เลือกตั้งไร้อนาคต

 การเลือกตั้ง คือ หัวใจของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตัวแทน

 

          ตัวแทนมาจากพรรคการเมืองต่างๆที่จดทะเบียนกับคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งปีพ.ศ.2562 จำนวนพรรคการเมืองยังไม่นิ่งแต่ก็มีไม่ต่ำกว่า 50 พรรค ทั้งที่เป็นพรรคนอมินีของพรรคการเมืองใหญ่ที่มีไม่กี่พรรค เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น

พรรคการเมืองต่างๆจำเป็นต้องมีนโยบายหรือโครงการใหญ่ของพรรคที่ใช้หาเสียง ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี พรรคการเมืองแทบทุกพรรคพากันใช้นโยบาย/โครงการลด แจก แถม กันแหลก ด้วยคิดว่าเป็นความต้องการของประชาชน แท้จริงแล้วเป็นความอยากชั่วคราวที่ตำน้ำพริกละลายน้ำ ทุกรัฐบาลหาเสียงล่วงหน้าโดยใช้เงินภาษีประชาชนไปลด แจก แถม เงินต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการนั่นโครงการนี่ ซึ่งนับวันจะยิ่งทำให้ประชาชนกลายเป็นขอทานรอเงินจากรัฐ ไม่สามารถทำมาหากินจนพึ่งตนเองได้

รัฐบาลทหาร คสช.ก็ทำเฉกเช่นเดียวกัน แจกเงินเข้าบัญชีคนละ 500 บาทให้กับคนจนที่ถือบัตรสวัสดิการ 14.5 ล้านคน กับการแจกเงินอื่นๆอีกหลายโครงการและ โครงการลดภาษีต่างๆ โดยใช้เงินภาษีของผู้มีรายได้นับแสนๆล้านบาท ถ้าเอาเงินนี้ไปให้คนยากจนฝึกทักษะการประกอบอาชีพที่มีรายได้ จะลดคนจนได้มหาศาลกว่าการแจกเงินเฉยๆได้มาก

การซื้อเสียงล่วงหน้าแบบนี้ ทำให้ “คืนหมาหอน” หายไป และยิ่งทำให้คนจนใช้เงินได้เปล่าแบบมีประโยชน์น้อย ไม่สามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ แจกแล้วก็แล้วไป คนได้ประโยชน์ก็คือผู้ประกอบการหรือนายทุนใหญ่ๆ

พรรคพลังประชารัฐของรัฐบาล คสช.เองก็ไม่แน่ว่าจะได้คะแนนเสียงจริงจังมากพอจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องอาศัย สว.อีก 250 เสียง มาสนับสนุน ในระยะแรกๆ รัฐบาล คสช.แจกเงินผ่านระบบราชการภายใต้ชื่อโครงการต่างๆ  ทำให้ประชาชนได้รับเงินไม่เต็มเต็มหน่วย เมื่อใกล้จะมีการเลือกตั้งจึงจำเป็นต้อง “ยิงเงินตรง” ไปถึงมือประชาชน เพื่อเรียกคะแนนนิยม แต่จะได้หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนจะให้คะแนนหรือสอนบทเรียนด้วยการตบหน้าไม่กาบัตรเลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการ คสช.เป็นเรื่องที่จะได้เห็นกัน

การที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ทำเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นจุดพังทลายของการรัฐประหารโดยทหารแล้วเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะไม่มีฝีมือปฏิรูปประเทศหรือจับคนโกงจริงจัง แถมปล่อยให้คนชั่วลอยนวลหนีไปต่างประเทศกันเป็นว่าเล่น จึงสร้างความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร

คสช.จึงจะเป็นผู้สร้างจุดจบของการรัฐประหารในประเทศไทย ที่จะไม่มีใครสนับสนุนอีกต่อไป

ทางด้านตัวแทนนักการเมืองที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจากประชาชน การเมืองไทยทำให้เห็นการสืบทอดมรดกทางการเมืองที่เอาลูกหลานเอาเมียเอาญาติโกโหติกาเอาพรรคพวกตัวเอง มาลงสมัครไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเพื่อรักษาฐานอำนาจและผลประโยชน์เอาไว้

ส่วนนักการเมืองหน้าใหม่ๆส่วนใหญ่ก็ถูกอิทธิพลการเมืองแบบต้องเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือสส.ให้ได้ เพื่อจะได้ใช้เงินงบประมาณมาพัฒนาในพื้นที่และอิงแอบผลประโยชน์กับพรรคพวก   จึงเข้าสู่ระบบก๊กและก๊วนที่เดินตามนักการเมืองรุ่นเก๋า

อย่างไรก็ดี ยังมีกระแสคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาว ออกมาต่อสู้ทางการเมืองด้วยการตั้งพรรคแล้วชูคำขวัญไม่เอานักการเมืองรุ่นเก่า เช่น พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน เป็นต้น พรรคเหล่านี้ก็อยู่ที่คนหนุ่มสาวว่าจะพากันมาลงคะแนนเลือกตั้งมากๆแล้วเลือกตัวแทนจากพรรคคนรุ่นใหม่หรือไม่? ซึ่งก็น่าจะได้คะแนนพอมี สส.กับเขาบ้าง

ภายใต้วัฒนธรรมการเมือง ที่มีโครงสร้างและระบบที่อิงแอบกับนายทุนสนับสนุนพรรคและระบบราชการที่เป็นเครื่องมือบริหารประเทศ มากกว่าการเอาปัญหาประชาชนมากำหนดเป็นนโยบายแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น

การเลือกตั้งที่มีพรรคและตัวแทนเช่นนี้ก็ยังไร้อนาคต ยิ่งเล่นการเมืองกันแบบสาดโคลนด่าทอกันรายวัน ยิ่งเป็นการเมืองน้ำเน่า ยิ่งแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบาย/โครงการต่างๆ การคอรัปชั่นยิ่งมากและปราบปรามได้น้อย

          การเลือกตั้งจึงเป็นละครน้ำเน่าอีกครั้งให้ประชาชนผู้มีสิทธิกาคะแนนไปเป็นตัวประกอบในการเข้าสู่อำนาจและผลประโยชน์ของเหล่าพรรคการเมืองและตัวแทนผู้สมัคร สส./สว.

ชุมชนาธิปไตย:โดยสมพันธ์  เตชะอธิก อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แสดงความคิดเห็น