สรุปแล้วน้องเบสมี “อาชีพเป็นนักพูด” ไม่ใช่ “นักพูดมืออาชีพ”
ทำไมผมจึงกล้ากล่าวเช่นนั้น อยากให้อ่านดูนะครับ
จากกรณีการพูดของนางสาวอรพิมพ์ รักษาผล หรือน้องเบส ที่พูดพาดพิงถึงคนอีสาน ทางสื่อ social media จนเป็นข่าวคราวในขณะนี้ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจกับชาวอีสานนั้น
ผมจะขอวิเคราะห์ในฐานะนักสื่อสารมวลชน และนักพูด ที่มีพื้นความรู้ประสบการณ์จากการศึกษาทั้งการสื่อสารมวลชน และนิเทศศาสตร์ รวมทั้งการศึกษาในระดับปริญญาโท ไทยคดีศึกษาที่เน้นเฉพาะภาคอีสาน
.
โดยปัจจุบันก็ทำหน้าที่เป็นวิทยากร เป็นอาจารย์สอนทางด้านนี้โดยเฉพาะด้วย ขอให้ความเห็นว่า
.
การจะเป็นนักพูดนั้น ทุกคนสามารถเป็นได้ แต่ต้องรู้คำจำกัดความของคำว่า พูดได้ พูดเป็น พูดเก่ง พูดดี ก่อน คือ
“พูดได้” หมายถึง สามารถเปล่งเสียงออกมาจากลำคอได้ แต่ไม่มีความหมาย
“พูดเป็น” หมายถึง สามารถใช้ถ้อยคำในการพูด แต่อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการพูด
“พูดเก่ง” หมายถึง สามารถพูดได้ทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์
“พูดดี” หมายถึง พูดได้เนื้อหาสาระ มีเหตุมีผล รู้จักกาลเทศะ การใช้ถ้อยคำ มีจังหวะ ลีลาการพูด บรรลุวัตถุประสงค์การพูด
จากกรณีน้องเบสนี้เธออยู่ในคำจำกัดความของการพูดอย่างไร ลองพิจารณาเองนะครับ
.
ต่อมา ก็มาพูดถึงองค์ประกอบการพูดว่า มีอะไรบ้าง คือมีดังนี้ครับ
1. มีผู้พูด
2. มีเนื้อหา
3. มีช่องทางการพูด
4. มีผู้ฟัง
.
ซึ่งจากการพูดของเธอก็ครบองค์ประกอบนี้
ต่อมา มาดูว่าเธอมีวัตถุประสงค์การพูดอย่างไร ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าการจะพูดแต่ละครั้งนั้นมีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 4 อย่างคือ
1. พูดเพื่อบอกกล่าว (to inform)
2. พูดเพื่อให้ความรู้ (to educate)
3. พูดเพื่อชักจูงใจ หรือโน้มน้าวใจ (to persuade)
4. พูดเพื่อความบันเทิง (to entertain)
.
การพูดแต่ละครั้งอาจจะให้ความสำคัญแต่ละหัวข้อแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และกลุ่มผู้ฟังเป้าหมายหลักเป็นสำคัญ
จากกรณีของน้องเบสนี้ การพูดของเธอจะอยู่ในข้อ 3 เป็นส่วนใหญครับ
.
นั่นคือหลักๆ ของหัวใจการพูดนะครับ
ทีนี้เรามาดูว่าการพูดของน้องเบสนั้น มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้
.
อย่างที่เราทราบจากสื่อต่างๆ ว่า เธอเป็นนักพูดมาแล้วประมาณ 10 ปี ประสบการณ์ก็ถือว่าไม่ธรรมดา เคยไปพูดหลายที่ หลายครั้งแม้กระทั่งในงานศพ จนมีฉายา (ไม่รู้ใครตั้งให้) ว่า “นักพูด 100 ศพ” และอื่นๆ
.
แต่ที่สำคัญที่อยากจะกล่าวคือ ไม่รู้ใครตั้งฉายานี้ให้เธอ หรือเธอตั้งเองก็ไม่รู้ว่า “นักพูดเพื่อพ่อ” ซึ่งเป็นการแอบอ้างเบื้องสูงเข้ามาทำมาหากินด้วย
.
การที่เธอภูมิใจ และมั่นใจในการพูดในระยะหลังๆ มานี้ เรามาวิเคราะห์กันว่า ใครอยู่เบื้องหลัง หรือใครสนับสนุนเธอจนทำให้เธอกล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้นทุกที (แสดงว่ามีแบ็คหนุนหลังดีแน่นอน)
.
สำหรับการไปพูดกรณีที่เกิดปัญหานี้ถึงแม้จะเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2559 ที่สถาบันการศึกษาระดับสูงแห่งหนึ่งของภาคอีสาน พอจะประมวลได้ว่า หน่วยงานที่จ้างเธอไปพูดได้มอบหมายภารกิจให้ไปพูดเพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้รักในหลวง (โดยผมแน่ใจว่าคงได้กระซิบบอกเธอให้รู้แบ็กกราวด์ต่างๆ มาก่อน และให้เธอย้ำประเด็นนี้ โดยใช้ศิลปการพูดที่เธอถนัดอยู่แล้ว)
.
ปกตินั่น โดยธรรมชาติการพูดนั้นจะไม่มีการแสดง (drama) หรือหากมีก็จะให้อยู่ในขอบเขตพอสมควรแต่เท่าที่ผ่านมาการพูดของเธอจะมี drama ตลอด บางครั้งถึงขั้นที่เรียกว่า over action ด้วยซ้ำไป
.
ทีนี้เรามาดูว่า เมื่อได้รับให้มอบหมายไปพูด โดยปกติคนพูดจะต้องถามคนจัดงาน หรือผู้จ้างไปพูดก่อนว่า จัดที่ไหน มีกิจกรรมอะไรบ้าง กลุ่มคนฟังคือใคร จำนวนมากน้อยเท่าไหร่ อยากให้พูดในเนื้อหาอะไร มีจุดประสงค์อย่างไร ใช้เวลาพูดนานมั้ย ฯลฯ
กรณี ก็คงเช่นเดียวกันเธอคงรู้มาก่อนแล้วในประเด็นต่างๆ เหล่านี้
ตอนนี้มาดูว่าประโยคที่ก่อให้เกิดปัญหานะครับ คือประโยคทองที่ว่า
“พี่จะไม่ถามว่ารักในหลวงไหม รู้อย่างเดียวว่า คนอีสาน (แล้วเม้มปาก ทำท่าทางคิดหนัก) ในหลวงเสด็จบ่อยมาก และช่วยคุณเยอะมาก คนอีสานคะ โปรดฟัง ในหลวงรักพวกคุณ แปลกนะที่บางที่ พวกคุณลืมในหลวงเนอะ แปลกอ่ะ พี่ไม่ได้ว่านะ พี่เข้าใจ เพราะคุณมันเกิดช้าไง”
.
หากวิเคราะห์จากคำพูดประโยคนี้ ( ไม่ได้ฟังทั้งหมดนะ แต่อย่างที่ผมบอกว่าหากฟังทั้งหมดก็จะเหมือนๆ กันเพราะได้ตั้งวัตถุประสงค์จากการพูดไว้แล้ว โดยรับข้อมูลจากผู้ว่าจ้างมา) ก็อาจจะจับประเด็นได้ว่า
.
ก่อนที่เธอจะพูด เธอจะหยุดคิด (ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว อาจนึกถึงเงินที่ผู้ว่าจ้าง จ้างเธอมาพูด, มั่นใจในการปกป้องจากผู้ว่าจ้าง หากมีปัญหาตามมาภายหลัง)
.
จากนั้นค่อยๆ เรียบเรียง กลั่นกรองคำพูดออกมา โดยใช้การแสดง (drama) คือ บีบน้ำตา เม้มปาก สะอึกสะอื้นตามที่เธอถนัด และใช้ได้ผลมาแล้วทุกที่
.
แต่สุดท้ายอาจจะมีสติกลับมา โดยพูดว่า “พี่ไม่ได้ว่านะ พี่เข้าใจ”
อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดเธออาจจะนึกถึงผู้ว่าจ้าง (ที่ให้ข้อมูลมาผิดๆ) อีกจึงกล่าวตบท้ายในประโยคที่ว่า “เพราะคุณมันเกิดช้าไง”
…หลังจากเสร็จสิ้นในการพูดวันนั้น เธอคงจะได้รับคำชมเชยจากผู้ว่าจ้าง (ซึ่งคงไม่ใช่เจ้าของสถานที่ ที่อาจจะรู้สึกผะอืดผะอม พอสมควร) คงจะหลงผิด หลงลำพอง ในตนเอง การงานก็คงจะหลั่งไหลมา ถึงกับผู้ว่าจ้างจะให้เดินทางไปพูดที่ต่างประเทศอีก
แต่สุดท้ายก็มาตกม้าตาย เพราะปากพาจนของตนเองแท้ๆ
นี่คือเหตุผลที่ผมว่า เธอเป็นเพียง “อาชีพเป็นนักพูด ไม่ใช่นักพูดมืออาชีพ”
.
เพราะหากเธอเป็น “มืออาชีพในการพูด” จริงจะต้อง
1. รู้จักกาลเทศะในการพูด
2. มีเนื้อหา สาระที่ได้ประโยชน์ จรรโลงใจ (ที่สื่อบางคนยกยอปอปั้นว่า เป็นนักพูดจรรโลงใจ หรืออื่นๆ จิปาถะ) ตามวัตถุประสงค์การพูด
3. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น
4. ไม่ยกตนข่มท่านจนเกินไป
5. ไม่แอบอ้างเบื้องสูง หรือบุคคลอื่นๆ เพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเอง
6. รู้จักใช้ถ้อยคำ สำนวนให้เหมาะสม เพราะภาษาไทยมีระดับ และมีอารมณ์ในตัวเอง
7. รู้ว่าการพูดไม่ใช่การแสดง
8. มีวุฒิภาวะ รู้จักข่มอารมณ์ จิตใจ
9. รู้ ศึกษากฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ
ทั้งหมดนี้เป็นกรณีที่น่าศึกษา น่าสนใจสำหรับนักพูด และผู้ฟังบ้างนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงเป็นบทเรียนราคาแพงที่น่าเห็นใจสำหรับนางสาวอรพิมพ์ รักษาผล หรือน้องเบส ด้วยเช่นกันครับ.
.
..ธีระพงษ์ โสดาศรี..
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ คนที่ 36
19 พ.ย.59