น่าตกใจ ‘บึงสีฐาน’ PM 2.5 สูงสุดในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

น่าตกใจ ‘บึงสีฐาน’ PM 2.5 สูงสุดในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จัดอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพเลี่ยงออกกำลังกาย พร้อมเร่งพัฒนาเซ็นเซอร์ สร้างฐานข้อมูลสารสนเทศเรียลไทม์แก้วิกฤต

วันที่ 4 ก.พ. 63 ณ ห้องประชุมคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “กู้วิกฤต PM 2.5 ด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี” เพื่อทบทวนสถานการณ์ปัญหาฝุ่นพิษ ภายในการเสวนา นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 อธิบายว่า ตามสถิติของปี 62 จังหวัดขอนแก่นมีคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจำนวน 7 วัน และ คุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 88 วัน รวมทั้งสิ้นแล้วคนขอนแก่นต้องอาศัยอยู่ในคุณภาพอากาศย่ำแย่ประมาณ 3 เดือนต่อ 1 ปี นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนขอนแก่น

นายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ยืนยันผ่านผลงานการวิจัยของโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ CKDNET และคณะวิจัย ว่าฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 ส่งผลต่อการเจ็บป่วยและอวัยวะภายในของประชาชน โดยจะส่งผลกระทบต่อปอดสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 49 รองลงมาเป็นไตร้อยละ 29 หัวใจร้อยละ 25 และสมองร้อยละ 24 ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือด ฯลฯ และ หญิงมีครรภ์ที่จะส่งผลต่อเด็ก เป็นต้น

รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับ รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศร่วมกันนักศึกษาในเขตเทศบาลนครขอนแก่นจำนวน 4 จุดหลัก คือ บึงสีฐาน (สวนสาธารณะ) ศูนย์อาหารคอมเพล็กซ์ มข.  สวนรัชดานุสรณ์ และ ใน สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อค้นหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต พบว่า ที่บึงสีฐาน มีค่าฝุ่น pm2.5 และมีการปนเปื้อนโลหะหนัก ตะกั่วมากที่สุด จัดอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ส่วนที่ศูนย์อาหารคอมเพล็กซ์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบแคดเมียม สารหนู ทองแดงสูงที่สุด ส่วนสาเหตุที่บึงสีฐานมีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงสุดคาดว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่ต่ำและมีสภาพเป็นแอ่ง ทำให้มีสภาพอากาศปิดจากด้านบนและมีปริมาณฝุ่นสูงสุด

“บริเวณใกล้เคียงกับจุดนี้มีทั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาอยู่ในจุดนี้ด้วย รวมถึงบึงสีฐานเป็นจุดที่มีประชาชน นักศึกษา มาออกกำลังกายมากที่สุดในจังหวัดจึงอยากจะแจ้งเตือนให้ระวังและป้องกันเรื่องนี้” รศ.ดร.พรพรรณ กล่าว

ด้าน ดร.กิตต์ เธียรธโนปจัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ  และ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ทำเว็บไซต์ชื่อ  sensors.kku.ac.th /pm/   และเครื่องวัดคุณภาพอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 1 , 2 .5 , 4 และ 10  ในราคาถูก รวมประกอบพร้อมใช้ราคาอยู่ที่ 4,000 บาท เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาในภาคอีสานมีเพียงเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษราคา 10 ล้านบาทเพียง 1 เครื่อง ในจังหวัดขอนแก่นและมีอีก 2 เครื่องตั้งอยู่ที่ จ.เลยและนครราชสีมา และมีรถวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ตั้งจ.มุกดาหาร

เครื่องที่ผลิตขึ้นมาใหม่เป็นหนึ่งในแนวทางนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลฝุ่นแบบเรียลไทม์ ทว่าวัดได้เพียงค่า PM ไม่สามารถวัดคุณภาพอากาศด้านอื่นๆอย่างครบถ้วน โดยได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2562 มีความแม่นยำสูงเทียบเคียงอุปกรณ์หลักล้าน ปัจจุบันติดตั้งจำนวน  20 จุด ในเมืองขอนแก่น เพื่อช่วยเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศให้คณะวิจัยศึกษาได้ง่ายขึ้น ส่วนการแจ้งเตือนสามารถเข้าไปยัง URL sensors.kku.ac.th/pm/

ดร.กิตต์ กล่าวอีกว่า คณะวิจัยได้มีการเตรียมการขยายจุดวัดฝุ่นในพื้นที่อื่นๆ เพื่อแจ้งเตือนประชาชน ปัจจุบัน บึงสีฐานซึ่งสถานที่ออกกำลังกายภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีระดับ  PM 2.5 สูงสุดในเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของทีมสำรวจคุณภาพอากาศของรศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู และคณะ พบว่า บึงสีฐาน มีคุณภาพอากาศต่ำสุดในเขตเทศบาลนครขอนแก่นนั้นเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างตรงกัน

 

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น