ฮู้(รู้)จัก “คริสมาสต์/ปีใหม่” กะอย่าซะลืมคองเก่าฮีตเดือนยี่ “บุญคูนลาน”

ใกล้สิ้นปีและย่างเข้าปีใหม่ของทุกๆปี ผู้คนมักจะตื่นเต้นกับวันสำคัญทั้งคริสมาสต์และปีใหม่ รวมทั้งคนอีสานด้วย อย่างไรก็ตามวันสำคัญหนึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนอีสานอย่างบุญเดือนยี่ บุญคูนลาน หรือบุญกุ้มข้าวใหญ่ เพื่อรับขวัญข้าวตรงกับสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมทุกปี ก็เป็นวันสำคัญที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเมื่อคนอีสานดำรงชีวิตพึ่งพาการทำนาและมีข้าวเป็นอาหารหลัก “อีสานบิซ” จึงนำเรื่องราวเกี่ยวกับวันสำคัญนี้มาเล่าสู่ฟัง

“ฮีตหนึ่งนั้น พอแต่เดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้ อย่าได้ไลคองนี้ มันสิสูญเสียเปล่า ข้าวและของหมู่นั้นสิหายเสี่ยงบ่ยัง

จงให้ฟังคองนี้แนวกลอนเฮาบอก อย่าเอาใด ดอกแท้เข็นฮ้ายแล่นเถิงเจ้าเอย”

จุดมุ่งหมายของการทำบุญประเพณี “บุญคูนลาน” ก็เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในลานของตน และเพื่อเป็นการขออานิสงส์ต่างๆ การสู่ขวัญข้าวจะกระทำที่ลานนา หรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก หลังการสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นเล้า (ยุ้ง/ฉาง) ก่อนการขนข้าวขึ้นเล้า เจ้าของข้าวจะต้องไปเก็บเอาใบคูนและใบยอเสียบไว้ที่เสาเล้าทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับว่า ขอให้ค้ำคูณ ยอๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวพร้อมทั้งแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย

boon koon lan 01

ภาพจาก https://www.isangate.com/new/31-art-culture/tradition/316-heet-m2.html

ตามธรรมเนียมประเพณีของอีสานบ้านเฮาหรือ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เมื่อถึงเวลาเดือนยี่ หรือเดือนสอง จะมีพิธีหรือมีบุญประเพณี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวนา คือ “บุญคูนลาน” ความหมายของคำว่า “คูน” หมายความว่าเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้นนั่นเอง ส่วนคำว่า “ลาน” คือสถานที่ลานกว้างสำหรับนวดข้าว (ดั้งเดิมจะเลือกทำเลเนินดินสูงใกล้เถียงนา ถากดินให้เรียบ แล้วนำมูลขี้ควายมาเทผสมน้ำ กวาดให้เรียบสำหรับกองฟ่อนข้าว และมีบริเวณสำหรับการนวดข้าวด้านหน้า) การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูนลาน” การทำประเพณีบุญคูณลาน กำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำ เพราะกำหนดเอาเดือนยี่นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุญเดือนยี่”ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนผญาอีสานสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

“ถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล
เอาบุญคูนข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ”

การทำบุญคูนลานนี้ หลายๆ หมู้บ้านอาจจะทำในเวลาที่ไม่ตรงกัน เพราะว่าการเก็บเกี่ยวข้าวอาจจะใช้เวลามากน้อยต่างกัน ตามพื้นที่การทำนาและแรงงานที่มี แต่จะทำในช่วงเดือนสอง หรือตรงกับช่วงเดือนมกราคม มูลเหตุที่จะมีการทำบุญชนิดนี้นั้นเนื่องจาก ผู้ใดทำนาได้ข้าวมากๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉาง ก็อยากจะทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป

boon koon lan 02

ภาพจาก https://www.isangate.com/new/31-art-culture/tradition/316-heet-m2.html

ก่อนทำบุญคูนลาน มีประเพณีของชาวอีสานบางแห่ง ปฏิบัติการบางอย่างที่เรียกว่า ไปเอาหลัวเอาฟืน โดยชาวบ้านจะกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งในช่วงเดือนยี่ ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้ว ก็จะพากันไปเอาหลัวเอาฟืนมาเตรียมไว้ สำหรับก่อไฟหุงต้มอาหารบ้าง ใช้สำหรับก่อไฟผิงหนาวบ้าง สำหรับให้สาวๆ ก่อไฟปั่นฝ้ายตามลานบ้าน (ลงข่วง) (คำว่า “หลัว” หมายถึง ไม้ไผ่ที่ตายแล้ว เอามาใช้เป็นฟืน และอาจหมายถึงไม้แห้งที่มีแก่นแข็งทุกชนิด เพื่อใช้ทำฟืนก่อไฟโดยทั่วไป)

ในการทำบุญคูนลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอม ไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว เมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นก็จะนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงดูญาติพี่น้องลูกหลาน และผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาร่วมในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนา เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

boon koon lan 03

ภาพจาก https://www.isangate.com/new/31-art-culture/tradition/316-heet-m2.html

ในปัจจุบันนี้ “บุญคูนลาน” ค่อยๆ จางเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติปฏิบัติกัน กอร์ปกับในทุกวันนี้ ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จและมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบ และในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมาก จึงทำให้ประเพณีคูนลานนี้เลือนหายไป (ขืนรอช้ากองข้าวไว้ล่อตาโจร ข้าวหายไปกับสายลมอีก) แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญ โดยนำข้าวเปลือกมากองรวมกันในสถานที่ส่วนรวม (ลานกลางหมู่บ้าน หรือลานวัด) เรียก “กุ้มข้าวใหญ่” ซึ่งจะเรียกว่า “บุญกุ้มข้าวใหญ่” แทน “บุญคูณลาน” ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ให้เหมาะกับกาลสมัย

boon koon lan 04

ภาพจาก https://www.isangate.com/new/31-art-culture/tradition/316-heet-m2.html

อุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมสำหรับพิธีกรรม มีดังนี้

  1. ใบคูน ใบยอ อย่างละ 7 ใบ, ยาสูบ 4 มวน, หมาก 4 คำ
  2. ไข่ 1 ฟอง, ข้าวต้ม 1 มัด, มัน 1 หัว, น้ำ 1 ขัน, เผือก 1 หัว
  3. ขัน 5 ดอกไม้ ธูปเทียน
  4. เขาควายหรือเขาวัว 1 คู่

เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุอุปกรณ์ (ข้อ 1-3) ลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า “ขวัญข้าว” เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณีออกจากลาน และบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว 1 คู่ ไม้สน 1 อัน คันหลาว 1 อัน มัดข้าว 1 มัด ขัดตาแหลว 1 อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า “ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไป ลูกหลานจะนวดข้าว จะเหยียบย่ำ อย่าได้โกรธเคืองหรืออย่าให้บาป” อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอม (กองข้าว) ออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี

boon koon lan 05

ภาพจาก https://www.isangate.com/new/31-art-culture/tradition/316-heet-m2.ht

ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง 4 มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าว พันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว แล้วโยงมายังพระพุทธรูป ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว

ที่มาของข้อมูล https://www.isangate.com/new/31-art-culture/tradition/316-heet-m2.html

แสดงความคิดเห็น