หลังจากที่มีหญิงคนหนึ่งไปซื้อหนังสือมือสอง แต่กลับพบรูปหญิงสาวปริศนาในชุดนักเรียน จากนั้นจึงนำรูปของเธอออกมาโพสต์ลงในกลุ่มกลุ่มหนึ่ง เพื่อหวังจะคืนรูปให้เจ้าของตัวจริง แต่กลายเป็นว่า เมื่อเอาชื่อ-นามสกุลที่ปักบนชุดนักเรียนไปค้นหาในกูเกิล จนพบว่าชื่อดังกล่าวเป็นชื่อคนร้ายในคดีทำร้ายและทารุณกรรมหญิงสาว ด้วยการใช้ไฟลนเหยื่ออย่างทรมาน เป็นคดีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551
ล่าสุด วันที่ 26 มิถุนายน 2563 เฟซบุ๊ก หนูน้อยบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ ก็มีการโพสต์ถึงเรื่องนี้เหมือนกัน แต่กลับมองอีกมุมหนึ่ง ตรงเรื่องความเป็นส่วนตัวของนักเรียน ด้วยความที่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การสืบค้นอะไรต่าง ๆ ในยุคนี้ล้วนทำได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นจึงเกิดคำถามที่ว่า การปักชื่อและนามสกุลของเด็กนักเรียนแบบนี้ ยังคงเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันหรือไม่ เพราะหากมีผู้ไม่หวังดี ก็สามารถเอาชื่อและนามสกุลที่อยู่บนเสื้อไปสืบได้ทันทีว่าเป็นลูกใครหลานใคร
ขณะเดียวกัน ทางเพจก็ได้เสนอแนะว่า ควรเปลี่ยนเป็นใช้ป้ายชื่อเข็มกลัดปักแทน พอเลิกเรียนก็เอาออก หรือตรวจสอบจากบัตรนักเรียนแทนก็ได้ รวมถึงถ้าต้องการบริจาคชุดนักเรียน ก็ไม่ต้องไปเลาะชื่อออกให้เสียเวลา และสภาพเสื้อก็ไม่เสียหายด้วย
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวเริ่มมีบางโรงเรียนใช้กันบ้างแล้ว นักเรียนไม่ต้องปักชื่อบนเสื้ออีกต่อไป ขณะเดียวกัน ทางเพจก็ขอร้องให้งดขุดข้อมูลหญิงสาวชุดนักเรียนที่ตกเป็นข่าว เพราะเรื่องนี้ก็ผ่านไปนานแล้ว บางทีเขาอาจจะพ้นโทษแล้วก็ได้
ส่วนชาวเน็ตก็ต่างเห็นด้วยกับประเด็นนี้ บางคนก็เล่าประสบการณ์เจอคุกคามจากการที่มีคนเห็นชื่อและนามสกุลบนชุดนักเรียนมาแล้ว บางคนก็ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวที่สุด อย่างการเซ็นชื่อเข้าร้านสะดวกซื้อช่วงโควิด 19 แต่กลับถูกพนักงานเอาข้อมูลส่วนตัวมาค้นและแชตมาจีบ