ชลประทานเร่งวางมาตรการลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์วางมาตรการลดการใช้น้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำย้อนกลับดึงน้ำจากเขื่อนลำปาวเติมหน้าเขื่อนวังยาง ช่วยประปามหาสารคาม
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพลรอง อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ด้วยการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาวสูบย้อนกลับไปเติมหน้าเขื่อนวังยาง ช่วยเหลือการประปามหาสารคาม คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้กว่า 6 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ เดิมจะมีการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ระบายลงลำน้ำพองผ่านฝายหนองหวาย ก่อนจะไหลลงแม่น้ำชีผ่านเขื่อนมหาสารคาม เข้าไปเติมบริเวณหน้าเขื่อนวังยาง ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งไปสนับสนุนการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม ประมาณวันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละ 1-2 เซนติเมตร
ในขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จะระบายน้ำลงสู่ลำปาวก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำชี บริเวณเหนือเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งจะควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ที่ระดับ +131 ม.รทก.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ปัจจุบันสำนักเครื่องจักรกล ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบสูบย้อนกลับได้ เป็นเครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า submersible จำนวน 6 เครื่อง อัตราการสูบประมาณวันละ 180,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการสูบน้ำย้อนกลับประมาณ 35 วัน เริ่มสูบประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป
คาดว่าจะทำให้หน้าเขื่อนวังยาง สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนเมืองมหาสารคาม ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563 จากแนวทางดังกล่าวข้างต้น จะสามารถลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ประมาณวันละ 50,000 ลบ.ม. รวมประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำหน้าเขื่อนวังยาง เพื่อรักษาระดับน้ำที่จะใช้อุปโภคบริโภค ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ดบางส่วน ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้