องค์ประกอบของความเข้มแข็งในความเป็นประชาสังคม จะพิจารณาจาก แกนนำ, กลไกการรวมตัวกัน, การมีส่วนร่วมของสมาชิก, กิจกรรมร่วม, งบประมาณภายในและภายนอก, การสื่อสารภายในและสาธารณะ
1. แกนนำ กลุ่มที่มาเป็นแกนนำ มีที่มาอยู่ 4 แบบ ได้แก่
– แกนนำแบบเอ็นจีโอบางส่วน ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองมาเรียกเป็นประชาสังคม จากการที่สังคมไม่ยอมรับบทบาทความเคลื่อนไหวที่ต่อสู้ใกล้ชิดปัญหาชาวบ้าน ความไม่เป็นธรรม การแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชน ความเหลื่อมล้ำและไร้อำนาจ ขณะที่ชุมชนยากลำบากมากขึ้นๆ และขาดแคลนทรัพยากรเงินทุน ด้วยต่างประเทศได้ถอนตัวออกจากประเทศไทยไปสนับสนุนประเทศอื่นๆ เพราะรัฐบาลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันประกาศเป็นประเทศที่เจริญแล้ว สามารถใช้เงินพัฒนาประเทศด้วยตนเอง ไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ทำให้เอ็นจีโอทำงานยากลำบากและต้องอาศัยทุนทางสังคมของตนเอง
การที่เอ็นจีโอ ในจังหวัดเชียงใหม่และสุรินทร์ เป็นประชาสังคม ทำให้การทำงานขยายภาคีเครือข่ายได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สามารถร่วมเวทีและทำงานร่วมกันได้มากขึ้น รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการต่างๆก็มักจะมีสัดส่วนของประชาสังคมเข้าไปร่วมเป็นกรรมการตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด จนถึงระดับชาติ
ในระดับชาติการปรับตัวมาเรียกเป็นประชาสังคมและพยายามผลักดันให้มีพระราชบัญญัติประชาสังคม เพื่อนำเงินกำไรจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาสนับสนุนการทำงานประชาสังคม จึงเป็นความเคลื่อนไหวผลักดันทางกฎหมายที่ยังต่อผลักดันทางนโยบายต่อไป
แกนนำแบบผู้นำชุมชนที่มีการรวมตัวกันตั้งแต่ในระดับพื้นที่จนถึงจังหวัด โดยมีสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แทบทุกตำบลในแต่ละจังหวัด แล้วขยายความร่วมมือกับเอ็นจีโอ ภาครัฐและภาคธุรกิจ ทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน จังหวัดพะเยา เป็นตัวอย่างที่ดีของแกนนำประชาสังคมในรูปแบบนี้
-แกนนำแบบนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ที่ต้องการทำงานวิจัยและพัฒนา การบริการวิชาการ/สังคม และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามแก่ชุมชนและสังคม นอกเหนือจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จึงออกมาจากมหาวิทยาลัยร่วมขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคม โดยใช้ความเป็นวิชาการมาหนุนเสริมขบวนการประชาสังคมที่ทำงานกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนให้เข้มแข็งมากขึ้น ตัวอย่าง จังหวัดนครปฐม เป็นพลังขับเคลื่อนที่ส่งผลสะเทือนหลายๆเรื่องในจังหวัดอย่างมาก
– แกนนำแบบกึ่งภาครัฐ โดยเหตุที่แกนนำทำงานในองค์การมหาชนที่มีลักษณะเป็นองค์กรกึ่งภาครัฐ แต่รู้ข้อจำกัดของระบบราชการและระเบียบต่างๆเป็นอย่างดี จึงพยายามจะทลายกรอบขั้นตอนในระบบ ออกมาร่วมผลักดันงานสร้างสรรค์ต่างๆเพื่อเสริมงานภาครัฐและภาคประชาชนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น จังหวัดนครสวรรค์ มีแกนนำจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต มาเป็นผู้นำหลักร่วมขับเคลื่อนกับนักวิชาการ นักธุรกิจ ประชาสังคมและประชาชนในจังหวัด ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างแข็งขันเอาการเอางาน เป็นต้น
แกนนำทุกแบบ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่เป็นนักประสานงาน มีความคิดเชิงบวก สามารถทำงานกับคนทุกกลุ่มได้ รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น สามารถสรุปประเด็นและมติจนขับเคลื่อนภาคประชาสังคมไปข้างหน้าได้ มีประวัติการทำงานเพื่อชุมชน ท้องถิ่นและสังคมมาอย่างยาวนานจนเป็นที่ยอมรับของสาธารณะ จึงเป็นที่ไว้วางใจในการทำงานร่วมกัน
2. กลไกการทำงานประชาสังคม ลักษณะของกลไกภาคประชาสังคมมักเริ่มต้นจากกลุ่ม/องค์กรแบบหลวมๆ ไม่เป็นทางการ ด้วยต้องการความอิสระ คล่องตัวในการทำงาน ไม่ติดยศตำแหน่งที่สวมหัวโขนมาใช้ในการทำงาน จังหวัดที่ยังคงเอกลักษณ์ เช่นนี้คือ สภาพลเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สุรินทร์ และรักจังสตูล โดยเมื่อต้องรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานส่วนกลาง/ส่วนราชการ ก็มักจะขอความร่วมมือกับมูลนิธิหรือสมาคมในจังหวัดรับทุนสนับสนุนโครงการส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด สมาคมเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา , สมาคมพัฒนาชุมชนยั่งยืนนครสวรรค์ และและสมาคมศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชน นครปฐม จังหวัดเหล่านี้มีการปรับตัวจดทะเบียนเป็นสมาคมเพื่อร่วมมือกับหน่วยงานส่วนกลางที่มาสนับสนุนงบประมาณในจังหวัด ด้วยข้อจำกัดที่จะสนับสนุนงบประมาณได้เฉพาะกลุ่ม/องค์กรที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้เท่านั้น กลไกเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน เลขานุการ การจัดทำโครงการ รายงาน บัญชีการเงินและงานบริหารจัดการต่างๆ ร่วมกับแกนนำประชาสังคม
โดย:ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น