กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห่วง ผวจ.อุดรฯ ปลุกผี เหมืองแร่โปแตชฯ ระบุราชการต้องอยู่ข้างประชาชนชนไม่ใช่นายทุน
รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 25 ธ.ค. 62 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ออกแถลงการณ์ถึงความห่วงกังวลกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตซ อำเภอประจักษ์ศิลปาคมและอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และได้มีการติดตาม ตรวจสอบ และยืนหยัดคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซ ตามครรลองแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ หลักการสิทธิมนุษยชนสากล และอำนาจอันชอบธรรมแห่งสิทธิชุมชน มาตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อปี 2556 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนรายงานการไต่สวน และกระบวนการที่ต่อเนื่องจากรายงานการไต่สวน
ประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ใต้ดินที่ 1-4/2557 จำนวน 4 แปลง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานี มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.2/2556 คดีหมายเลขแดงที่ ส.6/2556 ว่า การทำรายงานการไต่สวนพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน จำนวน 4 แปลงนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงเห็นควรให้เพิกถอนรายงานการไต่สวนทั้ง 4 ฉบับ และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ดำเนินการพิจารณาคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดิน ทั้ง 4 แปลง ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมายแร่ พ.ศ.2560
แต่ถึงกระนั้นแล้ว ผู้ว่าราชการอุดรธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล และไม่แสดงความจริงใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม อีกทั้งยังมีพฤติกรรมปิดบังซ่อนเร้น เข้าทำนองลักไก่ ปลุกผี เหมืองโปแตซให้เกิดขึ้นอย่างรีบเร่ง โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เห็นได้จากการหมกเม็ดจัดประชุมคณะกรรมการจัดการประชุมปรึกษาเบื้องต้นครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี คณะกรรมการฯตามคำสั่ง กพร.ที่ 244/2562 คำสั่ง กพร.ที่ 285/2562 พร้อมด้วยข้าราชการที่เกี่ยวข้องจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งการประชุมดังกล่าวชี้ให้เห็นความพยายามที่จะนำไปสู่การปลดล็อคเงื่อนไขการพิจารณาคำขอประทานบัตรในลักษณะการรวบรัดตัดตอนกระบวนการพิจารณาฯ ให้มาตั้งต้นกระบวนการกันตามมาตรา 83 ในกฎหมายแร่ พ.ศ.2560 เพื่อหลบเร้นการแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในรายงานการไต่สวนพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลง และกระบวนการที่ต่อเนื่องมาจากรายงานฯ รวมถึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปพร้อมกับรายงานการไต่สวนฯที่บกพร่องหมดความชอบธรรม
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จึงขอคัดค้านความพยายามที่จะตั้งต้นเริ่มกระบวนการพิจารณาคำขอประทานบัตรฯตามมาตรา 83 ในกฎหมายแร่ พ.ศ.2560 อย่างสิ้นเชิง และขอประณามการกระทำที่หมกเม็ดซ่อนเร้นของผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พยามยามบิดเบือนและพรากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม ตลอดจนความพยายามในการลักไก่ ปลุกผี เหมืองโปแตซอุดรเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนโดยมองไม่เห็นหัวประชาชน
สุดท้ายนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ขอเสนอข้อเรียกร้องเพื่อหลีกเลี่ยงบรรยากาศที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในอนาคต ดังนี้ 1) ให้มีการดำเนินการพิจารณาคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดินกันใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมาย โดยเริ่มต้น ตามมาตรา 82 ในกฎหมายแร่ พ.ศ.2560 แทนมาตรา 83 ที่เข้าข่ายรวบรัดตัดตอนขั้นตอนตามกฎหมาย 2) จัดทำรายงานการรังวัดปักหมุดและรายงานการไต่สวนพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 4 แปลง ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่มีข้อมูลและรายละเอียดสาระสำคัญที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ 3) ให้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 4) ให้หน่วยงานราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องวางตัวเป็นกลางและเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ด้วยจิตคารวะ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ลงวันที่ 25 ธ.ค. 62