หากสื่อเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้มีอำนาจ จะถูกมาตรการสังคมลงโทษ ด้วยการไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟัง
จักร์กฤษ เพิ่มพูล
กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ด้านกิจการสื่อมวลชน
ความเดิมตอนที่แล้ว : คนในอาชีพสื่อ ถูกแรงเหวี่ยงจากโรคโควิด 19 ไม่แตกต่างจากคนในอาชีพอื่นๆ แต่ความอยู่รอดของเขา ไม่ใช่ความเก่ง หรือความฉลาด หากแต่คือความสามารถในการปรับตัว
……………………………..
‘วิถีใหม่สื่อ หลังโควิด’ เป็นความเรียงขนาดยาว 4 ตอนจบ เป็นความพยายามมองภาพอนาคตของสื่อมวลชน หลังวิกฤตการณ์โควิด 19 ด้วยความคาดหวังว่า วิกฤติจะเป็นโอกาสให้สื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น โดยจะทยอยนำเสนอต่อเนื่องจากนี้
…
คนในฝั่งยุโรป เคยเห็นว่าการสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องไม่สำคัญ นอกจากเป็นผู้ป่วย พวกเขายังคงแสดงความรักในที่สาธารณะ สัมผัสใกล้ชิดกันตามแบบวัฒนธรรมตะวันตก แต่จากนี้ คนยุโรป คนในฝั่งประเทศตะวันตก จะกลับมาสวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นวิถีชีวิตปกติ และระมัดระวังในการใกล้ชิดกัน เพราะพวกเขาต่างก็ได้เห็นความตายตรงหน้าจำนวนมากมาย มากกว่าสงครามครั้งใดๆ
คนไทยเองก็ไม่ต่างกัน แต่ความตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายจากการไม่ป้องกันตนเอง สูงกว่าคนในแถบตะวันตก ตั้งแต่ช่วงฝุ่น pm 2.5 จนมาถึงช่วงโรคระบาด โควิด 19 พวกเขาต่างสวมใส่หน้ากากอนามัยจนกลายเป็นเรื่องปกติ
แม้ว่าการสวมใส่หน้ากากอนามัย จะกลายเป็นบทบังคับ ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกอบกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว การสวมใส่หน้ากากอนามัย และการดูแลรักษาความสะอาด การล้างมือบ่อยๆ ยังจะกลายเป็นวิถีปฎิบัติต่อไป
พฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งนิยมใช้เวลานานๆเดินจับจ่าย ซื้อของในห้างขนาดใหญ่ เป็นทั้งแหล่งช็อปปิ้งและพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย จะเปลี่ยนไป เป็นการเข้าไปซื้อสินค้าที่จำเป็นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ รวมทั้งอาหารการกิน ซึ่งเป็นวิถีในปัจจุบัน และมันจะกลายเป็นปกติ
นี่คือภาพอนาคตของสังคมไทย
-คนดู ยอดไลค์ ยอดแชร์
หรือความรับผิดชอบ-
สำหรับคนในอาชีพสื่อมวลชน โควิด 19 เปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว จะเปลี่ยนวิถีใหม่จากการทำงานข่าว ด้วยการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งดูเป็นเรื่องไม่ปกติ จะกลายเป็นวิถีใหม่ที่เป็นปกติได้อย่างไร
การทำมาหากินที่ยากลำบากมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า คนทำสื่อจำเป็นต้องแย่งชิงพื้นที่ในการนำเสนอข่าว เพื่อจำนวนคนดู คนฟัง คนไลค์ คนแชร์มากขึ้น โดยคิดถึงแต่ข่าวที่ขายได้ และละเลยความรับผิดชอบ หรือจะยิ่งมีความรับผิดชอบ ด้วยเสียงสะท้อนของสังคมที่ต้องการข่าวคุณภาพ เชื่อถือได้
คนทำสื่อที่ละเลยหลักการพื้นฐานของความเป็นสื่อ คือ การยึดถือข้อเท็จจริง เสนอข่าวอย่างครบถ้วน และรอบด้าน ไม่แอบอิงอำนาจ ไม่ยอมตนเป็นเครื่องมือรับใช้ผู้มีอำนาจ หรือเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้มีอำนาจ จะถูกมาตรการสังคมลงโทษ ด้วยการไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟัง หรือไม่ ในบรรยากาศที่ผู้รับสารเริ่มเรียนรู้ และรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น