แสกนตลาดอสังหาฯ 62 REIC ชี้ดีมานด์ – ซัพพลายชะลอจากมาตรการควบคุมสินเชื่อของแบงก์ชาติ คาดปีทองของผู้ซื้อ ด้านผู้ประกอบการเตรียมอัดแคมเปญระบาย ระบุโคราชครองแชมป์อีสาน
REIC ชี้ดีมานด์-ซัพพลายชะลอ
“ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2561 ทั้งด้านดีมานด์และซัพพลายปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2560 เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
ขณะเดียวกัน มาตรการ LTV-loan to value ของแบงก์ชาติในการลดเพดานการปล่อยสินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดฯ มีผลทำให้ลูกค้าผู้ซื้อต้องเพิ่มเงินดาวน์ในการซื้อหรือกู้สัญญาที่ 2-3 เป็นต้นไป มีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2562 คาดว่าส่งผลกระทบทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการเร่งตัวก่อนที่มาตรการ LTV จะบังคับใช้จริง
สำหรับตลาดต่างจังหวัดในปี 2561 มีการขยายตัวของดีมานด์อย่างชัดเจน โดยมีหน่วยและมูลค่าการโอนสูงถึง 21% ขณะที่ซัพพลายซึ่ง REIC ดูจากตัวเลขการขอใบอนุญาตก่อสร้างลดลง 3.2%
เจาะรายละเอียดใบอนุญาตก่อสร้างพบว่า การขอไลเซนส์โครงการอาคารชุดลดลง -49% ขณะที่ไลเซนส์บ้านจัดสรรแนวราบเพิ่ม 2.9% ทำให้วิเคราะห์ได้ว่ามีการปรับตัวของดีมานด์และซัพพลายที่เข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น
แนวโน้มปี 2562 มองว่าผลจากมาตรการคุมสินเชื่อของแบงก์ชาติ, การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย ผลลัพธ์ตามมากระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และตลาดต่างจังหวัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่ามีการชะลอตัวทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลาย
ไตรมาส 1/62 ผู้ซื้อได้เฮ
ค่ายอสังหาฯดาวรุ่งแบรนด์ “อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์” โดย 2 ผู้บริหารหลัก “ชยพล หรรรุ่งโรจน์” เอ็มดี กับ “ขวัญชัย ยิ่งเจริญถาวรชัย” กรรมการบริหาร กล่าวสอดคล้องกันว่า แม้ปี 2562 เต็มไปด้วยปัจจัยกระทบตลาดอสังหาฯ แต่มูลค่าตลาดรวมปีละ 5 แสนล้านบาทไม่คิดว่าจะหายไปถึงครึ่งหนึ่ง เพราะลูกค้าที่ถูกบังคับเพิ่มเงินดาวน์เป็นการซื้อหลังที่ 2-3 เป็นต้นไปมีสัดส่วนน้อยของตลาดรวม
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการจะสร้างอัตราเติบโตทางธุรกิจปีกุนไม่ง่าย เพราะกระทบจาก 1.มาตรการ LTV ทำให้ผู้ซื้อน้อยลงหรือชะลอการตัดสินใจ 2.แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
“ปีหน้าเป็นปีของ buyer market จากสองไซเคิลฝั่งผู้ซื้อกับผู้ขาย ปีหน้าคนตัดสินใจซื้อช้าลงก็จริง แต่ทำให้คนพร้อมซื้อเป็นจังหวะเลือกซื้อ เพราะผู้ประกอบการแข่งขันแคมเปญโปรโมชั่นเพื่อให้ตลาดยังไปได้อยู่”
ท็อป 10 อสังหาฯต่างจังหวัด
สำหรับท็อป 10 ในตลาดต่างจังหวัด (ไม่นับกรุงเทพฯ-ปริมณฑล) จัดระเบียบข้อมูลตามมูลค่าตลาด ซึ่งเรียบเรียงจากข้อมูลหน่วยและราคาในผังโครงการ ผลสำรวจ ณ ครึ่งปีแรก 2561 ของ REIC มีดังนี้
อันดับ 1 “ชลบุรี” มูลค่าตลาดตามผังในโครงการ 444,268 ล้านบาท จาก 669 โครงการ จำนวน 142,375 หน่วย เหลือขาย 37,915 หน่วย มูลค่าเหลือขาย 131,168 ล้านบาท
อันดับ 2 “ภูเก็ต” มูลค่าตลาด 160,208 ล้านบาท จาก 198 โครงการ 27,125 หน่วย เหลือขาย 6,357 หน่วย มูลค่าเหลือขาย 37,518 ล้านบาท
อันดับ 3 “เชียงใหม่” มูลค่าตลาด 104,008 ล้านบาท จาก 217 โครงการ 27,476 หน่วย เหลือขาย 8,617 หน่วย มูลค่าเหลือขาย 33,237 ล้านบาท
อันดับ 4 “โคราช” มูลค่าตลาด 84,445 ล้านบาท จาก 155 โครงการ 18,069 หน่วย เหลือขาย 6,858 หน่วย มูลค่าเหลือขาย 34,330 ล้านบาท
อันดับ 5 “ระยอง” มูลค่าตลาด 77,916 ล้านบาท จาก 224 โครงการ 32,000 หน่วย เหลือขาย 11,895 หน่วย มูลค่าเหลือขาย 30,210 ล้านบาท
เรียบเรียงเนื้อหาจากประชาชาติธุรกิจ
ที่มาข่าว https://bit.ly/2LOlZHU