มทร.อีสาน ผนึก AIS สร้างนวัตกรรมดิจิทัล เสริมการศึกษาแบบ on-site ประสิทธิภาพสูง

มทร.อีสาน เดินหน้าร่วมมือ AIS มุ่งพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ใช้งานร่วมกับโครงข่าย AIS 5G รองรับจัดการเรียนการสอน วิจัย บริการวิชาการ สร้างสรรค์ประสบการณ์ด้านดิจิทัลที่ทันสมัยให้กับนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย พร้อมกลับมาจัดการเรียนการสอนแบบ on-site อย่างเต็มรูปแบบในภาคการศึกษา1/2565

มทร.อีสาน โดย รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มอบหมายให้ รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ ผศ.ดร.อภิชาต ติรประเสริฐศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัล สารสนเทศ และกิจการสภามหาวิทยาลัย ผศ.พรภัสสร อ่อนเกิด ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและสารสนเทศ และผู้เกี่ยวข้อง

เข้าร่วมประชุมหารือและทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด หรือ AIS โดย นายมหัณณพ อภินันทนพงศ์ หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ AIS และ นายธีรยุทธ ถิ่นทัพพระยา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการลูกค้าองค์กร-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พร้อมด้วยบุคลากรบริษัท ณ อาคาร AIS Contact Center Development and Training Arena ต.โคกกรวด จ.นครราชสีมา

รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มทร.อีสาน กล่าวว่า จากการที่ มทร.อีสาน ได้ประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยด้านดิจิทัลนั้น แน่นอนว่าเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม ทางด้านของโครงข่าย 5G มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ดิจิทัลเกิดความสมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น

ซึ่งการได้ทำความร่วมมือกับบริษัท AIS ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมวิจัย งานบริการวิชาการ ด้านการจัดการเรียนการสอน การจัดการสารสนเทศองค์กร รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของทั้งบุคลากรและนักศึกษา ทั้งยังส่งเสริมด้านการฝึกงาน ฝึกสหกิจศึกษาของนักศึกษา มทร.อีสาน ด้วย

ทั้งนี้ทางด้าน บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด หรือ AIS โดย นายมหัณณพ อภินันทนพงศ์ หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ AIS ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท AIS เป็นอันดับหนึ่งด้านนวัตกรรม 5G ของประเทศไทย เรามีโครงข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ และมีความพร้อมด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศยุคสู่อุตสาหกรรม 4.0

ซึ่งการได้ทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มทร.อีสาน ที่มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ ถือว่าเป็นการร่วมมือครั้งใหญ่ที่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม 5G ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

รวมถึงทางบริษัทพร้อมรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเข้าฝึกงาน ฝึกสหกิจศึกษากับทางบริษัทด้วย และจะให้การช่วยเหลือมหาวิทยาลัยในการทดสอบงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลกับโครงข่าย 5G ในพื้นที่ให้บริการของบริษัท และ/หรือพิจารณาจัดทำบริการดิจิทัลเซอร์วิสและนำออกบริการแก่ผู้ใช้บริการในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ด้านดิจิทัลที่ทันสมัยให้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้อย่างดียิ่งขึ้น

และสำหรับในช่วงของการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 นี้ มทร.อีสาน ได้เตรียมพร้อมสถานที่ในการกลับมาเรียนแบบ on-site โดยมีการให้บริการสัญญาณไวไฟภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งทางบริษัท AIS ได้มีการติดตั้งจุดปล่อยสัญญาณของโครงข่าย AIS 5G เพื่อให้บริการแก่นักศึกษา โดยนักศึกษาที่ใช้สมาร์ทโฟนของเครือข่าย AIS สามารถใช้งานได้ฟรีทันที

นอกจากนี้ยังอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยในชื่อ @RMUTI_ONE นักศึกษาก็สามารถเข้าใช้งานด้วยอีเมลมหาวิทยาลัยของตัวเองเพื่อเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ฟรีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เราเชื่ออย่างยิ่งว่าการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และทุกที่ทุกโอกาสนักศึกษาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ในภาคทฤษฎี เช่น การเรียนผ่านระบบ LMS ของมหาวิทยาลัย หรือการเรียนรู้จากสารสนเทศในแหล่งอื่น ๆ

ปัจจุบันมีให้เลือกศึกษาเป็นจำนวนมาก ส่วนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนั้นมุ่งเน้นที่การฝึกปฏิบัติอันเป็นหัวใจหลักในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ มทร.อีสาน โดยปัจจุบันไม่เพียงแต่การฝึกให้นักศึกษาสามารถทำงานได้ แต่เราจะมุ่งยกระดับในการสร้างให้นักศึกษาสามารถเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับตนเองได้อีกด้วย ซึ่งหากท่านใดที่สนใจจะสมัครเข้าศึกษาต่อที่ มทร.อีสาน สามารถสอบถามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ 044 233 000 ในวันและเวลาราชการ รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

แสดงความคิดเห็น