24 ส.ค.2565 เวลา 10.30 น. ที่ ห้องประชุม อธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม นำโดย พล.อ.ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ และสมาชิกของกลุ่มฯ เข้าพบ นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ เพื่อนำเสนอ วิธีแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.นครราชสีมา ด้วย วิธี “กระทะรั่ว”
นายสมยศ พัดเกาะ ผู้ประสานงานของกลุ่มฯ ได้นำเสนอว่า กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้รวบรวมข้อมูล โดยการขอคำปรึกษาจากหน่วยงานราชการ ผู้เชี่ยวชาญและเอกชน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม จ.นครราชสีมา
โดยได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ดังนี้
1. #วิศวกรรมสถานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2
มีความเห็นว่า : น้ำท่วมและน้ำแล้งของจังหวัดนครราชสีมา จำเป็นต้องมีการทำแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาทั้ง 2 อย่าง
2. #สถาปนิกอีสาน
มีความเห็นว่า : การจัดทำระดับเส้นชั้นความสูง
(contour line) ของพื้นที่ ในเขตชุมชน จะช่วยให้การพัฒนาที่ดินหรือสร้างหมู่บ้านจัดสรร ไม่ไปขวางทางน้ำได้
3. #สำนักชลประทาน ที่ 8 จ.นครราชสีมา
มีความเห็นว่า : หากปริมาณฝน ตกลงมามากกว่าปกติ เช่น 120 มม./ชม. โอกาสน้ำท่วมก็มีสูง แต่ถ้าสามารถ ทำให้ คูคลอง ระบายน้ำได้มากกว่า 50 % ก็จะสามารถบรรเทาน้ำท่วมได้
4. #สำนักทางหลวง ที่ 10
มีความเห็นว่า : ส่วนหนึ่งของปัญหา คือ การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น การถมดิน ทำให้พื้นที่รับน้ำหายไป การระบายน้ำของถนนอาจไม่พอ แต่ก็ยินดีแก้ไข ถ้ามีการร้องขอ
5. #สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีความเห็นว่า : การเอาน้ำลงดิน อาจช่วยได้ แต่ต้องระวังถ้าลึกเกินไปจะมีปัญหาเรื่อง น้ำจืดไปดันน้ำเค็มขึ้นมามาแทนที่
6. #นักวิจัยแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช
มีความเห็นว่า : โคราชต้องมีระบบเตือนภัยน้ำท่วมแบบเรียลไทม์
7. #นักวิชาการอิสระ
มีความเห็นว่า : เป็นปัญหาใหญ่ ที่ภาครัฐจะต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนด้วย เพราะเป็นปัญหาระยะยาว
8. #นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
มีความเห็นว่า : ปัญหาน้ำท่วมมักจะเกิดจากบางโรงงานอุตสาหกรรม และขาดการจัดการป้องกันปัญหาของชุมชน
9. #นักการเมือง
มีความเห็นว่า : ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ชาวโคราชเดือดร้อนมานาน ต้องรีบแก้ไขให้ได้
10. #ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
มีความเห็นว่า : อยากเห็นการแก้ไขที่เป็นรูปประธรรมสักทีมากกว่าการรอรับถุงยังชีพ
11. สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต5 นครราชสีมา
#มีความเห็นว่า การนำน้ำลงชั้นทราย มีความเป็นไปได้ และอาจสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะเคยมีนักวิจัย จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาขอทำโครงการแก้น้ำท่วมลงสู่ชั้นทรายเหมือนกัน แต่ครั้งนั้นติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงยังไม่ได้ลงมือทำ
จากข้อมูลที่ทางกลุ่มฯ ได้รวบรวมข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อจัดเก็บข้อมูลภาคสนามพบว่า
สภาพภูมิประเทศของ จ.นครราชสีมา ตั้งอยู่บนแอ่งโคราช มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ลาดเอียงไปทาง จ.อุบลราชธานี
จ.นครราชสีมา เป็นแหล่งต้นกำเนิดลำน้ำสายต่างๆ โดยทิศเหนือ ติดกับ จ.ชัยภูมิ มีเทือกเขาเพชรบูรณ์เป็นต้นน้ำ ลำเชียงไกร ทิศตะวันตก ติดกับเขาใหญ่ เป็นต้นน้ำ ลำตะคอง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับเทือกเขา สันกำแพง ต้นน้ำของ ลำพระเพลิง ลำแชะ ลำมูลบน และ ลำน้ำสาขาต่างๆไหลรวมกันเป็นแม่น้ำมูล
แม่น้ำมูลไหลผ่าน จังหวัดต่างๆ ไป บรรจบกับแม่น้ำโขง และแม่น้ำชี เป็นที่รวม แม่น้ำ 3 สามสาย ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีค่าระดับของพื้นที่ อยู่ต่ำกว่า จ.นครราชสีมา 100 ม.
สภาพทางธรณีวิทยา ของ จ.นครราชสีมา มีลักษณะเป็นที่ดอน ที่เนินสูง ที่โคก คุณสมบัติของดินส่วนใหญ่เป็นดินตะกอนทราย ที่กักเก็บน้ำไม่อยู่ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเลือกปลูก มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย และทนแล้งได้ดีมาก โดยมีพื้นที่เพาะปลูกทั่ว จ.นครราชสีมา 2 ล้านกว่าไร่ ซึ่งถ้าตั้ง สมมุติฐาน ในกรณีถ้าฝนตก ทั่ว จ.นครราชสีมา โดยสามารถวัดปริมาณน้ำฝน ได้ 100 มม./ชม . ถ้าคิดคำนวณจาก พื้นที่ 2 ล้านไร่ จะมีปริมาณน้ำฝน ทำให้เกิดมวลน้ำกว่า 320 ล้าน.ลูกบากศ์คิว ซึ่งมีความจุในการกักเก็บน้ำเทียบเท่ากับอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ถ้าเราสามารถนำน้ำจำนวนนี้ลงสู่ชั้นทรายได้ ก็จะสามารถ บรรเทาปัญหาน้ำท่วม ใน จ.นครราชสีมาได้
#แนวคิดของกลุ่มฯ จึงคิดเอาคุณสมบัติของดินใน จ.นครราชสีมา ที่กักเก็บน้ำไม่อยู่ มาเป็นตัวนำน้ำลงสู่ชั้นทราย และเก็บน้ำไว้ในชั้นทราย ที่มีความหนา 2-3 ม. ซึ่ง นายสมยศ พัดเกาะ ผู้นำเสนอได้แสดงผลทดสอบดิน กราฟแสดงชั้นดิน ที่ตนเองและกลุ่มฯได้ไปรวบรวมมาเพื่อ แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของ จังหวัดนครราชสีมา มีสภาพเป็นดินตะกอนทราย และชั้นทราย
ซึ่งถ้าเราสามารถนำน้ำลงชั้นทรายได้ก็จะมีประโยชน์ในการชะลอการไหลรวมตัวของมวลน้ำผิวดิน ที่จะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วม ที่เกิดจากน้ำฝน ตามพื้นที่รับน้ำ และตามลำน้ำสาขาต่างๆ จึงตั้งชื่อวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเรียกตามสภาพภูมิประเทศว่า วิธี “กระทะรั่ว”
วิธี”กระทะรั่ว” คือ วิธีการ #ที่จะนำน้ำผิวดินลงสู่ชั้นทราย แต่ปัญหาคือ ผิวหน้าของดิน ในไร่มัน ไร่อ้อยต่างๆ จะมีความหนาแน่น และถูกอัดแน่น จากล้อรถไถพรวนดิน จากล้อรถขนย้ายผลิตผลทางการเกษตร จนน้ำลงสู่ชั้นทรายไม่ได้ น้ำผิวดินที่เกิดจากน้ำฝน จึงไหลไปตามที่ลาดเอียง และไปรวมตัวกันจนเกิดสภาวะน้ำท่วมขังรอการระบาย
ดังนั้น วิธีกระทะรั่ว จึงเป็นการสร้างร่องแถบหิน โดยมีความลึกจากผิวดิน ประมาณ 1-1.5 ม. กว้าง 0.5-1 ม. ยาวขวางตลอด แนวที่ลาดเอียง โดยใช้แผ่นใยสังเคราะห์ ห่อ หินไว้ เพื่อป้องกัน ทรายเข้ามาอุดตัน ร่องหิน ซึ่งขนาดของแถบร่องหิน สามารถปรับเปลี่ยน ตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ
#บริเวณที่เหมาะจะทำ วิธี “กระทะรั่ว” วิธีนี้เหมาะสำหรับ ทำในที่ดอน เนิน หรือที่โคก จะเหมาะกว่าทำในที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่รับน้ำ เพราะที่ลุ่มต่ำ คุณสมบัติของดินจะพบว่า มีดินเหนียวปน ซึ่งเป็นดินที่มีความทึบน้ำกว่าดินทราย จึงไม่สามารถทำวิธีนี้ได้
#ความแตกต่างระหว่างการทำธนาคารน้ำใต้ดินและวิธีกระทะรั่ว
1. ธนาคารน้ำใต้ดินต้องมีการสำรวจชั้นหินที่สามารถจัดเก็บน้ำได้ ซึ่งอาจต้องมีความลึกมากกว่า 15 ม.
2. การทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในจังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ส่วนใหญ่ทำไม่ได้เพราะ การนำน้ำผิวดินซึ่งเป็นน้ำจืด ลงสู่น้ำใต้ดิน ซึ่งน้ำใต้ดินของจังหวัดนครราชสีมาส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็ม เพราะฉะนั้น หากนำน้ำจืดลงไป น้ำเค็มก็จะถูกดันขึ้นมา อาจทำให้ ดินบริเวณนั้นมีความเค็ม
3. การทำธนาคารน้ำใต้ดิน ส่วนใหญ่ทำในพื้นที่ที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่แหล่งรวมน้ำ
4. วิธี”กระทะรั่ว” แนะนำให้ทำบนพื้นที่ที่ เป็นโคก เป็นที่ดอน ที่เนินลาดเอียง จึงเป็นวิธีป้องกันเชิงรุก
5. วิธี “กระทะรั่ว” เป็นวิธีที่กักเก็บน้ำไว้ในชั้นตะกอนทราย นอกจากจะช่วยลดปริมาณน้ำผิวดินที่เกิดขึ้น ยังจะทำให้ ดินบริเวณนั้นมีความชุ่มชื้น ตลอดฤดูแล้ง
6. วิธี “กระทะรั่ว” สามารถตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่จะทำได้ง่าย เพียง แค่เวลาฝนตก ให้กางร่มแล้วเดินออกไปดูทิศทางการไหลของมวลน้ำในไร่มัน หรือไร่อ้อย เพื่อกำหนด ตำแหน่งที่จะทำ
#นำเสนอในรูปแบบโมเดลจำลอง
หลังจากบรรยายเสร็จ นายสมยศ พัดเกาะได้นำเสนอในรูปแบบของโมเดลจำลอง เพื่อทดสอบให้เห็นถึงหลักการทำงานของ วิธีกระทะรั่ว ว่าสามารถทำงานและใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมโคราชได้ ซึ่งได้นำน้ำที่จัดเตรียมมา เทลงไปในโมเดลจำลอง เพื่อแสดงให้เห็น ถึง ปริมาณน้ำที่เทลงไปบนพื้นที่ลาดเอียงจะทำให้เกิดการสะสมของมวลน้ำ และทำให้เกิดน้ำท่วม ในพื้นที่รับน้ำ แต่ถ้าป้องกันโดยวิธี”กระทะรั่ว” ในพื้นที่ลาดเอียง โดยการทำร่องหินขวางทางลาดเอียง และเทน้ำในปริมาณเท่าเดิม ผลปรากฏว่า ปริมาณน้ำที่เคยทำให้พื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมขัง กลับไม่มีน้ำท่วมขัง
นายสมยศ พัดเกาะ ผู้ประสานงานกลุ่มฯ ยังได้แสดงผลงาน ที่ตนเองได้มีโอกาสแก้ปัญหาน้ำท่วมในสถานที่ต่างๆ โดย ใช้ระบบ ลักษณะใกล้เคียงกันนี้ มาเพื่อเป็นตัวอย่างของวิธีการทำกระทะรั่ว ให้ที่ประชุมได้เห็น ว่า วิธีนี้สามารถช่วยลดปริมาณได้จริง เช่น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธุ์ และหมู่บ้านจัดสรรใน จังหวัดนครราชสีมา
#ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์” อธิการบดี มร.นม. ได้ตั้งข้อสังเกตุและคำถามขึ้นว่า ในเขต จ.นครราชสีมา บางพื้นที่ดินมีลักษณะคล้ายดินเหนียว จะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งนายสมยศ พัดเกาะ ได้ตอบว่า แนวทางการทำ วิธี”กระทะรั่ว” นี้เป็นวิธีป้องกันน้ำท่วมเชิงรุก คือ แนะนำให้ทำในที่เป็นโคก หรือที่เนินลาดเอียง ซึ่งส่วนใหญ่ คือ พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ และมีชั้นดินที่เป็นตะกอนทรายเพื่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ของพืชไร่ ส่วนในที่ลุ่มต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสภาพเป็นทรายปนดินเหนียว และดินก็มีลักษณะอิ่มน้ำ จึงไม่เหมาะที่จะทำในที่ลุ่มต่ำ
#เสนอการทำวิจัยร่วมเพื่อชาวโคราช
#ช่วงท้ายผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์” อธิการบดี มร.นม. ได้กล่าวขอบคุณที่ #กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้มานำเสนอ วิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช ซึ่งในส่วนของ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ก็มีพันธกิจ ที่บริการประชาชน และก็ยินดีที่จะร่วมมือกับ ทางกลุ่มฯ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับฟังวันนี้ ไปวางแผน เพื่อจัดสรรงบประมาณ เพื่อพลักดันโครงการนี้ให้เกิดผลเป็นรูปประธรรม โดยการลงมือทำบนพื้นที่จริง ซึ่งทั้งนี้ อาจต้องขอความร่วมมือ จากหน่วยอื่นๆ อีกหลายภาคส่วน รวมทั้งเอกชน เพื่อ ช่วยจัดสรรงบ ที่จะทำระบบ วิธี “กระทะรั่ว” นี้ ให้เป็นตัวอย่าง ในการแก้ไขน้ำท่วมโคราชต่อไป
#ก่อนปิดประชุม นายทวิสันต์ ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ได้นำเสนอว่า อยากให้ มหาวิทยาลัยราชภัฎ จัดเสวนาเรื่อง น้ำท่วมโคราช เพื่อจะได้เรียนเชิญ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจน หน่วยงานราชการต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจ ที่ทางกลุ่มฯได้ไปประสานปรึกษามาก่อนหน้านี้ เพื่อจะได้นำเสนอ วิธี แก้ปัญหาน้ำท่วม วิธี “กระทะรั่ว” นี้ให้เป็นที่ยอมรับและช่วยกันพิจารณา ร่วมกัน
ซึ่งก่อนปิดประชุม พล.อ. ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ ประธานกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ได้กล่าวขอบคุณ ที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่ได้เปิดโอกาส ให้ทางกลุ่มฯได้มานำเสนอข้อมูล และร่วมมือในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติในพื้นที่ร่วมกันต่อไป
ปิดประชุม เวลา 11.30 น.
ขอแสดงความขอบคุณจาก
กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม
24/08/2565
#ร่วมใจต้านภัยน้ำท่วมโคราช
#มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมาเห็นด้วยกับวิธี”กระทะรั่ว” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช
#กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม