ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า รัฐบาลแก้ปัญหาภัยแล้งโดยอนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาทเพื่อเจาะบาดาล 500 บ่อ คำนวณแล้วตกบ่อละ 6 ล้านบาท ตนได้สัมภาษณ์ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ถือว่าแห้งแล้งที่สุดในประเทศไทย คือหมู่บ้านในเขตอำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เป็นใจกลางของทุ่งกุลาหมู่บ้านแห่งนี้มีการเจาะบาดาลทั้งจากภาครัฐและชาวบ้านเจาะเอง ทั้งหมู่บ้านทุกครัวเรือนมีบ่อบาดาลของตนเอง บางครัวเรือนมีถึง 2 บ่อ โดยชาวบ้านเจาะกันเองด้วยการจ้างช่างในหมู้บ้านที่รับจ้างเจาะบาดาลถึง 3 ราย ขณะที่ภาครัฐมาเจาะบ่อบาดาลในหมู่บ้านถึง 7 บ่อ
ความต่างกันมีดังนี้ครับ
1.ราคาเจาะบ่อบาดาลของชาวบ้านตกบ่อละ 30,000 บาท ค่าจ้างเจาะ 9,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าวัสดุเช่นท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว และปั้มแบบจุ่ม (submerge) หากใช้ปั้มแบบจุ่มยี่ห้อดีแพงมากๆ รวมทั้งหมดแล้วไม่เกินบ่อละ 39,000 บาท
ส่วนของรัฐบาลชาวบ้านไม่มีข้อมูล แต่หากดูงบประมาณที่รัฐบาลใช้ล่าสุดตกบ่อละ 6 ล้านครับ เทียบดูครับว่าราคาค่าเจาะต่างกันขนาดไหน
เมื่อพูดถึงต้นทุนที่ต่างกัน ช่างที่เจาะบาดาลบอกว่ารัฐบาลคงเจาะบาดาลบนภูเขา รัฐบาลก็คงต้องตอบหละครับว่าทำไมราคาการขุดเจาะถึงแพงขนาดนั้น
2.บ่อบาดาลที่ขุด บ่อของชาวบ้านใช้ได้ทุกบ่อ บ่อไหนใช้ไม่ได้ ช่างเจาะใหม่ ส่วนบ่อบาดาลที่หน่วยงานรัฐมาเจาะ ทั้งหมดใช้ไม่ได้แม้แต่บ่อเดียว
ทำไมใช้ไม่ได้
ช่างเจาะบาดาลบอกว่าหน่วยงานรัฐที่มาเจาะเน้นแต่เจาะให้เจอน้ำมากๆ เมื่อเจอน้ำมาก แรงดันน้ำสูง ท่อแตก หรือไม่ก็มีดินทรายมาอุดจนบ่อใช้ไม่ได้ ทุกวันนี้บางบ่อยังมีปั้มน้ำแบบจุ่มคาอยู่ในบ่อ ทิ้งไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลาหลายปี ผู้นำชุมชนบอกว่ากำลังเจรจาเพื่อเอาปั้มแบบจุ่มมาใช้ประโยชน์
ส่วนการเจาะของชาวบ้านอาศัยความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์ ต้องดูว่าเป็นดินเหนียวหรือดินทราย ถ้าไม่มีความรู้เรื่องดิน เจาะลงไปเจอน้ำมากก็จริง แต่บ่อจะตันและใช้การไม่ได้เพราะดินมาอุดตันหรือไม่ก็ท่อแตก
3.ถ้าจะเจาะให้ลึกจะได้น้ำเยอะๆ จริงหรือไม่
ช่างขุดเจาะบาดาลบอกว่าเจาะลึกก็ไม่ได้มีประโยชน์ หลายจุดเจาะไปสิบกว่าเมตรก็เจอน้ำเค็มแล้ว ที่หมู่บ้านแห่งนี้เจาะลึกถึง 50 เมตรก็เจอน้ำเค็ม อีสานจึงเจาะบ่อบาดาลไม่ได้ทุกที่
บ่อบาดาลของรัฐนอกจากแพงลิบแล้ว ยังเป็นบ่อที่ใช้ไม่ได้และกลายเป็นบ่อร้างด้วยครับ
ภาพ การขุดบ่อบาดาลที่ชาวบ้านจ้างช่างมาเจาะ โดยเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา