เปิดเวที สมัชชาสิ่งแวดล้อม จ.ขอนแก่น ถกปัญหา แนะทางออกเตรียมข้อเสนอผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อมจากภาคประชาชนบรรจุแผนพัฒนาจังหวัด เชื่อม ชนบท-เมือง ปลูกป่าสร้างปลอดเมือง
ขอนแก่นถูกกำหนดไปในทิศทางอุตสาหกรรมด้วยตำแหน่งการพัฒนาใน 3 ประเด็นคือ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East- West Economic Corridorหรือ EWEC) เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Economic Cooperation หรือ GMS) เป็นศูนย์กลางการค้าและบริการ ที่ผ่านมาขอนแก่นจึงมีโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาเป็นระยะๆ ซึ่งสร้างความกังวลต่อผลกระทบต่างๆ และทำให้เกิดการต่อต้านจากชุมชน เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ในพื้นที่ตำบลหนองแซง อำเภอบ้านแฮด ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชุมชนและอ่างเก็บน้ำรวม 2,012 ไร่ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ หรือกรณี บริษัทเคทีดี พร็อบเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ “กระทิงแดง” ได้เข้ามาตั้งโรงงานในเขต ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยขอเช่าพื้นที่สาธารณะห้วยเม็ก เนื้อที่ 31 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างโรงงานราว 500 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่เก็บกักน้ำสำหรับประกอบกิจการ ชาวบ้านในพื้นที่จึงคัดค้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ดังกล่าวนั้นชาวบ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านได้กันไว้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการเลี้ยงสัตว์ หาของป่าและอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล โดยได้สร้างกติกาในการใช้พื้นที่ป่าแห่งนี้รวมทั้งร่วมกันรักษาปกป้องการบุกรุกมาตั้งแต่ปี 2500
แม้การเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะทำให้บริษัทกระทิงแดงยกเลิกการขอใช้พื้นที่สาธารณะห้วยเม็ก และยกเลิกการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในพื้นที่ตำบลหนองแซงไปแล้ว แต่ฐานทรัพยากร ป่าชุมชน และพื้นที่สาธารณะก็อาจจะมีความเสี่ยงในการรองรับโครงการพัฒนาต่อไปในอนาคตหากชุมชนไม่เข้มแข็งพอ รวมถึงสถานการณ์ทั้งสองครั้งนี้ได้สะท้อนอีกครั้งถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขาดหลักธรรมมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ขาดการทำความเข้าใจกับชุมชนอย่างรอบด้าน
ปัจจุบันขอนแก่นยังคงถูกกำหนดเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ทำให้ถูกวางเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ MICE CITY ศูนย์บริการการแพทย์และสาธารณสุขและการศึกษา นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นพื้นที่การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง นโยบายส่งเสริมการเกษตรในเขตโซนนิ่ง เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นฐานของการกำหนดแผนพัฒนาของจังหวัดขอนแก่นท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากการพัฒนาที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง และการลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิระหว่างชุมชนที่ได้รับผลกระทบกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษโดยปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมายังหาทางแก้ไขฟื้นฟูไม่ได้
ในเวทีการสัมมนาพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ดำเนินการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดขอนแก่น วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายสมัชชาสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่นได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และนโยบายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ที่อาจส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพื่อหาทิศทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
ดร.อุษา กลิ่นหอม นักวิชาการอิสระ ย้อนชวนมองความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมจากการขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดขอนแก่นในช่วงเวลาที่ผ่านมาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพที่วางเป้าหมายให้ขอนแก่นเป็น “ไบโอฮับ” ในภาคอีสาน จากศักยภาพของจังหวัดขอนแก่นมีลุ่มน้ำที่สำคัญ 2 แห่ง คือลุ่มน้ำพองและลุ่มน้ำชี ทำให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการประกอบการทางอุตสาหกรรม เป็นแหล่งของผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้มีการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำทั้งสองแห่งเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอน้ำพอง อำเภอหนองเรือ และอำเภอกระนวน อุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัด 4 อันดับ ได้แก่
– อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์จากกระดาษ มีจำนวน 9 เช่น โรงงานผลิตกระดาษของบริษัท ฟินิกซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) กำลังการผลิต 200,000 ตัน/ปี
– อุตสาหกรรมไฟฟ้า จำนวน 6 โรงงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ในอำเภออุบลรัตน์ บริษัท โรงไฟฟ้าน้ำตาลขอนแก่น จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้า บริษัท พานาโซนิค อิเล็กทริคเวิร์คส์ จำกัด บริษัท เอ็นเนอร์ยีซีสเท็มส์ จำกัด
– อุตสาหกรรมอาหาร มีจำนวน 77 โรงงาน เช่น บริษัท ศรีวิโรจน์ฟาร์ม จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมกระดูกสัตว์ จำกัด บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด บริษัท น้ำตาลมิตรภูเวียง จำกัด
– อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มีโรงงานจำนวน 9 โรงงาน เช่น บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จัด ผลิตโซดาและน้ำดื่ม บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผลิตน้ำอัดลมและน้ำดื่ม บริษัท คราฟท์ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตเครื่องดื่มชนิดผง บริษัท แก่นขวัญ จำกัด ผลิตสุรา
ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมยาวนานหลายปีได้สร้างผลกระทบขึ้นหลายพื้นที่ เช่น กรณีปัญหาแม่น้ำพองเน่าเสียที่ จ.ขอนแก่น ถือได้ว่าเป็นกรณีปัญหาที่ยาวนานโดยมีคู่กรณีคือ โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำพอง ทำให้ปลากระชังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ รวมทั้งปลาธรรมชาติตาย ขณะที่พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหาย โดยหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่กล้าชี้ชัดถึงสาเหตุของปัญหา แม้จะมีผลการตรวจสอบของหน่วยงานราชการยืนยันหลายต่อหลายครั้งว่าเป็นผลมาจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อชาวบ้านและชุมชนต้องแบกรับผลกระทบและหน่วยงานรัฐไม่สามารถช่วยเหลือดูแลได้ ความยากลำบากและสลับซับซ้อนในการตรวจสอบ ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมเสมอมา
สองปีที่ผ่านมา ขอนแก่นได้มีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร หรือ Bioeconomy ที่จะเน้นการผลิตเอทานอลจากการใช้อ้อยและมันสำปะหลัง เป้าหมายผลิต 2,506 ล้านลิตรต่อปี การผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยและกากอ้อย 1,800 เมกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 336-500 เมกะวัตต์ โรงงานผลิตไบโอพลาสติก อุตสาหกรรมยาชีววัตถุและวัคซีนขั้นสูง อุตสาหกรรมต่อยอดจากอาหารในกลุ่มแป้งและน้ำตาลขึ้นมาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฟสแรกมีกรอบการลงทุนเบื้องต้นที่มีการหารือกันไว้ใน 5 กลุ่ม ช่วงระยะเวลา 10 ปี มีเจ้าภาพหรือผู้ลงทุนหลัก เช่น ปตท. กลุ่มมิตรผล ไทยวา ชลเจริญ เอี่ยมเฮง สงวนวงศ์
กรณี จ.ขอนแก่น กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ได้กว้านซื้อที่ดินใน อ.บ้านไผ่ไปแล้วประมาณ 4,000 ไร่ โดยมีความต้องการที่ดินกว่า 6,000 ไร่ และได้เสนอไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร” เป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่ปลูกอ้อย มีแหล่งน้ำรองรับการพัฒนา มีระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน มีแรงงาน และมีความพร้อมของเครือข่ายของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่สำคัญพื้นที่ที่คาดหมายว่าจะเป็นที่ตั้งโรงงาน เป็นพื้นที่ป่าสาธารณะกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่เคยใช้ประโยชน์ และจะมีการสูบน้ำจากน้ำชีและแก่งละว้าซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีคุณค่าทางนิเวศสูง มีชุมชนใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำประปาให้อำเภอบ้านไผ่ เป็นแหล่งปศุสัตว์ขาดใหญ่ และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชนถึง 4 อำเภอ
รวมทั้ง การขยายอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบการเกษตรในจังหวัดขอนแก่นส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ขนาดใหญ่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มัน ข้าวโพด และเชื่อมโยงการกับการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างมหาศาล
ถนัด แสงทอง เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ให้ข้อมูลว่า การสำรวจการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรในจังหวัดขอนแก่นเมื่อปี 2547 แสดงให้เห็นว่าการปลูกผักเพื่อจำหน่ายใน จ.ขอนแก่น มีการใช้สารเคมีจำนวนมากและหลากหลายชนิดในการปลูก โดยมีเกษตรกรร้อยละ 95.29 ซื้อสารเคมีในจังหวัดขอนแก่น แต่ปัญหาคือการขาดการสำรวจข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงปริมาณการใช้สารเคมีในระดับจังหวัด ซึ่งทำให้มองไม่เห็นความรุนแรงและแนวโน้มผลกระทบจากการตกค้างทั้งในระบบนิเวศและผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งถ้าประเมินจากพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดขอนแก่นในปี 2560 ที่ 982,295 ไร่ จากจำนวนการใช้สารเคมีในแปลงอ้อยที่มีการศึกษาที่ จ.หนองบัวลำภูมาก่อนหน้านี้คาดว่าในขอนแก่นจะมีการใช้สารกำจัดวัชพืชประมาณ 1,699,370 ลิตร ส่วนพาราควอทจะมีปริมาณที่ 304,511 ลิตร
หากเทียบข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่าน (2549/2559) จะพบประเด็นสำคัญว่า พื้นที่นาลดลง 323,752 ไร่ พื้นที่พืชไร่ลดลง 159799 ไร่ พื้นที่สวนผักไม้ดอกไม้ประดับลดลง 1,805 ไร่ ขณะที่เนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 420,888 ไร่ และพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดขอนแก่นปี 50/51 มี 432,726 ไร่ มาในปี 59/60 เพิ่มขึ้นเป็น 982,295 ไร่ การเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นไร่อ้อยนี้แสดงถึงการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจอ้อยที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ขยายมาในภาคอีสาน รวมทั้งการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เมืองในจังหวัดขอนแก่นในระยะต่อไปจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนในอนาคต และจะส่งกระทบกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ 30-40 กลุ่มในจังหวัดรวมถึงตลาดเขียว 21 แห่งในจังหวัดขอนแก่นที่ยังมีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก
ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยจากสารเคมีการเกษตรในจังหวัดขอนแก่น ปี 2560 จากจำนวนประชากร 1,801,753 คน มีจำนวนผู้ป่วย 478 คน อัตราป่วยต่อแสนคน 26.53 และ การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยยังส่งผลต่อปัญหามลพิษทางอากาศอย่างชัดเจน
ร.ศ.พรพรรณ สกุลคู จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุชัดว่า ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ จังหวัดขอนแก่นติดอันดับ 1 ใน 5 ที่มีจำนวนวันที่มีมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานจำนวนมากที่สุด คือ 70 วัน ซึ่งมลพิษที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมคอน และพบปริมาณก๊าซโอโซนมีค่า 78 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
“ฝุ่น PM 2.5 ในเมืองขอนแก่น 60% มาจากการเผา โดยเฉพาะการเผาอ้อย 35% มาจากควันพิษจราจร และ 5% มาจากอุตสาหกรรม” ร.ศ.พรพรรณ กล่าว
ด้านทรัพยากรน้ำ ในจังหวัดขอนแก่นมีลำน้ำที่สำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ ลำน้ำชี มีพื้นที่ชุ่มน้ำ อยู่นอกเขตอนุรักษ์ที่มีความสำคัญระดับชาติ 2 แห่ง คือ แก่งละว้า และห้วยเสือเต้น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่นอย่างเป็นจำนวนมาก เช่น หนองละเล็งเค็ง บึงกุดเค้า หนองกองแก้ว บึงละเลิงห้วย เป็นต้น ส่วนแหล่งน้ำชลประทานในเขตจังหวัดขอนแก่นมีโครงการแหล่งน้ำจำนวน 462 โครงการ เป็นโครงการขนาดใหญ่จำนวน 2 แห่ง โครงการขนาดกลาง 19 แห่ง โครงการขนาดเล็ก 441 แห่ง และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 109 แห่ง
สหราช ทวีพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ ชี้ภาพรวมการจัดการน้ำในภาคอีสานเป็นการใช้เศรษฐกิจนำโดยไม่ได้ดูความเหมาะสมของพื้นที่
“ตัวอย่างโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน ในอดีตตอนมีโครงการอีสานเขียว มีการก่อสร้างโครงสร้างภายในภาคไว้แล้วตั้งแต่เชียงคาน ห้วยหลวง กุมภวาปี ลำปาว ร้อยเอ็ด ราศี หัวนา แต่การผันน้ำโขงจะผันได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น หน้าแล้งจะต้องสูบน้ำใครจะจ่ายค่าน้ำมัน ถ้าผันน้ำเข้ามาในหน้าฝนน้ำจะมาสมทบกับน้ำมูนที่กำลังเอ่อล้นพอดี น้ำก็จะท่วมและระบายลงน้ำโขงไม่ได้อีก ฉะนั้นโครงการที่สร้างไว้จึงใช้การไม่ได้แทบทั้งหมด ประเด็นสำคัญคือความมั่นคงของน้ำโขงสายหลักขึ้นอยู่กับการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน และลุ่มน้ำในอีสานต้องพึ่งน้ำโขง เขื่อนจีนทำให้ไม่สามารถควบคุมน้ำได้อีกแล้ว การศึกษาโครงการจึงเป็นการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่งบประมาณในการพัฒนาจริงๆ มีนิดเดียวเท่านั้น