ดูภาพถ่ายของสุวัช ศรีสด ประธานชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติกับนายณัชภณ วงส์วิเศษ ประธานกองทุนอิสระฯ บันทึกข้อตกลงร่วมกัน แล้วนำบันทึกนั้นมาลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจ สภ.ลำลูกกาวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 แล้ว(ดูเอกสารประกอบ) ทำให้สมาชิกครูผู้กู้ออมสินเกือบหมื่นคนเริ่มมีความคาดหวังว่าจงเป็นความจริงเสียที(เถิด) ถึงขั้นประธานชมรมครูฯ กล่าวว่า ครูหลายรายแทบไม่มีค่าเดินทางไปโรงเรียน บางรายไปขอข้าวเพลวัดกินพอประทังชีวิตไปวันๆ วันนี้(วันลงบันทึกประจำวัน) เริ่มมองเห็นแสงแห่งความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว
ทั้งนี้สืบเนื่องศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ(น.ส.กัลยาณี รุทระกาญจน์) ได้ส่งนายณัชภณมาเป็นวิทยากรในคราวประชุมใหญ่ประจำปีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ท่ามกลางสมาชิกราว 1,500 คนวันนั้นนายณัชภณได้มาพูดชักชวนให้สมาชิกชมรมครูชีวิตใหม่เพื่อชาติทำการ “ออมสัจจะ”(ตอนหลังส่วนมากเปลี่ยนเป็นกองทุนอิสระฯ) วันละ7 บาท ในที่สุดสมาชิกต่างเห็นด้วยพร้อมมีมติออมสัจจะคนละ 10 บาทหรือเดือนละ 300 บาท ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2563 นายณัชภณได้เข้าพบชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติเสนอว่าต้องการเงินจำนวน 3 ล้านบาท* เพื่อเปิดบัญชีลูกหนี้รับเงินจากต่างประเทศ* ชมรมครูฯ รับหลักการแล้วมีมติให้โอนผ่านธนาคารฯ ไปให้นายณัชภณรายะละ 350 บาท รวมทั้งหมดโอนไป 63 จังหวัด(ดูรายละเอียดหนังสือของนายสุวัช ศรีสด แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ กองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ.) กองบัญชาการสอบสวนกลาง หลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคารมอบให้กองปราบปรามฯแล้ว)
ระยะเวลาเพียงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 เพียงไม่กี่เดือน ไม่น่าเชื่อเลยว่านายสุวัชประธานชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติผู้ที่ขบคิดเรื่องปลดหนี้ครูวิกฤตจะถูกฟ้องล้มละลายกว่า 1,700 คน แล้วยังทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและ สกสค. แทบจะนับครั้งไม่ได้ เพียง 9 เดือนเท่านั้น คนที่รู้จักและทำงานร่วมกันทำงานเพื่อแก้หนี้สินครู
ไม่ทราบว่าใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน แต่แล้วนายสุวัชก็ถูกนายณัชภณปลดแบบฟ้าผ่า ให้ออกหรือพ้นจากกองทุนอิสระฯ แล้วยังออกคำสั่งแต่งตั้งบุคคลให้เป็นผู้สนับสนุนการจัดการในกองทุนอิสระฯ โดยออก คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจังหวัด และยังใช้กรรมการอำเภอทุกอำเภอที่เข้าร่วมชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ ทำหน้าที่อีกด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ(โดยนายสุวัช ศรีสด และแกนนำสระบุรีนายสมชาย สาตรา รวมทั้งคนอื่นๆ) ก็ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษหลายแห่ง ความว่า นายณัชภณว่า น่าจะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน สมาชิกที่คงอยู่กับนายสุวัชราว 3,000 คน (แต่ติดตามไปอยู่กับนายณัชภณจำนวนมากกว่าราว 5,000 คนในจำนวนทั้งสิ้นกว่า 8,000คน) ก็ต่างไปร้องทุกข์กล่าวโทษ(แจ้งความ) ตามสถานีตำรวจเมืองต่างๆ จำนวนมาก(ดูเอกสารสรุปการร้องทุกข์กล่าวโทษตามจังหวัดต่างๆรวม 14 แห่ง)
ยกตัวอย่าง หนังสือร้องเรียนต่อ 13 มกราคม 2564 นายสุวัชได้แจ้งความร้องทุกข์มอบคดีกับพนักงานสอบสวน ต่อผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ.) และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ทำหนังสือขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมาย ต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาและแนวทางการบริหารจัดการปัญหาหนี้สินครูฯอย่างเป็นระบบ(นางทัศนียา รัตนเศรษฐ) ในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษพิมพ์ด้วยข้อความคล้ายๆกัน ความยาว 4 หน้ากระดาษมีข้อความสำคัญสรุปว่า ขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับนายณัชภณ วงส์วิเศษ ที่ถูกแจ้งความในข้อหาฉ้อโกงประชาชน เหตุเกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศและความเสียหายขยายวงกว้างออกไปมา โดย
1.ให้ตรวจสอบกองทุนอิสระฯได้จดทะเบียนต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือไม่?
(คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้กระทรวงฯ ตอบมาอย่างรีบด่วน และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ตอบมาแล้วตามหนังสือฯลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ดูเอกสารประกอบ) แต่นายณัชภณอ้างว่าจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จึงไปออกระเบียบข้อบังคับกองทุนและเรียกเก็บเงินกับสมาชิก
2.วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นายณัชภณกับพวกได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติกับนายณัชภณตามโครงการแก้ปัญหาหนี้สินแบบปลอดดอกเบี้ย โดยแจ้งว่า “มีเงินพร้อมแล้วที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สิน”* แล้วโชว์เอกสารทางการเงินให้ดูแต่จะต้องเสียค่าทนายความไปบริการต่อสมาชิกครูรายละ 500 บาท สมาชิกในทุกจังหวัดของชมรมครูฯ ชำระเงินแล้วมอบให้นายสมศักดิ์ ลิ้มสุวรรณ โอนเงินให้นายณัชภณเป็นเงิน 4 ล้านบาท* ในวันที่ 4 กรกฎาคมฯ นายณัชภณกับพวกได้เข้าพบชมรมครูฯ พร้อมแจ้งว่า
ต้องการเงินอีก 2 ล้านบาทเพื่อเป็นหลักค้ำประกันในการขออนุญาตตั้งกองทุนเพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) มติชมรมครูฯ เห็นด้วยโอนให้อีก2 ล้านบาท และต่อมาในวันที่ 15 กันยายน 2563 นายณัชภณกับพวกได้เข้าพบชมรมครูฯ อีกครั้งและมีข้อเสนอว่า จะแก้ปัญหาหนี้ให้สมาชิกครูได้ครูทุกคนต้อง “สร้างกระเป๋าเงินดิจิตอล”(โทเคน) คนละ 44 เหรียญสหรัฐ เป็นเงินคนละ 1,100 บาท ชมรมครูฯจึงรับหลักการแล้วโอนเงินให้นายณัชภณอีกเป็นเงิน7,155,602 บาท และยังมีการโอนไปโดยมติของชมรมครูฯ อีกหลายครั้ง
(จากข้อ 2. นายณัชภณได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ด้วยตนเองในบันทึกฯวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ 2564หน้า 6-8 ความว่า กองทุนอิสระฯ อยู่ภายใต้โครงการกิจกรรมพิเศษของ “มูลนิธิต้นไม่สีเขียว” โดยเงินที่กองทุนจะนำมาปล่อยกู้มาจากธนาคาร ANZ Bang ประเทศออสเตรเลีย โครงการต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ในส่วนการเชื่อมโยงระหว่างกองทุนอิสระฯ กับธนาคารฯ ขอให้คณะกรรมาธิการฯได้ทำหนังสือมายังกองทุนอิสระฯ เพื่อกองทุนจะได้ส่งต่อไปยังธนาคารฯ เพื่อธนาคารฯ จะได้ให้คำตอบกลับมายังคณะกรรมาธิการฯ นายณัชภณยังตอบคำถามอีกว่า กองทุนได้ออกเอกสารหลักฐานใบเสร็จรับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกฯ และเงินอยู่ในบัญชีของประธานกองทุนอิสระฯ(ซึ่งก็คือนายณัชภณ) คณะกรรมาธิการฯ ยังตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า “กรณีครูในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นสมาชิกจำนวนมากและได้ไปกู้ยืมเงินมาเพื่อสมัครเข้ากองทุน หากกองทุนดำเนินการช่วยเหลือได้จะเป็นการดี แต่หากไม่สามารถช่วยได้จะเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ครูเหล่านั้นเพิ่มเติมมากขึ้น” ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงมีมติมอบหมายให้ผู้แทนกองทุนจัดส่งข้อมูลสำเนาเอกสารเลขบัญชีของธนาคารที่เก็บเงินค่าสมัครสมาชิกของครู สำเนาใบเอกสารเกี่ยวกับการรับเงิน สำเนาใบสมัครสมัครเป็นสมาชิกของครู และสำเนาหนังสือรับรองการจัดตั้งบริษัทภายในวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2564”)
ในหนังสือร้องเรียนทุกแห่งที่นายสุวัชฯยื่น “การที่ข้าฯ ได้แจ้งความวันนี้เพราะนายณัชภณฯ กับพวกไปพูดหลายๆ เวทีว่าเคยทำงานรับใช้…เคยเป็นข้าราชบริพาร พร้อมกับโชว์(แสดง)ใบการเงินให้ดู จึงทำให้ข้าฯและพวกหลงเชื่อว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินได้จึงโอนเงินไปให้หลายครั้ง ข้าฯกับพวกทวงถามหลายครั้งถึงการแก้ปัญหาหนี้ที่ให้สัญญาว่าจะแก้หนี้เป็นของขวัญวันแม่ ที่ให้สัญญาว่าจะแก้หนี้เป็นของขวัญวันพ่อ แก้หนี้เป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่ แต่จนบัดนี้ถูกบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ปัจจุบันนี้จึงแน่ใจว่าถูกหลอกลวงถูกฉ้อโกง ข้าฯกับพวกจึงได้เดินทางมาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด”
ท่ามกลางความระทมของครูผู้กู้แต่ละฝั่งฝ่าย ครูผู้กู้ที่ไม่ยินยอมสมัครเป็นสมาชิก ไม่ ประสงค์จะร่วมขบวนการบ่ายเบี่ยง ทำการเลื่อนเรื่อย ๆมา แต่เรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้นทุกที กับฝั่งฝ่ายครูที่สมัครเป็นสมาชิกและชำระเงินไปแล้วกว่าเจ็ดพันบาท (จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยกองปราบปรามฯ ต่อไป) ได้เวลาประลองกำลังกันในสองครั้ง ครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมาในคราวคณะกรรมาธิการฯ พบประชาชน(เกือบวงแตก) ครั้งที่สองเมื่อนายสุวัชฯ ไปยื่นหนังสือแจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 แต่ถูกโต้กลับจากฝั่งของนายณัชภณฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ด้วยจำนวนคนที่มากกว่า และยื่นต่อดีเอสไอว่ามิได้ทำการฉ้อโกงประชาชน
ข้อสงสัยมีเพียงประเด็นเดียว เหตุไฉนจึงไม่ทำการฟ้องคดีนายสุวัชฯ ประธานชมรมครูชีวิตใหม่แห่งชาติ นายณัชภณ ฯ แต่กลับไปดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทและกฎหมายคอมพิวเตอร์กับนายสุรวิช โคตร์คันทา นาง ณรัชช์อร อาจกล้า นางรัชนี กิจพนาพร และนางอรชา วุฒิสันเทียะ โดยผู้มีรายงานการติดต่อทางกลุ่มไลน์กันเป็นสตรีชื่อย่อว่า “ส.” เป็นผู้รายงานให้ประธานกองทุนอิสระฯ เป็นผู้ฟ้องคดี ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ที่ศาลจังหวัดบัวใหญ่จะมีการไต่สวนมูลฟ้อง
คอยติดตามที่ศาลบัวใหญ่ว่า ผู้ฟ้องคดีโจทก์จะกล้าเดินทางไปไต่สวนมูลฟ้องไหม.
(ติดตามตอนที่ 3…ปมลับเม็ดเงินในบัญชีเหลือเพียงแสนเดียว)
เอกสารลงประกอบ
ภาพถ่ายลงนามบันทึกข้อตกลง
แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน
สรุปการแจ้งความใน 14 จังหวัด
หนังสือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
ตัวอย่างหนังสือของสุวัช ศรีสด 2 ฉบับ ต่อ 1. กองปราบปรามฯ 2.คณะกรรมาธิการฯ
…………………..
สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์