น้ำลด ตอผุด ถอดบทเรียนน้ำท่วมบ้านไผ่

ภาษิตที่ว่า “น้ำลด ตอผุด” แม้จะหมายถึง “เมื่อหมดอำนาจ ความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฏ” เปรียบเสมือนเวลาน้ำท่วม จะไม่เห็นอะไรนอกจากน้ำ แต่พอน้ำลด ก็จะเห็นตอไม้และอะไรต่อมิอะไรผุดขึ้นเต็มไปหมด ฉันใด น้ำท่วมบ้านไผ่ ก็ไม่ต่างกัน

เกือบ 100 ปีไม่เคยเห็นมาก่อน
นายรุจน์ รังษี นายอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ว่า ได้รับผลกระทบมาก เพราะว่าลำห้วยจิกที่รับมวลน้ำจาก อ.หนองสองห้อง อ.เปือยน้อย อ.พล และ อ.โนนศิลา ไหลสู่ห้วยจิก แล้วห้วยจิกจะไหลตัดผ่านเขตเทศบาลบ้านไผ่ ระยะทางที่จะมาถึงเขตเทศบาลอ.บ้านไผ่ ประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นน้ำก็ไหลผ่านไปที่ตำบลบ้านไผ่ แล้วไปลงแก่งละว้าซึ่งระยะทางตรงนี้ประมาณ 10 กิโลเมตรเศษปีนี้มวลน้ำที่ฝนตกหนักมา 2-3 วัน ทำให้มวลน้ำจาก 3-4 อำเภอไหลลงมาสู่พื้นที่อำเภอบ้านไผ่และก็เอ่อท่วมในเขตชุมชน

“แก่งละว้าพื้นที่ 17,400 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำแก้มลิงจะติดลำน้ำชี ทุกปีน้ำชีจะเต็มเอ่อล้นมาแถวบ้านชีกกค้อก็จะท่วม และเอ่อล้นมาเพื่อมาลงแก่งละว้า ทุกปีเวลาน้ำท่วมจะท่วมไม่มากขนาดนี้ แต่สำหรับปีนี้ขอนแก่นประสบภัยแล้ง แก่งละว้าไม่มีน้ำ มีน้ำต้นทุนอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถรับมวลน้ำนี้ได้ แต่ต้องใช้เวลาในการเดินทางของน้ำ ประกอบกับลำน้ำชีก็ไม่มีน้ำ เราแจ้งเตือนชาวบ้านบางส่วนก็ชะล่าใจว่าทุกปีไม่เคยท่วมหนักขนาดนี้และปีนี้มันแล้งก็คงไม่ท่วม”

ทั้งนี้มวลน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักทะลักเข้าบ้านไผ่ตั้งแต่ 6 ทุ่มของวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา ท่วมมาเรื่อยๆและขยายเป็นวงกว้างขึ้นจนทำให้ 14 ชุมชนได้รับความเสียหายถึง 3,500 ครัวเรือน จากพื้นที่ทั้งหมด 39 ชุมชน หมื่นกว่าครัวเรือน

ขณะที่นายสัมฤทธิ์ เชื้อสาวะถี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส (อบต.หนองน้ำใส)อ.บ้านไผ่ จ. ขอนแก่น เล่าถึงสภาพน้ำท่วมว่า ช่วงตี 3 ของวันที่ 31 สิงหาคม เกิดฝนตกหนักแล้วมวลน้ำก็ทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน โดยชาวบ้านไม่รู้ตัว ตำบลหนองน้ำใส มี 12 หมู่บ้าน ที่ผ่านมาน้ำจะท่วมเฉพาะหมู่เดียวคือหมู่ที่ 1 ที่อยู่ใกล้หนองน้ำในตำบล ได้รับผลกระทบเพียงประมาณ 10 ครัวเรือนแต่ปีนี้หมู่ที่ 1 ท่วมทั้งหมด 45 หลังคาเรือน อีก 6 หมู่บ้านท่วมมิดหลังคาเรือน เนื่องจากสภาพหมู่บ้านติดกับลำห้วย คือ ลำห้วยกุดแคน ลำห้วยวังขอนแดง ลำห้วยวังขอนขาว เตาเหล็ก โสกเชือก มวลน้ำจะมาตามลำห้วย ประชาชนที่อยู่ตามลำห้วยจะท่วมกันหมดและถนนจะถูกตัดขาด อย่าง หมู่ที่ 2,3,4 กลายเป็นเกาะชาวบ้านออกมาไม่ได้

“คนจะคลอดบุตรก็ต้องเอาเรือช่วยออกมาไปโรงพยาบาล นาไม่ต้องพูดถึงท่วมหมดกลายเป็นทะเล ถนนขาดเกือบ 20 สาย คนเฒ่าคนแก่บอกว่าท่วมหนักขนาดนี้ไม่เคยเห็น”

ต่อมาช่วงตี 4 ของวันเดียวกัน น้ำก็เอ่อท่วมหมดทุกพื้นที่ของ ต.หนองน้ำใสกลายเป็นทะเลชั่วพริบตา ถนนบายพาสไป อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ต้องปิดการจราจรเพราะน้ำท่วมสูง จากนั้นน้ำก็จะค่อยๆลดลง จนเช้าวันที่ 2 กันยายน กลับมาอยู่ในสภาพปกติ แต่ในนายังท่วมเป็นแห่งๆไป และถนนหนทางก็เสียหายซึ่งทางอบต.หนองน้ำใสก็ต้องรีบเร่งซ่อมแซม

สำหรับน้ำที่ไหลมาท่วม ต.หนองน้ำใส ไหลมาจาก ต.แคนเหนือ ต.บ้านลาน ทาง อ.เปือยน้อย อ.โนนศิลา และไหลตามลำห้วย มาลงหนองบ่อ จากนั้นก็มาลงห้วยจิก ซึ่งในเขตเทศบาลจะได้รับผลกระทบหนัก
“แม้ทุกปีอาจจะท่วมบ้าง แต่ไม่หนักเท่าปีนี้ เพราะทุกปี ต.หนองน้ำใสไม่เคยท่วม แต่ปีนี้ท่วม คิดดูแล้วตัวเมืองจะหนักแค่ไหน ที่นี่เคยหนักสุดเมื่อประมาณปี 2521 แต่ปีนี้หนักกว่า”

ส่วนความช่วยเหลือ มีผู้มีน้ำใจหลั่งไหลเอาของมาให้เยอะแยะมากมายทั้งหน่วยงานภาครัฐเอกชน ประชาชน ต้องขอขอบคุณจริงๆ โชคดีในส่วนของชุมชนเราไม่ได้รับผลกระทบขนาดต้องขาดน้ำขาดอาหาร ได้รับ ผลกระทบแค่ทรัพย์สิน เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ไร่นา สวน บ้านเรือน ฯลฯ หลังน้ำลดทาง อบต.หนองน้ำใส ก็จะต้องมีการสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือประชาชน สำหรับสาเหตุน้ำท่วมหนักหลายคนมีคำถามหรือสงสัยว่า ทำไม? เบื้องต้นตนมองว่า 1.อาจจะเกิดจากพายุเพราะฝนมันตกหนักและต่อเนื่อง นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ 2.ลำห้วยที่ตนเล่าให้ฟังอย่างของ ต.หนองน้ำใส มีลำห้วยประมาณ 4 สายที่จะลงไปหนองบ่อ ซึ่งเป็นบ่อพักน้ำ ตอนที่ตนเป็นนายกฯก็มีการขุดลอกแล้ว ใช้งบประมาณถึง 10 ล้านบาท พอน้ำล้นก็จะไหลลงไปห้วยจิก และลงไปแก่งละว้า แต่ครั้งนี้ลำห้วยอาจจะตื้นเขิน ฝายบางฝายที่ทำไว้ชำรุดมาก พอไหลทะลักมารวมที่บ่อพัก ที่เก็บมวลน้ำขนาดใหญ่ไม่ได้ ก็ไหลลงสู่ห้วยจิกซึ่งห้วยจิกก็มีขนาดแคบพอน้ำหลายสายมารวมที่ห้วยจิก ห้วยจิกรับน้ำไม่ไหวก็ไหลทะลักเข้าท่วมชุมชน บ้านเรือน ไร่นาเสียหาย ถ้าเป็นแบบนี้คงท่วมทุกปี หากไม่มีการแก้ไข
“ผมคิดว่ารัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรวางแผนขุดลอกลำห้วยให้ลึกกว่านี้ เพื่อให้รองรับน้ำได้ ฝายแต่ละฝายจะรองรับน้ำได้เท่าไหร่ ถ้าแก้ไขก็จะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมอีก”

ด้านนายวุฒิชัย ม่วงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านโสกจาน ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่เป็นหนึ่งในอาสาสมัครช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม เล่าว่า พื้นที่ได้รับผลกระทบหนักคือบริเวณตัวเมืองอำเภอบ้านไผ่และบริเวณชุมชนติดห้วยจิก เพราะ “ห้วยจิก” เป็นลำห้วยที่ลำเลียงน้ำไปยังแก่งละว้า ซึ่งมีมวลน้ำมาจากหลายทิศทางทั้ง อ.โนนศิลา อ.เมืองพล อ.ปากปอ อ.บ้านลาน อ.หนองสองห้อง ตำบลในเมืองฝั่ง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม จะไหลมารวมกันบริเวณนี้ เพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภคของคนทั้งอำเภอนอกจากลักษณะภูมิประเทศแล้ว บ้านไผ่ยังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่หลั่งไหลเข้ามาในบ้านไผ่ มีสิ่งปลูกสร้าง รถไฟทางคู่ การขยายตัวของตัวเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้บ้านไผ่เผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมหนัก

“เกือบ 100 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ฝนตกติดต่อกัน 2 วัน จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างฉับพลันช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา บ้านเรือนชาวบ้านจมเกือบมิดหลังคา ข้าวของ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ เสียหายหมด”
ส่วนความช่วยเหลือ มีหน่วยงานจากส่วนงานปกครอง อ.บ้านไผ่ วิทยาลัยการอาชีพ ช่วยซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม กศน.เข้าไปช่วยทำความสะอาด มีโรงทานพระราชทาน ทหาร และมีนาย องอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกกระทรวงคมนาคม หรือ ส.จ.แม็ก อดีต ส.จ.บ้านไผ่ ช่วยประสาน อบจ. ท้องถิ่นท้องที่ ทำสะพานชั่วคราว และ ถมถนนที่ขาด จนบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้

น้ำลด ตอผุด..ปัญหาค้างคา
นายวุฒิชัย กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมหนักและรวดเร็วกว่าทุกครั้งว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการฟ้องร้องเรื่องบ่อบำบัดน้ำเสีย และ ร่องระบายน้ำ จำนวน 150 ล้านบาท ของเทศบาลเมืองบ้านไผ่ ยุค นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ เป็นนายกเทศมนตรีฯ และมีการย้ายปลัดเทศบาลเมืองบ้านไผ่ เนื่องจากชาวบ้านขับไล่เพราะมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าแบบการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เอื้อประโยชน์ต่อผู้รับเหมา โครงการนี้จึงหยุดชะงัก และส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างที่เห็น ซึ่ง กรอ.อำเภอบ้านไผ่และตนกำลังเร่งปรึกษาหารือทางออกของปัญหานี้

นอกจากนี้อำเภอบ้านไผ่ ยังมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่หลายโครงการ ทั้งโรงงานน้ำตาล การกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมรวม 4 พันไร่ รถไฟทางคู่ รถไฟเชื่อมด่านพรหมแดนมุกดาหารและนครพนม คลังน้ำมัน ที่จะนำ รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาวิ่ง สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ชี้ชัดว่า บ้านไผ่จะเกิดน้ำท่วมเช่นนี้อีกแน่นอน  ที่สำคัญ ภาพรวมของการพัฒนาอำเภอบ้านไผ่ ด้านหนึ่งช่วยทำให้ภาคประชาชน กรอ. ผู้ค้า ผู้คนในพื้นที่ตื่นตัวมากขึ้น แต่ด้านหนึ่งการพัฒนาที่กำลังถาโถมเข้ามานั้น ทำให้เกิดการต่อสู้ของคนในพื้นที่กับนโยบายรัฐ ที่ขีดเส้นลงมาตามความต้องการ โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตัวเอง
ดังนั้นคนบ้านไผ่จึงอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้ง ระหว่างการตื่นตัวกับกระแสการพัฒนา และการต่อสู้กับปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา อย่างไม่ต้องสงสัย

ถอดบทเรียนน้ำท่วมบ้านไผ่
นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ด้านหนึ่ง จำเป็นต้องมีการถอดบทเรียนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปี 2562 ให้มีข้อมูลทั้งหมดของผู้ประสบภัย พื้นที่ประสบภัยเท่าไหร่ ครอบครัวจำนวนผู้ประสบภัยเท่าไหร่ แผนที่เดินดินต้องเกิดขึ้น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก เท่าไหร่

“เพราะความพิเศษของชุมชนเมืองคืออยู่ใครอยู่มัน ไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร ไม่เหมือนชุมชนในหมู่บ้านรอบนอกที่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน รู้จักว่าใครเป็นใคร ตรงนี้เรายังไม่มีข้อมูล กว่าจะเข้าไปช่วยเหลือใช้เวลาเกือบ 2 วัน ขนาด ปภ.จังหวัด(สำนักงานปกป้องและบรรเทาสาธารณภัยขอนแก่น) มาอำนวยการยังไม่มีระบบการจัดการเลย ยังไม่รู้ว่ามีเรือกี่ลำจะไปตรงไหน จุดไหน ใครต้องการอะไร เพราะเรายังไม่มีข้อมูลตรงนี้”
การจัดทำข้อมูลพิบัติภัยของพื้นที่จะช่วยให้ระบบสั่งการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที เป็นระบบ และในหลายๆพื้นที่ที่ประสบภัยต้องมีข้อมูลพิบัติภัยชุมชนทุกพื้นที่ หากไม่มีการดำเนินการ ในอนาคตซึ่งจะต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นนี้อีก ก็จะไม่อาจรับมือได้เช่นเคย

“ยิ่งปัจจุบันมีโครงการพัฒนามากมายมายังอำเภอบ้านไผ่ รถไฟทางคู่ สิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกน้ำไหลมารวมกันที่ห้วยจิก และท่วมสูง เนื่องจากมีคนมาสร้างกำแพงกั้นน้ำไว้ไม่ให้น้ำไหลไปไหน ก็ยิ่งจะทำให้น้ำท่วมหนักและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นไปตามธรรมชาติ”
ลักษณะของน้ำท่วมบ้านไผ่จะเปลี่ยนไปและทวีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่มีมาตรการเตรียมการรับมือ หากไม่มีการบูรณาการความร่วมมือวางแผนอย่างเป็นระบบ จะเป็นปัญหาซ้ำซากเหมือนกรณี บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ฝนตกทีไรน้ำจะท่วมบริเวณถนนค่าย ร.8 ไหลลงบึงหนองโคตร ท่วมถนนมลิวรรณ โรงเรียนคนตาบอด ทุกครั้ง

วิเคราะห์ปัญหาและบูรณาการแก้ไข
นายวุฒิชัย เห็นว่า ปัญหาสำคัญคือ หลายๆ หน่วยงาน ยังไม่มีการบูรณาการความร่วมมือกัน ยังแบ่งแยกกันทำงาน ทั้งยังไม่มีการวิเคราะห์ปัญหาออกมาอย่างชัดเจน

“หากถามว่ามีโรงงานแล้วมีประโยชน์ไหม ผมคิดว่าโรงงานจะเปิดรับคนงานเยอะไหม คนงานในไลน์การผลิตเขาเปลี่ยนไปใช้ AI กันหมดแล้ว ส่วนมากเป็นได้แค่ยามเท่านั้น ผู้คนที่เห็นด้วยก็หลงในคำโฆษณาชวนเชื่อว่าจะมีงานทำ เศรษฐกิจดี แต่ลืมมองไปว่า แก่งละว้าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งอาหาร ที่หาปลาได้เยอะมาก จึงควรจะรักษาไว้ไม่ดีกว่าหรือ”

ไฟฟ้าที่โรงงานใช้จะเพียงพอหรือไม่ สุดท้ายโรงงานก็ต้องตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลในบ้านไผ่ และปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวลนี่ยังเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ เพราะมีฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ สร้างผลกระทบให้ผู้ที่อาศัยอยู่รอบๆโรงงานในหลายพื้นที่
พื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำดีดินดี ถูกเปลี่ยนผังเมือง เพื่อเอื้อให้โรงงานมาตั้ง ทำให้แหล่งผลิตอาหารของคนบ้านไผ่ได้รับผลกระทบ การเขียนผังเมืองผู้เขียนไม่ได้คำนึงถึงผู้ที่อยู่อาศัย มักเป็นปัญหาในภายหลัง เช่น ทางลอดรถไฟทางคู่ที่น้ำท่วมมันใช้การไม่ได้ ไม่ตอบโจทย์ชาวบ้าน แต่ทำประชาคมผ่านตลอด เพราะชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเอง ได้รับเพียงข้อมูลที่ฝ่ายทุนป้อนให้บ้านไผ่จะยังคงมีโครงการใหญ่ๆ เรื่อยๆ เพราะทุนดำเนินการมาไกลแล้ว คนบ้านไผ่พึ่งจะมาตื่นตัวช่วงที่มีการถมที่ดินแล้ว จึงออกมาเดินขบวนเรียกร้อง ต่างจากกรณีโรงงานกระทิงแดงที่ อ.อุบลรัตน์ ที่นั่นมีพลังภาคประชาชนที่เข้มแข็งจึงสามารถยับยั้งการรุกรานของกลุ่มทุนได้กรอ.บ้านไผ่เข้มแข็ง พ่อค้า คหบดี ประชาชน มีการรวมตัวกันก็จริง แต่ว่านโยบายบางนโยบาย สนับสนุนและหนุนเสริมเศรษฐกิจ เขาก็ยอมรับได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนบ้านไผ่จัดการตนเองให้ได้ ต้องอยู่ให้ได้ เพราะความเจริญจะมาอีกเยอะ คนบ้านไผ่ต้องมาถอดบทเรียนร่วมกัน

แสดงความคิดเห็น