สานต่อ “ไทย-ลาว” นายกสมาคมสื่อมวลชน พบกงสุลใหญ่สปป.ลาว

,

กงสุลใหญ่ สปป.ลาว ณ ขอนแก่น วอนสื่อไทยศึกษาระบบทุนโดยรัฐ เพื่อความเข้าใจถูกต้องโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เผย โควิดทำไทย-ลาวเป็นทองแผ่นเดียวกันพุ่งสูง ที่สถานกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว ถนนมิตรภาพ ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ นายกสมาคมสื่อมวลชน จ.ขอนแก่น พร้อมคณะกรรมการฯ ได้เข้าคารวะ นายสมบัติ เพ็งพระจัน กงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว ณ ขอนแก่น เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ และการประสานข้อมูลระหว่างกัน

ตอนหนึ่งท่านสมบัติ ได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนของ 2 ประเทศว่า สื่อไทยสะท้อนความเป็นจริง ขณะที่สื่อลาว แม้จะมีสื่อเอกชน สื่อดิจิทัล แต่สื่อรัฐ มีบทบาทสูง กว้างขวาง รับใช้ สนองนโยบายของรัฐ สื่อทั้ง 2 ประเทศ มีส่วนร่วมในการเชื่อมความสัมพันธ์อันดี เป็นสิ่งที่น่าชมเชย หวังเห็นการสานสัมพันธ์เป็นหลักให้ดียิ่งๆขึ้นไป

นอกจากความร่วมมือกันระดับชาติแล้ว ระดับภูมิภาคอย่างภาคอีสานของไทย ก็มีความร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างดี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งด้านวิชาการ และการรักษาพยาบาลผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งคนลาวป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีจำนวนมากเช่นเดียวกับคนอีสาน เพราะมีวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่คล้ายกัน

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ทำกำไรได้ดี ทุกเที่ยวเต็ม ต้องมีการเพิ่มเที่ยว ขบวนสินค้า ก็เต็มตลอด แต่ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาปกติเหมือนก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ภายใต้สถานการณ์ค่าเงินกีบอ่อน 1 บาท = 490 กีบ

ท่านสมบัติ ฝากถึงสื่อมวลชนไทยว่า อยากให้เข้าใจระบบการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ตนไม่ได้บอกว่า ไม่ถูก หรือติติง เพราะยืนอยู่บนมุมมองที่ซึมซับทุนผูกขาดข้ามชาติ ขณะที่ลาว เป็นระบบพิเศษ ที่เรียกว่า ทุนโดยรัฐ เป็นการร่วมกันพัฒนา ช่วยเหลือกันและกัน ของ 2 ประเทศตลอด 22 ปี จีนลงทุน 70% ลาว 30% โดยลาวจะได้รับการแบ่งปันผลกำไร 60% ขึ้นไป ไม่ถูกจีนเอาเปรียบอย่างที่เข้าใจกัน

ท่านสมบัติ ยังยกกรณีของอาลีบาบาของแจ็คหม่า ให้เข้าใจถึงการควบคุมทุนนิยมว่า จีนไม่ต้องการให้เติบโตมากเกินไป เพราะจะนำไปสู่การผูกขาดข้ามชาติ ซึ่งจะมีอำนาจ ทั้งในประเทศและระดับโลก จึงต้องมีขอบเขต

การเข้าไทยของคนลาว เป็นเรื่องค้าขายน้อย ส่วนใหญ่มาขายแรงงาน ในช่วงโควิด ยังพบว่า คนลาวแต่งงานกับคนไทยมากขึ้น ตัวเลขสะสมเร็วๆนี้ มีมากกว่า 2,000 คน แต่ 80% ไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยหลายคนได้สามีเป็นนายจ้าง

แสดงความคิดเห็น