“การพัฒนาใครๆ ก็ทำได้” เป็นความคิดความเชื่อพื้นฐานของหน่วยงานและคนโดยทั่วไป ทำให้เวลาหน่วยงานต่างๆ รับบัณฑิตไปทำงานจึงมักจะรับคนจบปริญญาตรีทุกสาขาวิชา ไม่รับเฉพาะบัณฑิตที่จบสาขาการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคมโดยตรง ทำให้การพัฒนายังไม่ตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ท้องถิ่นและสังคม
การที่เราแปลคำว่า “การพัฒนา” คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เจริญเติบโตขึ้น ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), เทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จึงเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก
“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” เป็นคำขวัญ/วิสัยทัศน์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งนโยบายแจกแถมแหลกทั้งเงินและสิ่งของ ในรูปนโยบาย/โครงการประชานิยม/ประชารัฐ
แน่นอนว่าทุกหมู่บ้าน/ชุมชน สภาพในเมืองทุกเมือง เริ่มเจริญเติบโตทางกายภาพมากขึ้นๆ บ้านเรือนดีขึ้น ถนนดีขึ้น น้ำประปา ไฟฟ้า ข้าวของเครื่องใช้ ส้วมดีขึ้น ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเริ่มเสื่อมโทรมลง ภาวะความยากจน หนี้สินเพิ่มขึ้นๆ
สุขภาพร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มขึ้นๆ สุขภาพจิตใจมีภาวะซึมเศร้า ความเครียด จนเกิดการฆ่าตัวตายมากขึ้นๆ
สุขภาพสังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยกทางความคิด ตั้งแต่การเมืองในรัฐสภา ในองค์กร/หน่วยงานและในชุมชนต่างๆ
สุขภาพทางปัญญายังไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้คิดเป็นวิเคราะห์เป็นทำเป็นมีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆได้
ขณะเดียวกันภาคธุรกิจ ที่มีปรัชญากำไรสูงสุดในการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว พาณิชยกรรม การบริการ เทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ ต่างพากันแย่งชิงทรัพยากรทั้งที่ดิน ทรัพย์สิน เงินทอง จากชุมชนและพากันร่ำรวยมากขึ้นๆ
แม้ว่าจะมีความพยายามออกนโยบายและกฎหมายให้ภาคธุรกิจ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและทำธุรกิจโดยไม่ทำลาย คุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ภาคธุรกิจทำได้บ้างไม่ได้บ้าง
เมื่อภาคธุรกิจบางส่วนต้องการช่วยเหลือสังคม สิ่งที่เป็นวิสัยทัศน์และการปฏิบัติยังเน้นการทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์ที่เน้นรูปธรรม เช่น การก่อสร้างต่างๆ การให้ทุนการศึกษา การสร้างบ้าน การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นครั้งคราวด้วยการบริจาค เป็นต้น และยังลงทุนเพื่อการตลาดและกำไรอยู่ดี มีน้อยมากที่ภาคธุรกิจจะทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเอากำไรส่วนเกินมาช่วยชาวบ้านจริงๆโดยไม่หวังผลประโยชน์กลับคืน
ลักษณะของภาครัฐและเอกชน จึงเป็น “การให้ปลาเพื่อกินเป็นมื้อๆไป ไม่ใช่ให้เบ็ดที่สอนวิธีหาปลาให้สามารถทำกินได้อย่างยั่งยืน” ด้วยเหตุนี้จึงมีภาคประชาสังคมเกิดขึ้นและมีพัฒนาการทั้งเพื่อเสริมงานของรัฐ ท้องถิ่น ภาคธุรกิจ รวมทั้งทำงานอุดช่องว่างที่หน่วยงานอื่นๆอื่นทำงานไปไม่ทั่วถึง และบางส่วนเสนอนโยบาย/กฎหมายทางเลือกใหม่ๆที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาบ้านเมืองให้ดีขึ้น
ภาคประชาสังคม จึงมีความพยายามสร้างวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์การทำงานที่เน้นชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเอง มีส่วนร่วมวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ แนวทางและมรรควิธีที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน รวมทั้งนำเสนอทางเลือกใหม่ๆให้กับสังคม ในลักษณะการให้เบ็ดสำคัญกว่าการให้ปลา
บทความ-ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก นายกสมาคมพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคม