- “ผศ.ดร.วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ” ชี้ปีการผลิต 61/62 ไทยมีใบอ้อย 10 ล้านตันมีธาตุอาหารเทียบเท่าปุ๋ยเคมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท แนะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ลดต้นทุน ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5
วันที่ 8 ก.พ. 63 ผศ.ดร.วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยกับ “อีสานบิซ” ถึง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการเผา ว่า เมื่อชาวไร่อ้อยถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุวิกฤต PM 2.5 ตนได้ติดตามหลายเพจทั้ง #คนขอนแก่น #ขอนแก่นร้องเรียนอะไรบอกไว้ตรงนี้ และเป็นสมาชิกในเพจ #นักวิชาการอ้อย
ตนขออธิบายเรื่อง #ทำไมต้องเผาอ้อย เกษตรกรเขาเผาทำไม #และถ้าไม่เผา #เราจะจัดการกับเศษซากอ้อยอย่างไร ตนติดตามสถานการณ์ PM 2.5 ตั้งแต่ค่าเกินมาตรฐานใน กทม. จนวันนี้อยู่ร่วมในสถานการณ์เพราะ จ.ขอนแก่น พบค่าดังกล่าวสูงที่สุดในประเทศไทย จริงๆแล้วสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 นั้นมาจากหลายกิจกรรม และการเผาในที่โล่งแจ้งนับเป็นกว่า 50% ของทั้งหมด การเผาในที่โล่ง รวมถึงการเผาขยะและการเผาอ้อย ตัวเลขบอกเราว่าจริงๆแล้วการเผาอ้อยนั้นมีส่วนในปรากฏการณ์นี้ ทว่ายังไม่มีข้อมูลว่าแท้จริงแล้ว มีส่วนร่วมเท่าไหร่ที่แน่ชัด
ก่อนอื่นขอพูดถึง ประเด็นที่ว่า #ถ้าไม่เผาอ้อย #เราจะจัดการกับเศษซากอ้อยอย่างไร ใบอ้อยนั้นมีธาตุอาหารอยู่ไม่ว่าจะเป็นไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารตัวอื่นๆ จากการคำนวณหากเราผลผลิตอ้อยรวมทั้งประเทศ 100 ล้านตัน คิดเป็นชีวมวลใบอ้อยประมาณ 10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเทียบเท่าปุ๋ยเคมีกว่าพันล้านบาท นั้นคือมูลค่าที่หายไปถ้าใบอ้อยถูกเผา (ตัวเลขนี้คำนวณไว้ตามฐานข้อมูลปี 2555) การคืนใบอ้อยลงดินจะเพิ่มธาตุอาหารในดิน ซึ่งดินในภาคอีสานนั้น โดยพื้นฐานอินทรียวัตถุอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในประเทศ (ต่ำกว่า 1.5% OM และบางพื้นที่ ต่ำกว่า 1% ไปจนถึงต่ำกว่า 0.5%) และธาตุอาหารจะเป็นประโยชน์เมื่อใบอ้อย ย่อยสลายแล้ว
แต่ใบอ้อยย่อยสลายยาก (มีค่า C:N ratio สูงกว่า 100 ย่อยสลายยากกว่าฟางข้าว) ถ้าทิ้งไว้บนแปลงจะเป็นอุปสรรคอย่างมากเมื่อเกษตรกรเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การใส่ปุ๋ย จากการศึกษาเราพบว่าถ้าวางใบอ้อยไว้ในแปลงเฉยๆผ่านไปประมาณ 8 เดือนใบอ้อยจะมีน้ำหนักลดลงเพียง 30 % แต่ถ้าเราสับกลบใบอ้อยลงดิน น้ำหนักใบอ้อยจะลดลงกว่า 60% (วิมลและวรรณวิภา, 2561) แต่นั้นเป็นแค่ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางเคมีของใบอ้อย ยังส่งผลต่ออ้อย เมื่อเราไถกลบ????
จากประเด็นที่ว่าใบอ้อยมี C:N ratio สูง หรือพูดง่ายๆคือมีปริมาณไนโตรเจนต่ำ เมื่อไถกลบลงไปสู่ดิน ในช่วงแรกจะกระตุ้นให้จุลินทรีย์เอาไนโตรเจนไปใช้ ไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ในดินจึงลดลง อ้อยจึงมักมีอาการเหลือง ไม่งาม นั้นอาจเป็นอีกสาเหตุที่ปีแรกๆ ถ้าไม่เผาอ้อยผลผลิตจะน้อยลง เกษตรกรจึงมักจะไม่ทิ้งเศษซากใบอ้อยลงแปลง แนวทางการจะใช้ใบอ้อยซึ่งเป็นแหล่งวัสดุอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเผาและช่วยให้ใบอ้อยย่อยสลายได้เร็วขึ้น จึงควรเพิ่มความชื้นและไนโตรเจนในแก่เศษซากใบอ้อย
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี 2560 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2560 นายวีนัด สำราญวงศ์ ได้ฉีดพ่นน้ำหมักยูเรีย 3-4 ครั้งต่อฤดูปลูก (ปุ๋ยยูเรีย 25 กิโลกรัมผสมน้ำ 200 ลิตร) สามารถเร่งการย่อยสลายของใบอ้อยได้ ซึ่งโดยธรรมชาตินั้นการย่อยสลายใช้เวลานาน (นีรนุชและวรรณวิภา, 2561) โดยสรุปการจัดการใบอ้อยโดยไม่เผา ควรฉีดพ่นปุ๋ยน้ำยูเรียควบคู่กับการสับกลบหรือไม่ก็ได้ จะช่วยให้ใบอ้อยสลายตัวเร็วขึ้น
จากข้อสังสัยว่า #ทำไมเกษตรกรเผาอ้อย ช่วงเวลาปลายปีถึงต้นปี เป็นฤดูกาลตัดและปลูกอ้อยค่ะ จากสัมภาษณ์เกษตรกรการเผามักเกิดจาก
1. การขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย จำนวนแรงงานมีจำกัด และถ้าใครเคยเข้าแปลงอ้อยในช่วงเก็บเกี่ยวจะรู้ว่าในแปลงอ้อยนั้น ใบอ้อยหนาแน่นมาก หายใจลำบากและบาดเราได้ง่าย เมื่อเผาอ้อย แรงงานจะตัดได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นเพื่อส่งโรงงานให้ทันตามคิวที่ได้รับ ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วอ้อยเผาจะโดยหักราคาต่อตัน และอ้อยไฟไหม้นี้จะเก็บไม่ได้นานหลังตัด แต่เกษตรกรก็ยังเผาอ้อยอยู่ เห็นได้จากรายงานปริมาณอ้อยเข้าโรงงานจากเพจ #โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 อ้อยตัดสดเข้าโรงงาน 50% ตัวเลขนี้บอกเราว่า เราเผาอ้อยกว่าครึ่งของพื้นที่ปลูกอ้อยในประเทศและผลเสียจากการเผาอ้อยนอกจาก #PM 2.5 ยังมีเรื่องการสูญเสีย ธาตุอาหารความชื้นดินและยังรวมไปถึงจุลินทรีย์ดินอีกด้วย
กลับมาประเด็นที่ว่าถ้าขาดแรงงานตัดอ้อยแล้วใช้รถตัดอ้อยได้ไหม เป็นอีกตัวเลือกที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงทางเลือกนี้ เพราะราคารถตัดอ้อยนั้นแพงค่ะ อีกทั้งแปลงอ้อยที่จะใช้รถตัดได้ ต้องผ่านการเตรียมแปลงอย่างดีเพื่อให้ดินมีความสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากของเกษตรกรรายเล็ก
2. เกษตรกรบางรายตัดอ้อยสด (ไม่โดนหักราคา) แต่เศษใบอ้อยที่เหลืออยู่ในแปลงนั้น ถ้าใครเคยเข้าแปลงอ้อยช่วงนี้จะรู้ดีว่าใบอ้อยเป็นอุปสรรคในการทำงานในแปลงและใส่ปุ๋ย เกษตรกรบางรายจึงเลือกที่จะเผาใบอ้อย
แนวทางป้องกันแก้ไข นอกจากการจัดการใบอ้อยตามด้านบนแล้ว เรื่องแรงงานและการรับซื้อ การเข้าถึงรถตัดอ้อยให้ง่ายขึ้น ค่าตอบแทนแรงงานตัดอ้อยสด ราคาอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ยังแตกต่างกันไม่มาก เห็นได้จากเกษตรกรหลายรายยังเลือกเผาอ้อยถึงแม้ว่าจะโดนหักราคาอ้อย หรือแม้แต่การออกข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดกว่านี้ในการจัดการใบอ้อยที่ระยะเก็บเกี่ยว เพราะใบอ้อยสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้หลายทาง เช่นในแง่ของพลังงาน เคมีภัณฑ์ หรือแม้แต่ปุ๋ยชีวภาพ เพราะปัญหา #PM 2.5 นั้น เป็นวิกฤตที่เราเจอเฉพาะหน้าในวันนี้ แต่อ้อยไฟไหม้อาจจะมีอุปสรรคต่อการส่งออกน้ำตาลในอนาคต
หากการค้าในเวทีโลกหยิบยกเรื่องการผลิตอ้อยอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นประเด็นเงื่อนไขทางการค้า จะเห็นว่าประเด็นนี้ต้องคุยกันทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร โรงงานและภาครัฐ อยากให้ใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการเริ่มหาทางออกและแนวปฎิบัติด้วยกัน หวังที่จะเห็นวิกฤต#PM 2.5 นำเราไปสู่ความสามัคคี
ข้อมูลเพิ่มเติม
วิมล ภูกองไชย และ วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์. 2561. การจัดการเศษซากใบอ้อยที่ส่งผลต่อการย่อยสลายและปลดปล่อยไนโตรเจน. แก่นเกษตร ฉบับพิเศษ 46(1): 25-29.
นีรนุช ผิวแดง และ วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์. 2561. อินทรีย์คาร์บอนและสมบัติทางเคมีของดินบางประการ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากนาข้าวมาปลูกอ้อย. แก่นเกษตร ฉบับพิเศษ 46(1): 30-35.