ประชุมสภาเทศบาลนครอุดรฯนัดแรก บรรจุการตั้งสภาพลเมืองเป็นภาระเร่งด่วน หวังพัฒนานโยบายจากความต้องการของประชาชน

รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่ ห้องประชุมเวสสุวัณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา สำนักงานเทศบาลนครอุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี มอบหมายให้นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานในการประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี สมัยสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ.2564 และการแถลงนโยบายของ นายธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ต่อสภาเทศบาลนครอุดรธานี โดยมีคณะผู้บริหารเทศบาลนครอุดรธานี นายอาทิตย์ นามบุตร ปลัดเทศบาล นายพิเชษฐ์ ศรีวิไล รองปลัดเทศบาล นายสุรศักดิ์ ภักดีไทย รองปลัดเทศบาล นายประภาส บุตรอุดม รองปลัดเทศบาล หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ข้าราชการ สมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี และสื่อมวลชน ภายใต้มาตรการการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด COVID-19 ซึ่งการประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานีในครั้งนี้ มีนายไกรสิทธิ์ พุฒธรรม ทำหน้าที่ประธานสภาเทศบาลนครอุดรธานี และ นายพีรวัฒน์ ไชยเดช ทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาเทศบาลนครอุดรธานี โดยนายธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ได้แถลงต่อสภาเทศบาลนครอุดรธานีว่า การบริหารจัดการเมือง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยองค์ความรู้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการเทศบาลนครอุดรธานี และเทศบาลโดยรอบให้เป็น “เมืองศูนย์กลางของอนุภาคลุ่มน้ำโขง” อย่างแท้จริง และเป็น “เมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน” ด้วยการเปิดโอกาสให้กับตัวแทนจากทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและพัฒนาเมืองให้ตรงกับความต้องการของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน สร้างพื้นที่ในการเข้าถึงให้กับตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกชุมชน เพื่อร่วมกันเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการเมือง และเสนอนโยบาย ต่อคณะผู้บริหารเทศบาลนครอุดรธานี ด้วยการจัดตั้ง “สภาพลเมือง” เพื่อเป้าหมายหลักที่สำคัญในการพัฒนาเทศบาลนครอุดรธานี สู่ “เมืองแห่งความสุข และเป็น “เมืองที่น่าอยู่และปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน และนโยบายในการพัฒนา ดังนี้
1) นโยบายเร่งด่วน ประกอบด้วย
1.1 การป้องกันการแพร่ระบาด และการส่งเสริมให้กับประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
1.2 การป้องกันน้ำท่วม วางแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากร ขุดลอกลำห้วยหมากแข้ง ลำห้วยมั่ง ทางระบายน้ำ และพื้นที่รับน้ำ
1.3 การแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมผิวถนน ทาสีตีเส้นจราจร ป้ายสัญญาณจราจร
1.4 ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง เช่น การทำความสะอาดถนน ทางเท้า การจัดการขยะไม่ให้ตกค้าง ตัดแต่งต้นไม้ให้เป็นระเบียบ
1.5 การจัดตั้งสภาพลเมือง ตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ทุกชุมชน เพื่อจัดตั้ง สภาพลเมือง ในระดับชุมชน และระดับเมือง
2) ด้านการพัฒนาเมือง เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียว บริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง บริหารจัดการระบบระบายน้ำทิ้ง และระบบระบายน้ำเสียอย่างเป็นระบบ เช่น ก่อสร้างและปรับปรุงท่อระบายน้ำในชุมชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน แก้ไขจุดน้ำท่วมซ้ำซาก , รวบรวมปริมาณน้ำเสียในเขตเมืองเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ย่านเศรษฐกิจในเขตเมือง และส่งเสริมย่านการค้าใหม่ พัฒนาย่านชุมชนที่อยู่อาศัยให้สะอาดน่าอยู่ และปลอดภัย ยกระดับเทศบาลนครอุดรธานีสู่ Smart Urban นำระบบ IOT และระบบ AI มาใช้ในการพัฒนาเมือง ควบคุมสัญญาณไฟจราจร สร้างพื้นที่จอดรถอัจฉริยะในเมือง ส่งเสริมให้มีรถยนต์ไฟฟ้าและจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พัฒนาระบบขนส่งมวลชน
3) ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการสร้างรายได้ เช่น การประสานความร่วมมือกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ส่งเสริมการตลาดออนไลน์ Online , โครงการเกษตรปลอดภัย Urban Farming ยกระดับชุมชนที่มีศักยภาพให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเมืองและวัฒนธรรม เช่น ตลาดสีเขียว , ย่านอาหาร Street Food , เพิ่มพื้นที่ผ่อนผันและจัดระเบียบ , สร้างตลาดน้ำแห่งแรกของอุดรธานี “ตลาดน้ำชุมชนคลองเจริญ” , พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจีน , เวียดนามทาวน์ , ปรับปรุงพระธาตุหนองบัวกอง , ปรับปรุงสวนสาธารณะหนองใหญ่ สวนสาธารณะหนองเตาเหล็ก และสวนสาธารณะหนองเหล็ก , เปิดพื้นที่ Street Art และลานพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี สร้าง Land mark ใหม่ของเมือง ด้วยการปลูกต้นจาน และพันธ์ไม้พื้นถิ่น
4) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษา ได้แก่ การยกระดับโรงเรียนเทศบาลทั้ง ๑๒ แห่งให้ได้มีคุณภาพมาตรฐานโดดเด่น , เน้นให้นักเรียนได้เรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น , ปรับบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่ , นำดิจิตอลแพทฟอร์ม มาใช้ส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาสร้างนวัตกรรม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต
5) ด้านสาธารณสุขและการกีฬา ได้แก่ ผลักดันให้โรงพยาบาลเทศบาลนครนครอุดรธานีให้สามารถบริการประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง มีแพทย์เฉพาะทาง , เพิ่มศูนย์บริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี , สนับสนุนส่งเสริม อสม. ด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ , ส่งเสริมให้มีลานกีฬาประจำชุมชน , เปิดพื้นที่สวนสาธารณะ , สนับสนุนอุดรธานีเมืองกีฬา (Udonthani Sports City)
6) ด้านความปลอดภัยของเมือง ( Urban Security) เช่น จัดตั้งศูนย์กำกับดูแลเมืองตลอด 24 ชั่วโมง เป็นศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยของเมือง บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน , ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV เพิ่ม , จัดตั้งอาสาสมัครชุมชน และปรับปรุงระบบแสงสว่างให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเทศบาลนคร เพื่อความปลอดภัยในชุมชน