‘เกม’ไม่ใช่! จำเลยสร้างปัญหาสังคม กรณีจ่าคลั่งกราดยิงโคราช

“เกม” ดูเหมือนจะเป็นจำเลยของสังคมเมื่อผู้บริหารของบ้านเมืองไทยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงต้นตอของเหตุการณ์จ่าคลั่งกราดยิงกลางเมืองโคราช (จังหวัดนครราชสีมา) ว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมติดเกมตามคำกล่าวอ้าง แท้จริงแล้วอะไรเป็นต้นเหตุของปัญหา?

จึงได้มีการจัดเวทีเสวนาเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาเกมและทางออกของสังคมในการอยู่ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน เมื่อเวลา 14.30-17.30 น. ในวันที่ 18 ก.พ. 63 ณ ห้องประชุม โฟกัสอารีน่า จังหวัดขอนแก่น โดยมีนักวิชาการด้านจิตแพทย์ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจเกม  ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจอีสปอร์ต ผู้ปกครองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

ช่วงเริ่มต้นการเสวนา นพ.ชาญณรงค์ ชัยอุดมสม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสาเหตุของความรุนแรงว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก 1. กรรมพันธ์ุของเด็ก 2. การเลี้ยงดูของครอบครัว 3. สภาพแวดล้อม โดยปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ง่ายที่สุดคือการเลี้ยงดูของครอบครัว ส่วนปัจจัยที่แก้ไขได้ยากที่สุดคือกรรมพันธุ์ เช่น ผู้ปกครองสมาธิสั้นเด็กจะสมาธิสั้น เป็นต้น

นพ.ชาญณรงค์ ชัยอุดมสม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นพ.ชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของกรณีจ่าคลั่งกราดยิงกลางเมืองโคราช ตนยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นเพราะเกมหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ทราบประวัติหรือมีข้อมูลเกี่ยวกับจ่าคลั่ง

แต่เมื่อพิจารณาถึงปรากฎการณ์อื่นๆพบว่า เกมไม่ใช่สาเหตุของความรุนแรงทั้งหมด เหตุกราดยิงกลางเมืองโคราชมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องความคับแค้นใจจากการถูกเอาเปรียบเรื่องบ้านสวัสดิการ กระทั่งนำมาสู่การลงโทษคุมขัง ตัดเบี้ยเลี้ยงหรือไม่ที่เป็นชนวนเหตุของเรื่อง

นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กล่าวว่า ในอดีตตนเป็นฝ่ายที่มีอคติต่อเกมเพราะเชื่อว่ามีส่วนทำลายสังคม เด็กควรเอาเวลาไปเรียนหนังสือหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ทว่าเมื่อได้เปิดโลกทัศน์พบว่าข้อดีของเกมในการต่อยอดธุรกิจ เช่น การเขียนโค๊ดดิ้ง นักกีฬาอีสปอร์ต ฯลฯ นั้นสมารถสร้างรายได้และเป็นช่องทางการสร้างอาชีพในอนาคต แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าปัญหาเด็กติดเกมนั้นยังเป็นปัญหาของสังคม

นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

“ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางหรือมาตรการเพียงพอในการจัดการเรื่องเด็กติดเกมที่สร้างปัญหาให้สังคมหรือในทางกลับกันยังไม่มีมาตรการที่เหมาะเพื่อเป็นความหวังในการสร้างรายได้จากการเล่นเกมและธุรกิจอื่นๆ ที่มีรายได้สูงกว่าบางอาชีพในอดีต”

นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่า จึงควรค้นหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมสร้างกติการ่วมกันเริ่มตั้นจากภายในจังหวัดขอนแก่น ว่ามีแนวทางการจำกัดการเล่นเกมและส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับเกมให้ออกแบบเป็นไปในทิศทางใดจึงจะมีความเหมาะสมและอยู่ร่วมกับเกมให้ได้

เพราะเกมมีหลายรูปแบบทั้งเกมเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่นในจังหวัดขอนแก่นควรผลิตเกมไดโนเสาร์เพื่ออธิภายความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ภูเวียงว่ามีความแตกต่างจากที่จังหวัดอื่นอย่างไร นอกจากได้ความรู้ยังเป็นการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่นไปพร้อมๆกัน

และยังมีเกมการดูแลสุขภาพที่สามารถสอดแทรกเนื้อไว้ในเรื่องหรือเกมเกี่ยวกับการออกแบบเมืองนั้นเป็นเกมมิติใหม่ที่สร้างสรรค์และควรส่งเสริม

 

โปรดติดตามรายละเอียดในอีสานบิซ

 

แสดงความคิดเห็น