50 ผู้นำ 3 เจเนอเรชันขอนแก่นร่วมสร้าง 7 ยุทธศาสตร์/แนวทางพัฒนา 1 ปี

50 ตัวแทนผู้นำภาคีเครือข่ายการพัฒนาจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน นักพัฒนา ภาคเอกชน ภาคราชการ นักวิชาการ ร่วมระดมสมองกำหนดเป้าหมายร่วมการพัฒนาขอนแก่น 7 ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาภายใน 1 ปี

 

ระหว่างวันที่ 8 – 9 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมพองหนีบ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า ได้เป็นผู้ประสานความร่วมมือ ภาคีต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นให้ร่วมกันเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมี อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นวิทยากรกระบวนการ
ก่อนเข้าสู่กระบวนการระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาขอนแก่น นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า ได้ทบทวนการวิสัยทัศน์ร่วมขอนแก่นทศวรรษหน้า เมื่อวันที่ 12-14 ธันวาคม 2557 ณ โรงแรมโรแมนติค รีสอร์ทแอนด์สปา เขาใหญ่ นครราชสีมา  หนึ่ง (ร่าง) วิสัยทัศน์ “ขอนแก่นเมืองสง่างาม มีความเป็นธรรม และเป็นสุข” และ  สอง (ร่าง) วิสัยทัศน์ “ขอนแก่นเป็นเมืองน่าอยู่ อย่างยั่งยืน สมดุล ชุมชนเข้มแข็ง”
ทั้งสองวิสัยทัศน์มีภาพฝันร่วมกันที่อยากจะให้ขอนแก่นเป็นเมืองสง่างาม(smart city) น่าอยู่ มีการพัฒนาอย่างสมดุลและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนในสังคม ผู้คนและชุมชนได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง ชาวขอนแก่นอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน
หลังจากนั้นอ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ให้ผู้เข้าร่วมเวทีสะท้อนความคิดเห็นต่อการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นที่ผ่านมาว่าสิ่งใดได้ทำไปแล้วและสิ่งใดยังไม่ได้ทำ สรุปได้ว่า การพัฒนาจังหวัดขอนแก่นมีความก้าวหน้าไปได้หลายเรื่อง เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท๊อปจนมีชื่อเสียงระดับประเทศ
การมีศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคธุรกิจรวมตัวกันพัฒนาเมือง มีเครือข่ายองค์กรชุมชน มีการผลักดันแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจังหวัดอัจฉริยะโดยเทศบาลนครขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นและภาคเอกชน มีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมืองโดยใช้พื้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหลังเดิม การพัฒนาศูนย์กลางทางการแพทย์ การผลักดันเรื่องการขนส่งสาธารณะระบบราง  การพัฒนาพื้นที่เกษตรและอาหารปลอดภัย การส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นต้น
สิ่งที่ยังไม่ได้ทำและไม่ก้าวหน้า คือ  ประชาชนไม่เข้าใจเรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ขาดการบริการจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ ขาดการจัดการด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ขาดการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า ขาดการเตรียมความพร้อมพลเมืองเพื่อปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ชุมชนยังไม่เข้มแข็ง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างแท้จริง  เศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอมีปัญหาหนี้สินและปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น
เมื่อผู้เข้าร่วมกระบวนการได้ทบทวนภาพวิสัยทัศน์ที่ชาวขอนแก่นปรารถนาและสะท้อนถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้วและสิ่งที่ยังมาได้ทำ ทำให้เห็นว่าจังหวัดขอนแก่นมีความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม มีความตื่นตัวเรื่องการพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตี้ มีศักยภาพภายในที่สำคัญคือ ความร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดของภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ขบวนองค์กรชุมชน ภาคเอกชน ภาคราชการและภาคการเมืองท้องถิ่น
ทว่า…ข้อจำกัดที่สำคัญ คือ การพัฒนาที่ผ่านมายังไม่กระจายไปอย่างทั่วถึง มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท และระหว่างอาชีพ เป็นต้น
อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ได้ให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นออกเป็น 7 กลุ่ม เพื่อให้มีการปรึกษาหารือกันอย่างมีส่วนร่วมและทั่วถึง ช่วยกันเสนอ (ร่าง) แนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาขอนแก่น กลุ่มละ 3 ยุทธศาสตร์ โดยมีผลการเสนอร่างยุทธศาสตร์ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขอนแก่นให้เป็นเมืองสุขภาวะ  (KhonKaen Digital Healthy  City) 
1).ยุทธศาสตร์การผลิตสีเขียว (Green product) ให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารปลอดภัยที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
2).ยุทธศาสตร์การพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างกับสุขภาวะอย่างยั่งยืน (Sustainable connection Digital Healthy) การสร้างเครือข่ายภาคการผลิต การตลาด ร้านอาหาร โรงพยาบาล ชุมชนผู้บริโภค และการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อร่วมลงทุนและส่งเสริมการตลาด โดยใช้เทคโนโลยีด้านเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ
3).ยุทธศาสตร์การพัฒนาทักษะและการใช้อย่างรอบด้าน (Digitalization and Literacy)เพื่อการเชื่อมโยงการพัฒนาคนกับการพัฒนาเมืองให้คนสุขภาพดีและเมืองน่าอยู่
แนวทางการดำเนินงานที่ต้องการขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้า ได้แก่
-ต้นน้ำ การเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย การตั้งกองทุนสนับสนุนเกษตรกรรายใหม่ การจัดอบรม ส่งเสริมการสร้างผู้ผลิตรายใหม่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดินให้เพียงพอสำหรับการผลิต การให้ข้อมูลเกษตรกรเรื่องตลาดและโอกาสด้านการตลาด การรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ และการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อร่วมลงทุนและส่งเสริมการตลาด เป็นต้น
-กลางน้ำ การสื่อสารให้เกษตรกรและผู้บริโภคเข้าใจคุณค่าของอาหารปลอดภัยและอาหารอินทรีย์ การพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาคุณภาพอาหารและการกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค การสร้างผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อร่วมลงทุนและส่งเสริมการตลาด เป็นต้น
– ปลายน้ำ การส่งเสริมกิจกรรมให้ผู้ผลิตพบกับผู้บริโภค การพัฒนาตลาดในจังหวัด ได้แก่ โรงทานอาหารอินทรีย์ ชุมชนออนไลน์การซื้อขายผลผลิต ตลาดเขียว ตลาดทางเลือกอาหารปลอดภัย ตลาดโรงพยาบาล ตลาดมหาวิทยาลัย การส่งเสริมให้ร้านอาหารใช้ผลผลิตที่ปลอดภัย การรับรองมาตรฐานตลาดอินทรีย์ และการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมเพื่อร่วมลงทุนและส่งเสริมการตลาด เป็นต้น
กลุ่มที่ 2  เสนอยุทธศาสตร์พัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ การจัดการความรู้ภูมิปัญญาและการเชื่อมร้อยทุนทางสังคม
1).ยุทธศาสตร์การพัฒนาเยาวชนให้มีสำนึกรักบ้านเกิดและมีส่วนร่วมในการพัฒนา
2).ยุทธศาสตร์การสร้างชุดความรู้ ภูมิปัญญา จิตสำนึก แนวทางการดำเนินชีวิต การเชื่อมต่อวัฒนธรรมเก่าและใหม่
3).ยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อ เชื่อมร้อยองค์กรชุมชน ทุนทางสังคม และการกระจายโอกาสเพื่อการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมทั้งเมืองและชนบท
แนวทางการดำเนินงานที่ต้องการขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้าได้แก่
– การให้ความรู้จากรูปแบบตัวอย่างที่ดีที่มีในระดับพื้นที่ เช่น เศรษฐกิจชุมชน เกษตรพอเพียง
– การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสร้างรายได้และปลดหนี้ (ดำเนินการในรูปแบบเกษตรยั่งยืน ธุรกิจชุมชน สวัสดิการชุมชน ธนาคารต้นไม้ ป่าชุมชน )
-การสร้างกลุ่มสนับสนุนการพัฒนาที่ประสานความร่วมมือ นักวิชาการ ราชการ นักธุรกิจ อปท. นักพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน ที่มีเป้าหมายร่วมกัน
-การศึกษาวิจัยงานพัฒนานโยบายสาธารณะที่เหมาะสมสำหรับขอนแก่น
กลุ่มที่ 3 เสนอยุทธศาสตร์ความร่วมมือในการสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาสิ่งแวดล้อม
1).ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น(ระดับ ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด)
2).ยุทธศาสตร์การสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน
3).ยุทธศาสตร์การสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ รักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน
แนวทางการดำเนินงานที่ต้องการขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้า ได้แก่
-การเชื่อมโยงประสานความร่วมมือสมัชชาภาคประชาชน รัฐ และเอกชน
-การสร้างช่องทางการสื่อสารผ่านโซเซียลมีเดีย อาทิ Line, Facebook, IG และ Website
-การสร้างพื้นที่ปรึกษาหารือในประเด็นที่มีผลกระทบจากโครงการพัฒนาและทำการติดตามประเมินผล
-สร้างคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นที่มีผลกระทบรุนแรงในพื้นที่จังหวัด เช่น น้ำแล้ง สิทธิสตรี
-การสร้างพื้นที่กลาง (มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า) เพื่อความร่วมมือในการพัฒนา โดยอาจจะมีการจัดเวทีพื้นที่กลางอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี โดยเชิญแกนนำของภาคีเครือข่ายการพัฒนาจังหวัดมาร่วมกันศึกษา ติดตาม ประเมินผล ทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
-การจัดเวทีพื้นที่กลางระดับจังหวัดให้ภาคีเครือข่ายการจังหวัดขอนแก่นได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติการในการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น ปีละ 1 ครั้ง
-มีกระบวนการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าสู่คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัด (กบจ.) ขอนแก่น
กลุ่มที่ 4 เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาคน ทุนและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
1).ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลเมืองตื่นรู้(Activist)
2).ยุทธศาสตร์การจัดการทุนแก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ
3).ยุทธศาสตร์เสริมสร้างอำนาจการตัดสินใจของท้องถิ่นในการจัดการงบประมาณ ออกระเบียบ กฎหมาย และการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ
แนวทางการดำเนินงานที่ต้องการขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้า ได้แก่
– การสร้างพลเมืองอัจฉริยะ(smart citizen) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษและการสร้างเครือข่ายพลเมืองอัจฉริยะ
– การผลักดันโครงการขอนแก่นทรานซิทซิสเต็มจำกัด(KKTS) เพื่อเป็นตัวอย่างสร้างความเข้าใจในการระดมทุนแบบใหม่
-การขยายแนวคิดบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง(KKTT) จำกัด ในการพัฒนาเมืองขอนแก่น
กลุ่มที่ 5 เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสวัสดิการชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
1)ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียทุกสาขาอาชีพ
2)ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น ธนาคารน้ำใต้ดิน
3)ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างสวัสดิการชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและภาครัฐ
แนวทางการดำเนินงานที่ต้องการขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้า ได้แก่
-การยกระดับการพัฒนาเมืองและคนทุกระดับให้สอดคล้องและได้ประโยชน์ร่วมกัน เดินไปพร้อมกันในทุกด้านทั้งด้านเทคโนโลยีและเกษตรกรรม
-การผลักดันให้เกิดขบวนการการมีส่วนร่วมของผู้คนทุกสาขาอาชีพที่เป็นจริงและเกิดรูปธรรมที่ชัดเจน
-การทบทวนแนวทางนโยบายการพัฒนาจังหวัดของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม
-การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชนลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกร
-การส่งเสริมให้เกิดสวัสดิการชุมชนที่ช่วยเหลือคนในชุมชนทุกกลุ่มวัยโดยมีกองทุนรวมของชุมชน ที่ชุมชนบริหารจัดการได้เอง
กลุ่มที่ 6 เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะและชุมชนท้องถิ่น
1).ยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะ( Smart City) ให้ความสำคัญกับการมีอาหารการกินดี ปลอดภัย สุขภาวะดี สาธารณูปโภคดี และการบริหารพื้นที่มีประสิทธิภาพ
2).ยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง ให้ความสำคัญกับการที่ทุกอำเภอมีของดี มีผลิตภัณฑ์ของตน บ้านวัดโรงเรียนช่วยกันสืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ดึงดูดการท่องเที่ยว และมีส่วนร่วนในระดับนโยบายสาธารณะ
3).ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจท้องถิ่น การให้ความสำคัญกับการที่ชุมชนผลิตและบริโภคในชุมชนและในจังหวัด มีรายได้และเงินสะพัดหมุนเวียนในจังหวัด
แนวทางการดำเนินงานที่ต้องการขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้า ได้แก่
– การระดมผู้คนจากทุกภาคส่วน ทุกรุ่นมาช่วยกันคิด
-การสร้างคนที่มีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ
-การสร้างเป้าหมายและการปฏิบัติการร่วม เพื่อให้ภาครัฐปรับแผนพัฒนาให้สอดคล้องตามความต้องการของประชาชน
-การผลักดันให้สถาบันศึกษาในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเทคโนโลยี นวัตกรรม มาสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาชนด้านต่างๆ
-สำรวจ เก็บข้อมูล วิจัยและวางแผนพัฒนา
-การส่งเสริมให้ชุมชนที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาด้านต่างๆ ขยายผลการพัฒนาให้ชุมชนอื่นๆ
-การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น โดยใช้ความรู้ด้านการออกแบบ การเพิ่มคุณภาพ การสร้างมูลค่า และการสร้างเรื่องเล่า เป็นต้น
-การส่งเสริมตลาด โดยความร่วมมือกับภาคธุรกิจ
-การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เป็น unseen ขอนแก่นและเชื่อมโยงกับการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้เป็นของที่ระลึก เป็นต้น
กลุ่มที่ 7 เสนอแนวทางยุทธศาสตร์การเชื่อมร้อยเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
1).ยุทธศาสตร์การสื่อสารครอบคลุมทั้งจังหวัดทุกกลุ่มเป้าหมาย
2).ยุทธศาสตร์การเชื่อมร้อยเครือข่ายต่างๆ
3).ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองจากทุกภาคส่วน
แนวทางการดำเนินงานที่ต้องการขับเคลื่อนใน 1 ปีข้างหน้า ได้แก่
-การค้นหาปราชญ์ชาวบ้าน ครูผู้ช่วยขยายผล ออกแบบผังการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน ผู้คนหลายรุ่น ให้มาร่วมกันพัฒนาขอนแก่นในประเด็นที่พื้นที่สนใจและให้ความสำคัญ โดยใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการประสานความเชื่อมโยง
-การจัดเวทีกลางหรือเวทีสาธารณะร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นที่สนใจร่วมกัน
-การนำประเด็นจากเวทีต่างๆ หรือจากสื่อออนไลน์ มาพูดคุยวิเคราะห์ ร่วมกัน เสนอแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาให้ต่อเนื่อง
ผลจากการประชุมสามารถสรุปให้เห็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาขอนแก่นที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการให้คุณค่าและเห็นความสำคัญร่วมกัน ดังนี้
(1) เป้าหมายร่วมในการพัฒนาขอนแก่นมีทั้งเป้าหมายเชิงพื้นที่และเชิงประเด็นการพัฒนา ได้แก่  การพัฒนาขอนแก่นต้องมีการพัฒนาเมือง ชนบท และชุมชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึง
การพัฒนาคนทุกช่วงวัยและให้ความสำคัญกับมิติชายหญิง การพัฒนาคนทุกสาขาอาชีพทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร  การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งต้องมีการเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายการพัฒนาและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างทั่วถึง
(2) ยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาขอนแก่น ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรและอาหารปลอดภัย ยุทธศาสตร์การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและพลเมืองทุกช่วงวัย ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้และภูมิปัญญา ยุทธศาสตร์การแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ  ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และยุทธศาสตร์การสานพลังภาคีเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาขอนแก่น ซึ่งทุกยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างทั่วถึงทั้งในเชิงพื้นที่เมืองและชนบทและกลุ่มคนทุกสาขาอาชีพ การส่งเสริมพลังในการจัดการและพัฒนาตนเองของชุมชนท้องถิ่น และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วมที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงการยกร่างแนวความคิดจากกลุ่มตัวแทนผู้นำบางส่วนในจังหวัดขอนแก่น  จำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการในลักษณะนี้อีกหลายครั้งเพื่อเปิดให้ภาคีเครือข่ายการพัฒนาขอนแก่นทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งช่วยกันต่อเติมเป้าหมายและยุทธศาสตร์ร่วมในการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของคนขอนแก่นมากที่สุด
โดยมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าและภาคีเครือข่ายการพัฒนาขอนแก่นจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างพื้นที่กลางให้มีการปรึกษาหารือกันในประเด็นนี้ในระยะต่อไป เพื่อให้การพัฒนาจังหวัดขอนแก่นเกิดการมีส่วนร่วมของคนขอนแก่นอย่างทั่วถึง เป็นการพัฒนาที่สร้างเมืองน่าอยู่ มีความสมดุล เป็นธรรม มีความสุขและมีความยั่งยืน
แสดงความคิดเห็น