ผ่านมาหลายเดือนแล้วครับที่รัฐบาลประยุทธ์2 ได้เข้ามาขับเคลื่อนการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการโดยส่งกระบี่มือ1 อย่าง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ มานั่งเบอร์1 โดยเป้าหมายอยู่ที่การปฎิรูปการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเดิมที่คาราคาซังจากรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก ปัญหาอาหารกลางวันเด็ก ปัญหาอำนาจทับซ้อนของเขตพื้นที่การศึกษากับศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ซึ่งต้องยุบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมไปถึงอำนาจทับซ้อนของหน่วยงานต่างๆอันเกิดจากคำสั่ง คสช.หลายฉบับที่ออกมาทับซ้อนกฏหมายการศึกษาหลายฉบับ ซึ่งต้องมีการยกเลิกปรับรื้อใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลชุดคุณหมอมาเป็น รมว.ศธ.ได้ร่างค้างคาเอาไว้ รอสภาชุดใหม่จะเข้ามาพิจารณารอจ่อเข้าสภาผู้แทนชุดนี้ โดย รมว.ศธ.คนใหม่ กำลังนำมาปัดฝุ่นใหม่โดย ให้สภาการศึกษานำไปออกประชาพิจารณ์ อีกรอบหนึ่งอยู่ในขณะนี้
อยากให้บรรดาผู้สนใจช่วยกันติดตามการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ด้วยอย่ากระพริบตา จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
อีกประเด็นหนึ่งที่อยากให้ท่าน รมว.ศธ.คนใหม่ ให้ความสนใจก็คือ การปฎิรูปหลักสูตรใหม่ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถม-มัธยม และระดับอุดมศึกษา ซึ่งในวันนี้ขอยกเอาประเด็นหลักสูตรระดับมัธยม และระดับอุดมศึกษามาสนทนาในฐานะที่ผู้เขียนเองเคยอยู่ในการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานมาก่อน และปัจจุบันได้เข้ามาสู่วงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้วได้มองเห็นจุดอ่อนของปัญหาการศึกษาในระดับมัธยมปลายที่เตรียมตัวเข้าสู่มหาวิทยาลัยในระบบทีแคสที่กำลังสับสนของเด็กที่เตรียมตัวเข้าสู่ระบบ แต่ก็ทราบว่าที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศกำลังปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนแล้วในขณะนี้ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ แต่ในระดับมัธยมซึ่งอยู่ในควบคุมดูแลของท่าน รมว.ศธ.ปัจจุบันต้องหันมาดูแลเพื่อเข้าสู่โหมดปฎิรูปการศึกษาด้านหลักสูตรได้แล้ว
ถ้าหันมาดูหลักสูตรการสอนในระดับมัธยมปลายอยู่ในขณะนี้ของไทยเรามีการจัดให้นักเรียนเลือกเรียนอยู่2สายด้วยกันคือ สายวิทย์-คณิต กับสายศิลป์ โดยสายวิทย์ –คณิต จะเรียนคณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เข้มมากๆ ส่วนสายศิลป์จะแบ่งเป็นศิลป์คำนวณจะเรียนอังกฤษกับคณิต เป็นหลัก สายศิลป์จะเป็นภาษาจะเรียนอังกฤษกับคณิตเป็นหลัก สายศิลป์ภาษาจะเรียนอังกฤษเป็นหลัก และภาษาอื่นๆเช่นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส เป็นต้น ส่วนศิลป์สังคมจะเรียนไทยกับสังคมเป็นหลัก และบางโรงเรียนก็จะมีโปรแกรมพิเศษอื่นๆเข้ามาเสริมตามที่แต่ละโรงเรียนให้ความสนใจอาทิ สายวิทย์+คณิต+คอมพิวเตอร์ หรือ +สถาปัตย์ หรือ+ภาษาต่างประเทศตามที่สนใจเป็นต้น ในขณะที่สายศิลป์ก็จะเพิ่มศิลป์+คำนวณ หรือศิลป์-ญี่ปุ่น ศิลป์-จีน ฯลฯ
ลองหันมาดูประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของการศึกษาอาเซียน และระดับต้นๆของโลกดูว่าเขาปรับหลักสูตรมัธยมศึกษากันอย่างไรแล้ว
ซึ่งจะเห็นจากนี้ไปอีก5ปี สิงคโปร์กำลังเริ่มกระบวนการยกเลิกการแยกสายของนักเรียนชั้นมัธยมที่เคยแยกเป็น Normal Technical , Normal/ Academic และสายExpress จากคะแนนที่วัดได้ในชั้นประถมศึกษาและมัธยมต้น เหตุผลที่ต้องเลิกก็คือระบบนี้มันเป็นการจัดกัดอนาคตของคนรุ่นต่อไป ด้วยกระบวนการชี้วัดที่ไม่ทันสมัยสำหรับโลกปัจจุบัน
ซึ่งระบบเดิมนี้ใช้มากกว่า 40 ปีแล้ว และโจทย์เปลี่ยนไปแล้ว อันเป็นการส่งผลให้เด็กๆได้รับการดูแลด้านการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน และไม่มีโอกาสที่สองในการเปลี่ยนการศึกษาของตัวเอง (Kvuvice .com) การเขี่ยเด็กให้ไปอยู่คนละสายเร็วเกินไปอาจจะเคยตอบโจทย์โลกยุคอุตสาหกรรม ที่ต้องผลิตคนเข้าระบบ แต่นั้นก็สร้างปัญหาขึ้นมากมาย เช่นมองว่า เด็กที่ถูกประเมินว่าไม่เก่งจะถูกส่งไปเรียนสายที่ไม่เก่งเพื่อสร้างทักษะแบบหนึ่งขึ้นมาตามมุมมองและความต้องการของอุตสาหกรรม ทำให้เด็กสร้างสิ่งแวดล้อม มาแบบหนึ่ง เพราะคิดเสมอว่าฉันเรียนไม่เก่งทั้งๆที่เขาอาจจะแค่พยายามไม่เต็มที่หรืออาจแค่ทำข้อสอบไม่ดีในตอนเด็ก
สิงคโปร์ไม่ต้องการทิ้งคนให้หลงอยู่ในสายการศึกษา ที่แยกระดับสติปัญญาด้วยการสอบไม่กี่ครั้งแบบนั้นได้อีกต่อไป พวกเขาต้องการเปิดโอกาสให้คนเลือกเรียนได้เองสามารถข้ามสาย หรือเปลี่ยนสายความรู้ที่สนใจได้ตลอดเวลา เปิดกว้างให้คนได้เลือกสิ่งที่อยากรู้ด้วยตนเอง พยายามทำลายโครงสร้างหลักสูตรเดิม เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่คล่องตัวมากขึ้นเสมอ พยายามทำให้คนไม่ยึดติดกับสถานะหรือดีกรี ซึ่งน่าจะถึงเวลาแล้วหรือยังที่โครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาไทยยุคปัจจุบันซึ่งใช้มาหลายสิบปีแลจะมีการปฎิรูปใหม่ในยุครัฐบาลประยุทธ์2กับรมว.ศธ.คนใหม่ที่ชื่อ ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ
บทความ-ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว ประธานสภาสหภาพครูแห่งชาติ