นักออกแบบ จบแล้วไปไหน?

สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาในจังหวัดขอนแก่น นับเป็นสัปดาห์แห่งมหกรรม “ปล่อยของ” จากว่าที่บัณฑิตนักออกแบบหลากหลายหลักสูตรในภาคอีสาน โดยเฉพาะขอนแก่นและมหาสารคาม ที่ได้มีโอกาสแสดงพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่สู่สาธารณชน ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังจากภาคเอกชนรายใหญ่คือ Central Plaza จังหวัดขอนแก่น ที่นอกจากสละพื้นที่ทำเลทองทางธุรกิจตลอดสัปดาห์ ให้บรรดาว่าที่บัณฑิตจัดกิจกรรมอย่างเต็มที่แล้ว ยังทุ่มทุนสร้างเวที catwalk พร้อมจัดเตรียมระบบแสงเสียงและบุคลากรสนับสนุนแบ็คอัพการจัดกิจกรรม เป็นเสมือน infrastructure ด้านระบบและการจัดการ อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและราบรื่นของกิจกรรมที่ผ่านมาในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างไม่อาจละเว้นที่จะไม่กล่าวขอบคุณไว้ ณ​ ที่นี้ได้

การแสดงผลงานจบการศึกษาของนักศึกษาด้านการออกแบบของไทยในสาขาต่างๆ ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนเรียกได้ว่าเป็นประเพณีในทุกพื้นที่ที่มีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ที่มีหลักสูตรจัดการเรียนการสอนด้านการออกแบบ ซึ่งจากความทรงจำของผู้เขียน กิจกรรมลักษณะนี้เริ่มต้นจากภายในหลักสูตรคือเริ่มจากคณาจารย์และนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ต้องการแสดงให้สังคมเห็นถึงศักยภาพของบัณฑิตไทยที่สามารถคิดและสร้างสรรค์ผลงานได้ในระดับสากล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อผลงานออกแบบ พัฒนาต่อยอด ว่าจ้าง และลงทุนผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อนำไปสู่การเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพย์สินทางปัญญาของเราเอง ไม่ใช่การซื้อ know-how และเทคโนโลยีเข้ามา และจัดหาแรงงานเพียงเพื่อเป็นฐานในการรับจ้างผลิตตามแบบที่มีการออกแบบโดบบริษัทหรือทุนจากต่างประเทศเป็นหลักอย่างที่ผ่านมาในอดีต เป็นสิบปีแล้ว

บางสถาบันอาจถึงกว่ายี่สิบปี ที่สถาบันและบัณฑิตสาขาวิชาการออกแบบของไทย ไม่ว่าจะสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ศิลปะ หัตถอุตสาหกรรม สิ่งทอ เครื่องเรือน สื่อ และสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ จัดนิทรรศการนำเสนอผลงานของบัณฑิตอันเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศที่ผลิตมาจากทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะจากสถาบันของรัฐที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนใหญ่จากภาษีอากรของประชาชน ได้ผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานและศักยภาพเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ แต่เหตุใดเมื่อเรามองไปที่ตลาดสินค้าและบริการก็ยังมองเห็นผลงานของแบรนด์ไทย จากการสร้างสรรค์ของนักออกแบบไทย ภายใต้การลงทุนของผู้ประกอบการไทย สร้างงานและรายได้ให้กับเครือข่ายผู้ผลิตชาวไทย ในปริมาณที่ยังน้อยอยู่จนน่าใจหายเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการแบรนด์ต่างประเทศที่คนไทยยังรับจ้างผลิตและรับจ้างขายอยู่ในปัจจุบัน

คำตอบสำคัญของคำถามนี้เป็นความจริงปรากฏอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ค่านิยมในการบริโภคสินค้าและบริการของคนไทย ยังให้ค่ากับแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ที่สร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคพึงพอใจจากการลงทุนโฆษณาและทำการตลาดระดับโลก แม้ทุกวันนี้เราจะทราบกันดีว่าหลายแบรนด์สินค้าต่างประเทศมีฐานการผลิตในประเทศไทย ดำเนินการผลิตโดยโรงงานและแรงงานไทย เราในฐานะผู้บริโภคก็ยังนิยมซื้อสินค้าชนิดเดียวกันในราคาสูงกว่า โดยยินดีจ่ายส่วนต่างราคาแพงเป็นเสมือนค่าลิขสิทธิ์ ส่งต่อให้เจ้าของแบรนด์ในต่างประเทศ ซึ่งหากพิจารณาอย่างจริงใจก็บอกได้ว่าไม่ได้มีคุณภาพดีกว่าแบรนด์ไทยอย่างสมเหตุผลที่จะยอมจ่ายส่วนต่างราคานั้น แม้วันนี้หลายแบรนด์ต่างประเทศดังๆ ได้ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปที่ประเทศอื่นที่ต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าและรับทราบกันดีว่าทักษะฝีมือต่ำกว่าแรงงานไทย ผู้บริโภคก็ยังติดแบรนด์อยู่เช่นเดิม

เหตุนี้นักออกแบบไทยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงจำนวนหนึ่ง จึงเลือกเส้นทางเติบโตในอาชีพโดยการไปทำงานให้กับแบรนด์สินค้าดังของต่างประเทศ​ ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกเส้นทางความก้าวหน้าที่ดีและถูกต้องให้กับชีวิตตนเอง และแน่นอนว่าเป็นความยินดีและภูมิใจของคณาจารย์และสถาบันการศึกษา ที่ผลิตนักสร้างสรรค์ได้ในระดับที่เป็นที่ยอมรับของฝีมือความสามารถในตลาดแรงงานสากล แต่ในมุมที่ย้อนแย้งกลับมาพร้อมกันคือเราผลิตทรัพยากรบุคคลด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพให้กับโลกสำเร็จแล้ว แต่ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขซึ่งอยู่เหนือขอบเขตความสามารถและรับผิดชอบของสถาบันการศึกษา แต่ขยับไปอยู่ในมิติของการบริหารจัดการระดับนโยบายของประเทศ คงเป็นเรื่องของกลไกปรับทัศนคติสังคมและค่านิยมของผู้บริโภค พร้อมไปกับการสร้างกลไกด้านการลงทุนที่เอื้อโอกาสเติบโตให้กับแบรนด์และนักลงทุนไทยรายย่อยและรายใหม่มากขึ้น เพื่อโน้มน้าวมันสมองที่มีพลังสร้างสรรค์เหล่านั้นให้ยินดีที่จะกลับมาเติบโตและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับทั้งประเทศและชุมชนท้องถิ่น ตามวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้

บทความโดย : ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนครอาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม. ขอนแก่น

 

แสดงความคิดเห็น