โควิด-19 พ่นพิษ ลูกหนี้ดีมีทางเลือก

ในภาวะที่ประเทศต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบ
ในวงกว้างทั้งต่อองค์กรธุรกิจ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป แบงก์ชาติได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ดี (ลูกหนี้ที่ชำระได้ปกติหรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

มาตรการที่ออกมานี้จะช่วยให้ลูกหนี้ดี ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจนต้องพักงาน
ตกงาน ทำให้รายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ รวมทั้งคนที่เป็นข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลือ โดยมาตรการครอบคลุมหนี้หลายประเภท มีแนวทางแต่ละประเภทดังนี้ค่ะ

กรณีเป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจากเดิม 10% เหลือ 5% (ในปี 2563-2564) 8% (ในปี 2565) และสามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยถูกลงได้ด้วย

ส่วนหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หากเป็นหนี้อยู่กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ก็ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ 3 เดือน แต่ถ้าเป็นหนี้
อยู่กับผู้ให้บริการอื่น  ก็ลองเลือกดูว่าจะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน  หรือ จะเลือกลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิม เป็นเวลา 6 เดือน

แต่ถ้าเป็นหนี้เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ภายในวงเงินไม่เกิน 35,000 บาท หรือเช่าซื้อรถ
ทุกประเภท ภายในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และหนี้ลิสซิ่งที่มีหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท
สามารถเลือกได้ว่า จะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือน หรือพักชำระเงินต้นนาน 6 เดือนก็ได้

และสุดท้ายหนี้บ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ในขั้นแรกลูกหนี้จะขอพักชำระเงินต้นได้ 3 เดือน และขั้นต่อไปสถาบันการเงินก็สามารถพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ได้เพิ่มเติม โดยพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย

มาตรการที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำ ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งสามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ดีกว่ามาตรการขั้นต่ำได้

การที่มีทางเลือกให้ลดภาระการชำระหนี้ลง เพื่อให้มีเงินมาใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะที่เจ้าไวรัสโควิด-19 เข้ามากัดกินให้เศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ ก็นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของลูกหนี้ที่ดี แต่ควรพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียให้ดีก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกทางเลือกไหน เพื่อให้เหมาะกับตัวเองด้วย โดยในเบื้องต้นก็ควรศึกษาข้อมูลจากเวปไซต์ หรือโทรสอบถามโดยตรงกับสถาบันการเงินนั้น ๆ  แต่ถ้าจะให้ชัวร์ ใครเป็นหนี้อยู่กับสถาบันการเงินไหนก็ควรไปติดต่อที่สาขาที่ใช้บริการเป็นประจำเลยจะดีที่สุด แต่อย่าลืมใส่หน้ากากและพกเจลล้างมือไปด้วยนะคะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดย-นางสาวจิตรลดา ภูมูลนา ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

แสดงความคิดเห็น