มข.1ใน13องค์กรไทยคว้ารางวัล”บริหารจัดการเยี่ยมระดับโลก” ต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ต่างประเทศนำไปประยุกต์ใช้
ณ ห้องทองคำ ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม จัด งานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2561
ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ประเด็นสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้สามารถรับมือกับความโลกาภิวัฒน์คือการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยต้องทำให้ผลิตภาพเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้องค์กรไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงกระบวนการ ขีดความสามารถและผลลัพธ์ ผ่านระบบการพัฒนาและประเมินผลต่างๆ สามารถยกระดับผลิตภาพของประเทศไทยได้อย่างสัมฤทธิ์ผล แม้ว่าในปีนี้ ไม่มีองค์กรใดผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) แต่การที่องค์กรนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ไปเป็นบรรทัดฐานสำหรับการประเมินตนเองขององค์กรจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกภาคส่วน ให้มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ เพื่อยกระดับองค์กรภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
รศ.ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยเกี่ยวกับปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนองค์กรจนสามารถคว้ารางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class TQC) ประจำปี 2561 ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ที่สามารถคว้ารางวัลระดับประเทศจากสถาบันนี้ ซึ่งรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยความสำเร็จ มี 4 ประการสำคัญ คือ 1.การกำหนดทิศทางเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯได้เปิดโอกาสให้บุคลากร มีส่วนร่วมในการจัดทำเป้าหมาย แผนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ร่วมกัน หลังจากนั้นทุกฝ่ายจะดำเนินการไปตามทิศทางที่ตนเองได้มีส่วนร่วมในการวางแผนอย่างเต็มที่
2.ทุกฝ่ายทำงานสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่า จะเป็น สภามหาวิทยาลัย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารของส่วนงานต่างๆ
3.การมีเครือข่ายที่ยึดโยงชุมชนท้องถิ่น ในภาคตะวันออกฉียงเหนือ หรือ ภูมิภาคข้างเคียง ทำให้สามารถเข้าใจประเด็นปัญหาต่างๆ และ มหาวิทยาลัยได้นำประเด็นปัญหาเหล่านั้นมากำหนดโจทย์วิจัยเพื่อนำไปศึกษาค้นคว้าเมื่อได้ผลมาแล้ว ได้นำกลับไปใช้ในชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับการขับเคลื่อนพัฒนามาโดยตลอด
4. การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ด้านการประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2540 ที่มีหน่วยประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมา และได้เข้าสู่กระบวนการประกันคุณภาพ หลายส่วนงานทั้ง สำนักงานคณะกรรมการ บริหารราชการ คปร. สมศ. สกอ. รวมถึงการประกันคุณภาพขับเคลื่อนมาตั้งแต่หน่วยเล็ก ๆ เช่น สาขาวิชา หลักสูตร ภาควิชา จนมาถึงระดับคณะ และ ระดับมหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีการทำและพัฒนาอย่างต่อเนื่องย่อมประสบความสำเร็จ ทำให้เราสามารถรับรางวัลบริหารสู่ความเป็นเลิศได้ในครั้งนี้
โดยในปี 2561 มีองค์กรที่ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 13 องค์กร ดังต่อไปนี้ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus : Operation) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า (Thailand Quality Class Plus : Customer) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่ ธนาคารออมสิน และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) จำนวน 11 องค์กร ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขื่อนรัชชประภา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนวชิราลงกรณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) เนื่องจากมีกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้