD(Transit-Oriented Development) จากนั้นจะปรับปรุงแนวเส้นถนนศรีนวล ให้เป็น Complete Street หรือ “ถนนสมบูรณ์แบบ” ซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้ถนนกลับมา “มีชีวิต” ขึ้นอีกครั้ง โดยทำให้ถนนนั้นมีความปลอดภัย สวยงาม และสะดวกสบายต่อผู้ใช้ถนนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกับรถยนต์เท่านั้น ซึ่งคำว่า “ทุกคน” นั้นหมายรวมถึงคนเดินเท้า คนขี่จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนด้วย

ซึ่งจะมีหลักการอยู่หลายเรื่อง ได้แก่ 1. ความปลอดภัย 2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 3. เพิ่มทางเลือกนอกเหนือจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว 4. กระตุ้นให้เกิดการเดินและใช้จักรยาน 5. สร้างความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ 6. ปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ในสังคมและชุมชน 7. เพิ่มมูลค่าที่ดินที่อยู่ติดกับถนน โดยในแต่ละขั้นตอนจะให้ภาคการศึกษาองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการเดินรถ ซ่อมบำรุง บริหารจัดการ โดยใช้นักศึกษาเข้ามาร่วมทำงานจริง

ความคาดหวังของโครงการนี้เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาใช้เป็นห้องทดลอง(LEB) ขนาดเท่าของจริง ในยะทาง 4 กิโลเมตร จะมีการสร้างรางทุกชนิด เป็นการสร้างความเข้าใจ ให้กับนักศึกษาและประชาชนทั่วไปและสามารถให้นักวิจัย มาทำงานวิจัย ในด้าน Track Work ชนิดต่าง ๆ ได้ ได้เรียนรู้ถึงลักษณะการพัฒนาเมือง การออกแบบเมือง แบบเมืองกระชับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เชิงเศรษฐกิจ อย่างสร้างสรรค์ และเป็นศูนย์เรียนรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของที่ดิน การสร้างย่านเศรษฐกิจ โดยการใช้ขนส่งสาธารณะเป็นตัวนำ รวมทั้งสร้างความเข้าใจในระบบราง เช่นระบบการควบคุม ระบบการบริหารงาน ระบบซ่อมบำรุง ระบบการเงิน ไปจนถึงระบบการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ

สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัทขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จำกัด(KKTS) และบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด(KKTT)

แสดงความคิดเห็น